คนไทยเจ๋งไม่แพ้ใคร ทีม KEETA ผ่านเข้ารอบการแข่งขันโครงการ Deep Space Food Challenge ของ NASA ต้องแข่งพัฒนาอาหารอวกาศให้นักบินอวกาศดำรงชีพได้ 3 ปี โดยไม่ต้องเติมเสบียงจากโลก
ภาพจาก NASA
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 เว็บไซต์ NASA ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NASA) ได้ประกาศผลทีมที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสำหรับนักบินอวกาศ Deep Space Food Challenge ซึ่งหนึ่งในนั้นมีทีม KEETA จากกรุงเทพฯ ประเทศไทย เป็น 1 ใน 10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบ
โดยโครงการ Deep Space Food Challenge เป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NASA) และองค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency) โดยมีโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารที่เพียงพอ ที่จะให้นักบินอวกาศ 4 คน ดำรงชีพในอวกาศได้ 3 ปี โดยไม่ต้องเติมเสบียงจากโลก และผลิตอาหารให้ได้มากที่สุดด้วยวัตถุดิบและการเกิดของเสียน้อยที่สุด สร้างสรรค์อาหารที่อร่อย หลากหลาย มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยที่นักบินอวกาศใช้เวลาเตรียมอาหารน้อยที่สุด
ภาพจาก deepspacefoodchallenge.org
ซึ่งทีม KEETA ได้ใช้ประโยชน์จากแมลงที่มีสัดส่วนโปรตีนสูง ผสมกับเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาสร้างระบบผลิตอาหารที่มีรูปลักษณ์และคุณสมบัติตามต้องการ แนวคิดนี้ถูกใจคณะกรรมการจนสามารถผ่านเข้ารอบการแข่งขันเฟสแรกได้สำเร็จ
- นางสาวนภัสธนันท์ พรพิมลโชค นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นายประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง นักศึกษาปริญญาเอก KTH Royal Institute of Technology ประเทศสวีเดน
- นายสิทธิพล คูเสริมมิตร นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นายวัชรินทร์ อันเวช นักศึกษาปริญญาโทชีวเคมีการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล ม.มหิดล
- ดร.วเรศ จันทร์เจริญ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
โฉมหน้าของสมาชิกทีม KEETA
ขอบคุณข้อมูลจาก NASA, TNN, กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand, deepspacefoodchallenge.org