x close

2 ราชสกุลรังสิต ชนะคดีชิงมรดก 66,000 ล้าน มหาราชอินเดีย ครองพระราชวังชัยมาฮาล


            มหากาพย์ชิงมรดกหมื่นล้านจบแล้ว หลังศาลฎีกาของอินเดีย พิพากษาให้ น.ส.ลลิตยา ซิงห์และนายเทพราช ซิงห์ 2 พี่น้อง ลูกของ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ได้รับเป็นทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย และล่าสุดได้กรรมสิทธิ์ เป็นผู้ครองพระราชวังชัยมาฮาลของอินเดีย ที่ปัจจุบันกลายเป็นโรงแรม 5 ดาว

ลลิตยา - เทพราช ซิงห์

            วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เว็บไซต์ hindustantimes รายงานว่า ศาลสูงในกรุงนิวเดลี มีคำพิพากษาให้  น.ส.ลลิตยา ซิงห์และนายเทพราช ซิงห์ 2 พี่น้องลูกของ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ชนะคดีชิงมรดกกว่าหมื่นล้าน โดยให้ น.ส.ลลิตยาและนายเทพราช เป็นทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย และยกเลิกคำคัดค้านที่บอกว่า ลูกเลี้ยง 2 คนของมหารานี คยาตรี เทวี มหาราชินีแห่งเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย มีส่วนในกองมรดกด้วย

พระราชวังชัยมาฮาล
ภาพจาก Tajhotels

ย้อนรอยจุดเริ่มต้นของเรื่อง ทายาทราชสกุลของไทย เข้าไปมีส่วนกับมหาราชาของอินเดียได้อย่างไร


            เรื่องนี้เริ่มจากการที่ มหารานี คยาตรี เทวี สาวสังคมชั้นสูงของอินเดีย ได้สมรสกับมหาราชา สวัย มัน ซิงห์ ที่ 2 เจ้าชายและผู้ครองนครชัยปุระในอินเดีย ซึ่งทั้ง 2 คนได้มีลูกคือชายเพียงคนเดียวคือเจ้าชาย จักกัต ซิงห์ ต่อมาเจ้าชายจักกัต ได้พบกับ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ขณะที่ทั้งคู่ศึกษาอยู่ที่อังกฤษ ทั้งสองคนคบหาดูใจและแต่งงานกัน จนมีลูก 2 คนคือ น.ส.ลลิตยา ซิงห์และนายเทพราช ซิงห์

            ต่อมา ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ได้หย่าร้างกับ เจ้าชาย จักกัต ซิงห์ และได้พาลูกทั้ง 2 คนมาอยู่ที่เมืองไทย จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2540 เจ้าชายจักกัต ซิงห์ ได้เสียชีวิต และในพินัยกรรมได้ระบุว่า ให้มหารานี คยาตรี เทวี เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้าชายจักกัต

เทพราช ซิงห์

ดราม่าศึกชิงมรดก เมื่อลูก 2 คนโดนตัดออกจากกองมรดก จัดการฟ้องร้องคุณย่า ก่อนชนะคดี


            ภายหลังการเสียชีวิตของเจ้าชายจักกัต ซิงห์ มหารานี คยาตรี เทวี ได้มอบอำนาจให้การจัดการมรดกของเจ้าชายจักกัต ให้แก่คณะกรรมการบริหารบริษัทราม-บักห์ พาเลซ โฮเต็ล พีวีที จำกัด และตัด ลลิตยาและเทพราช ลูกแท้ ๆ ของเจ้าชายออกจากกองมรดก จนทำให้ทั้งสองคนต้องเข้าไปทวงถามถึงส่วนแบ่งในกิจการของตระกูล อันรวมไปถึงวังในเมืองชัยปุระที่ต่อมาถูกแปรสภาพเป็นโรงแรมหรู โดยสิทธินี้ถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรม จนกระทั่งปี 2558 ศาลอินเดียได้มีคำพิพากษาให้ลลิตยาและเทพราช ชนะคดี และได้มีส่วนในกองมรดกนับหมื่นล้าน ซึ่งเรื่องนี้ใช้เวลาฟ้องร้องกันเกือบ 10 ปี

ลลิตยา - เทพราช ซิงห์

การเสียชีวิตของย่า นำมาสู่อีกคดี เมื่อลูกเลี้ยงของคุณย่าอ้าง 2 พี่น้องโดนพ่อตัดขาดไปแล้ว


            จากนั้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2009 มหารานี คยาตรี เทวี ได้เสียชีวิตลง ทางลลิตยาและเทพราช ได้กล่าวต่อศาลสูงในอินเดียว่า มหารานี คยาตรี เทวี ได้ให้ทั้ง 2 คนเป็นผู้จัดการมรดก แต่ต่อมานายปริตทวี ราช ซิงห์ และนายใจ ซิงห์ ลูกที่เกิดจากภรรยาคนที่สองของมหาราชา สวัย มัน ซิงห์ ที่ 2 และนับเป็นลูกเลี้ยงของมหารานี คยาตรี เทวี ได้ยื่นคัดค้านและขอมีส่วนแบ่งในกองมรดกมหารานี คยาตรี เทวีด้วย

            ลลิตยาและเทพราช อ้างว่า ทั้ง 2 คนเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ในกองมรดกของมหารานี คยาตรี เทวีเท่านั้น เนื่องจากทั้งสองคนเป็นลูกของเจ้าชาย จักกัต สิงห์ และตรงกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการสืบสมบัติฮินดู ค.ศ. 1956 ทั้งสองคนยังกล่าวอีกว่า นายปริตทวี ราช ซิงห์ และนายใจ ซิงห์ เป็นลูกของภรรยาอีกคนของมหาราชา สวัย มัน ซิงห์ และไม่สามารถนับได้ว่าเป็นทายาทโดยตรงของมหารานี คยาตรี เทวี

            ในขณะเดียวกัน นายปริตทวี ราช ซิงห์และนายใจ ซิงห์ ได้หยิบยกเอาหลักฐานพินัยกรรมของเจ้าชาย จักกัต สิงห์ ที่ระบุว่า ให้ตัดลูกทั้ง 2 คนออกจากกองมรดก และแม้ว่าทั้ง ลลิตยาและเทพราช จะเป็นหลานย่า และลูกของเจ้าชาย จักกัต สิงห์ โดยตรง แต่ว่าทั้งสองคนก็ไม่ควรมีส่วนในกองมรดกเพราะว่าถูกพ่อตัดขาดไปแล้ว

            อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีตรวจพิจารณาคำร้องและตัดสินว่า ลลิตยาและเทพราช ให้ถือเป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายของมหารานี คยาตรี เทวี และยึดถือต่อคำตัดสินของศาลฎีกาในคดีก่อน ๆ ที่อ้างว่า ลูกเลี้ยงไม่ได้มีฐานะเท่าลูกหลานที่เป็นทายาทโดยตรง

            ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายน ปี 2015 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ที่ให้โอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งของคยาตรี เทวีไปให้กับ ลลิตยาและเทพราช

พระราชวังชัยมาฮาล
ภาพจาก Tajhotels

จบปัญหายืดเยื้อ แบ่งพระราชวัง 2 แห่งที่กลายเป็นโรงแรม 5 ดาว จบปัญหากองมรดก 66,000 ล้าน


            ด้านแคชเมียร์ ออบเซอร์เวอร์ รายงานว่า ปัญหาเรื่องการแบ่งสมบัติของตระกูลนี้ก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อพบว่ากองมรดกนั้นมีมูลค่ากว่า 66,000 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการเสียชีวิตของเจ้าชาย จักกัต ซิงห์ พระราชวังชัยมาฮาลถูกส่งต่อให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายปริตทวี ราช ซิงห์ คู่ความในคดีก่อน และนำไปสู่การฟ้องร้องกันวุ่นวาย จนกระทั่งได้นายกุไรอัน โจเซฟ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยในคดีนี้

            โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ทางลลิตยาและเทพราช หลานสายตรงของมหารานี คยาตรี เทวี ได้ตกลงเรื่องสมบัติกับเครือญาติ และจบที่ทั้งลลิตยาและเทพราช ได้มีกรรมสิทธิ์เหนือพระราชวังชัยมาฮาล และเพิกถอนสิทธิ์นายปริตทวีที่มีต่อพระราชวังชัยมาฮาล แต่ในส่วนของพระราชวังรามบักห์นั้น ได้มอบกรรมสิทธิ์ให้นายใจ ซิงห์ และทางลลิตยาและเทพราช จะมีการชดเชยจากหุ้นส่วนในพระราชวังรามบักห์ด้วย

            ในขณะนี้ พระราชวังทั้ง 2 แห่งถูกแปลงสภาพเป็นโรงแรม 5 ดาว และคู่ความทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
2 ราชสกุลรังสิต ชนะคดีชิงมรดก 66,000 ล้าน มหาราชอินเดีย ครองพระราชวังชัยมาฮาล อัปเดตล่าสุด 24 ธันวาคม 2564 เวลา 15:22:22 94,003 อ่าน
TOP