เพจดังไขปมดราม่า กัมพูชาใส่ชุดไทย ที่โดนเคลมสะกดจิตหมู่ว่าเป็นชุดเขมร

 

          เพจดังชี้ กรณีกัมพูชาใส่ชุดไทย แล้วไปเคลมกันเองว่าเป็นชุดเขมร เป็นหนึ่งในเครื่องมือหาเสียงช่วงเลือกตั้ง ตั้งข้อสังเกตกัมพูชาตอนนี้อาจอยู่ในสภาวะการหลอมรวมหรือกลืนกลายทางวัฒนธรรม


          จากกรณีมีคนแห่ใส่ชุดไทยในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการเคลมกันไปว่าเป็นชุดแต่งกายของกัมพูชา ก่อนจะเริ่มมีเสียงเรียกร้องไปยังเจ้าของร้านเช่าชุดว่า ควรใส่ชุดแบบโบราณดั้งเดิมให้เหมาะสมตามวัฒนธรรมและประเพณีของเขมรโบราณ รวมถึงความพยายามแต่งชุดไทยห่มสไบเป็นลายธงชาติกัมพูชาของประชาชน ก็เริ่มมีชาวกัมพูชาหลายคนตั้งคำถามว่า เหมาะสมแล้วหรือ ? ซึ่งต่อมาก็ถูกกระทรวงวัฒนธรรมของกัมพูชา (APSARA National Authority) ออกมาเตือนว่า ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำธงชาติกัมพูชามาทำเป็นชุดแต่งกาย

          ล่าสุด (10 มีนาคม 2565) เฟซบุ๊ก โบราณนานมา มีการโพสต์ข้อความจั่วหัวว่าด้วยเรื่อง "ชุดไทยที่โดนสะกดจิตหมู่ว่าเป็นชุดเขมร" ระบุว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเห็นได้จากช่วงเลือกตั้งของประเทศกัมพูชา เมื่อถึงคราวเลือกตั้งก็จะมีการปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่คนกัมพูชาให้เกลียดชังประเทศไทย กล่าวหาว่าไทยไปขโมยวัฒนธรรม พวกสยามเป็นพวกขี้ขโมย โขนเป็นของพวกเรา ฯลฯ เป็นที่น่าเศร้าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็จะมีคนคล้อยตามเป็นส่วนใหญ่

จุดเริ่มต้นที่วัฒนธรรมไทยเข้าไปมีอิทธิพลในกัมพูชา


          วัฒนธรรม, การแต่งกาย, ภาษา, การกิน, การอยู่ ฯลฯ ของไทย น่าจะเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลในกัมพูชาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในสมัยก่อนจะมีประเพณีหนึ่ง คือ การชุบเลี้ยงดูองค์รัชทายาทเขมรเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ในฐานะลูกเจ้าเมืองประเทศราช (เมืองขึ้น) ซึ่งเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ เพื่อมิให้เขมรเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อสยามเหตุการณ์และประเพณีนี้เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4 รวมเวลาทั้งสิ้น 73 ปี

เหตุผลที่วัฒนธรรมไทยและกัมพูชาคล้ายคลึงกัน


          กษัตริย์กัมพูชาทุกพระองค์ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ไปจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ยกเว้นสมเด็จพระนางเจ้ามี) ล้วนเคยได้รับการศึกษาในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า "ในราชสำนักกรุงกัมพูชาคั้งแผ่นดินสมเด็จพระนโรดมนั้นใช้ภาษาไทยเป็นพื้น เพราะเมื่อครั้งนสมเด็จพระนโรดมตรัสแต่ภาษาไทย ถึงกล่าวกันว่าตรัสภาษาเขมรมิใคร่คล่อง" นั่นจึงเป็นที่มาของความคล้ายคลึงวัฒนธรรมกัมพูชา (ปัจจุบัน) กับวัฒนธรรมไทยเอามาก ๆ

          แม้แต่สมเด็จพระเรียม นโรดม บุปผาเทวี ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีต่างพระมารดาในกษัตริย์ รัชกาลปัจจุบัน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และเป็นพระราชธิดาในกษัตริย์รัชกาลก่อน พระองค์ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับทาง Khmer Dance Project คือ โครงการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะการแสดงของเขมรซึ่งมี New York Public Library ให้การสนับสนุน ระบุว่า...

          "ตั้งแต่ยุคนักองค์ด้วง กษัตริย์นโรดม และกษัตริย์สีสุวัตถิ์ อิทธิพลจากไทยมีสูงมาก เพราะเราขาดแคลนครู ครูจากไทยเดินทางมาถึงราชสำนักเขมร บางทีครูเขมรก็ไปที่ราชสำนักไทย นี่เป็นช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างราชสำนักไทยและราชสำนักเขมร มันคือการผสมผสานอย่างแท้จริง"

          ทางฝ่ายกัมพูชาได้รับความรู้จากครูไทยแล้วก็นำไปประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของตัวเอง หลังจากนั้นระบำของราชสำนักเขมรกับราชสำนักไทยก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน ในสมัยกษัตริย์สีสุวัตถิ์ ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ของไทย เครื่องแต่งกายของนางรำก็ยังเป็นแบบไทยอยู่ ก่อนที่ทางคณะละครของกัมพูชาจะดัดแปลงให้เป็นแบบของกัมพูชาเอง จึงไม่แปลกที่การแสดงเรื่องรามายณะดัดแปลงฉบับกัมพูชาจะมาคล้ายคลึงกับ "โขน" ของไทย และนี่ก็เป็นหลักฐานของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของสองราชสำนักที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ

ปลุกกระแสชาตินิยม ?


กัมพูชาตอนนี้อาจอยู่ในสภาวะ "การหลอมรวมหรือกลืนกลายทางวัฒนธรรม"


          สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการสูญหายไปของวัฒนธรรมเขมรแบบดั้งเดิม ที่ผ่านมากัมพูชาถือวัฒนธรรมอินเดียเป็นวัฒนธรรมครูเหมือนไทยและลาว แต่กัมพูชาก็ไม่ยอมรับวัฒนธรรมความเชื่อแบบเวียดนามที่มาจากจีน ดังนั้น กัมพูชาจะคุ้นเคยทางวัฒนธรรมกับไทยและลาวมากกว่า เพราะภูมิศาสตร์ของประเทศกัมพูชาล้อมไปด้วยเผ่าไท (กลุ่มตระกูลไท-กะได) กัมพูชาตอนนี้จึงอาจจะอยู่ในสภาวะการหลอมรวมหรือกลืนกลายทางวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็กำลังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เช่น คนกัมพูชาเริ่มรู้ภาษาไทยมากขึ้น ภาษาเขมรเริ่มมีเสียงวรรณยุกต์ ศัพท์ไทยบางคำก็เริ่มจะแทรกซึมเข้าไปในภาษาเขมรมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการแต่งกายเริ่มคล้ายไทย รสนิยมการกินการใช้ อาหาร ฯลฯ เริ่มเหมือนไทย

          ทางประเทศไทยนั้นรู้จักว่าอะไรเป็นศิลปะของสยาม อะไรเป็นศิลปะของขอม ศิลปะของของเขมร แต่ในเมื่อกัมพูชาไม่รู้ จึงแยกแยะไม่ได้ เมื่อแยกแยะไม่ได้จึงรับวัฒนธรรมไทยเข้าไปเต็ม ๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก โบราณนานมา


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพจดังไขปมดราม่า กัมพูชาใส่ชุดไทย ที่โดนเคลมสะกดจิตหมู่ว่าเป็นชุดเขมร อัปเดตล่าสุด 10 มีนาคม 2565 เวลา 22:28:50 37,040 อ่าน
TOP
x close