จากใจคนญี่ปุ่น ความในใจต่อเหตุลอบยิง ชินโซ อาเบะ กระสุนที่ทำลาย ไม่ใช่แค่ชีวิต

         อ.ฮาร่า ชินทาโร่ โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุลอบสังหาร ชินโซ อาเบะ เผยความรู้สึกแม้เป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่เคยสนับสนุน ชี้การกระทำนี้ไม่ใช่แค่ทำลายชีวิตนักการเมือง แต่เป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยด้วย

ชินโซ อาเบะ
ภาพจาก KAZUHIRO NOGI / AFP

         เป็นข่าวช็อกโลก สำหรับเหตุการณ์ นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น ถูกคนร้ายลอบยิงจากทางด้านหลัง ขณะยืนกล่าวปราศรัยช่วยลูกพรรคหาเสียง ในพื้นที่จังหวัดนารา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เมื่อช่วงสายวานนี้ (8 กรกฎาคม 2565) ซึ่งหลังก่อเหตุเจ้าหน้าที่ก็สามารถจับกุมตัวมือปืนได้ทันที คือ เท็ตสึยะ ยามากามิ อายุ 41 ปี เป็นอดีตเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างสอบสวน ตามที่มีรายงานไปแล้วนั้น

         อ่านข่าว : ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เสียชีวิตแล้ว เหตุลอบสังหาร ไล่เรียงเหตุการณ์ เกิดอะไรขึ้น

         อ่านข่าว : เปิดปมลอบสังหาร ชินโซ อาเบะ มือปืนรับตั้งใจฆ่า เชื่อมีเอี่ยวองค์กรที่แค้นเคือง

ชินโซ อาเบะ

         ในวันเดียวกัน นายฮาร่า ชินทาโร่ อาจารย์สอนวิชาภาษามลายูที่ประเทศไทย ได้มีการโพสต์ข้อความกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ ผ่านเฟซบุ๊ก Hara Shintaro ระบุว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นพลเมืองญี่ปุ่นที่ไม่เคยสนับสนุน นายชินโซ อาเบะ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตนรู้สึกดีใจ หรือสะใจแม้แต่หน่อย เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำลายแค่นายชินโซ แต่ทำลายพื้นฐานของประชาธิปไตยด้วย ถึงแม้นายชินโซจะเป็นนักการเมืองที่ไม่น่าสนับสนุนสำหรับตน แต่อย่างน้อยนายชินโซก็เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เล่นการเมืองภายในกติกาที่ปราศจากการใช้ความรุนแรง ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการก่อรัฐประหาร หรือการใช้อาวุธปืน เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง จึงขอประณามผู้ก่อเหตุ และขอแสดงความเสียใจจากใจต่อการจากไปของนายชินโซ นักการเมืองที่เล่นการเมืองในกรอบของประชาธิปไตย

         โดยอาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่ กล่าวว่า ตนไม่เคยคิดจะสนับสนุนนายชินโซ อาเบะ ในฐานะเป็นนักการเมืองตามสาเหตุบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่นำโดยรัฐบาลของท่านที่ปล่อยความเหลือมล้ำทางเศรษฐกิจ ความพยายามของท่านที่จะแก้ไขมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมาตราที่ห้ามรัฐบาลประกาศสงคราม และไม่สามารถมีกองกำลังได้นอกเหนือจากเป้าหมายเพื่อป้องการตัวเอง อันเป็นเหตุให้กองกำลังติดอาวุธของญี่ปุ่นเรียกว่า "กองกำลังป้องกันต้นเอง" และความไม่โปรงใส พูดง่าย ๆ คือคอรัปชั่น ของรัฐบาลของท่านรวมถึงตัวท่านเองและภรรยาด้วย

         ตนมีความเห็นเช่นนี้เพราะนิยมรัฐสวัสดิการ แบบประเทศแถวสแกนดิเนเวีย รักในหลักการของมาตราที่ 9 ของรัฐธรรมนูญ และถือว่าความโปรงใสเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของนักการเมือง จะว่าเป็นนักอุดมคติก็ช่างมัน ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าท่านได้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน กันยายน 2563 แต่การออกจากตำแหน่งก็เกิดจากปัญหาภายในพรรคเสรีประชาธิปไตยของท่าน ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน ตนก็ไม่รู้สึกดีใจอะไร เพราะพรรคการเมืองของท่านยังอยู่ในอำนาจ และท่านก็สามารถรักษาอิทธิพลของท่านภายในพรรคได้ด้วย

         แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (8 กรกฎาคม 2565) ไม่ได้ทำให้ตนรู้สึกดีใจหรือสะใจแม้แต่หน่อย เพราะกระสุนที่ทำลายท่านไม่ได้ทำลายท่านอย่างเดียว แต่ทำลายพื้นฐานของประชาธิปไตยต่างหาก ถึงแม้ว่า ท่านเป็นนักการเมืองที่ไม่น่าสนับสนุนสำหรับตน แต่ประชาชนญี่ปุ่นที่ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งก็ยังสนับสนุนท่าน อย่างน้องท่านก็เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เล่นการเมืองภายในกติกาที่ปราศจากการใช้ความรุนแรง ท่านไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการก่อรัฐประหารหรือการใช้อาวุธปืน แต่ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ซึ่งหน่วยงาน เช่น กกต. ญี่ปุ่น ก็ไม่มีอำนาจที่จะแทรกแซงอะไร ด้วยเหตุนี้ตนเชื่อมั่นว่า หากต้องการขับไล่ท่านออกจากโครงสร้างอำนาจก็จำเป็นต้องใช้วิถีแห่งประชาธิปไตยอย่างเดียว แต่ถ้าสมมุติว่าสิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น หมายถึงพรรคเสรีประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้งนั้นและรอการเลือกตั้งครั้งต่อไป (เป็นช่วงเวลาสำหรับฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้งปรับปรุงจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของตนเอง)


         ทั้งนี้ ตนเองมั่นใจว่าประชาชนญี่ปุ่นที่มีสติปัญญาปกติ ไม่มีใครที่รู้สึกดีใจหรือสะใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ว่าในอินเตอร์เน็ตจะมีความเห็นของพวกสุดโต่งหรือปัญญาอ่อนบางคนที่แสดงความดีใจก็ตาม แต่พวกนี้เป็นส่วนน้อยมาก แม้แต่สำหรับพลเมืองที่ไม่สนับสนุนหรือไม่เห็นด้วยกับท่านก็ตาม เพราะเวทีการต่อสู้สำหรับเรา ประชาชนของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยคือเวทีทางการเมือง ไม่ใช่การใช้ความรุนแรงเพื่อทำลายนักการเมืองหรือปล้นอำนาจทางการเมือง

         อาจารย์ฮาร่า ทิ้งท้ายว่า สำหรับแรงจูงใจของมือปืน ไม่น่าจะไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางการเมือง เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ไม่ใช่การทำลายตัวนายชินโซ อาเบะเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นความพยายามอันร้ายกาจที่จะทำลายหลักการของประชาธิปไตย การใช้ความรุนแรงเพื่อปฏิเสธความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไปจากตัวเองนั้นก็เท่ากับความเป็นปรปักษ์ต่อหลักการประชาธิปไตยนั่งเอง และการใช้ความรุนแรงลักษณะนี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหา (เหี้ย) อะไร แต่กลับสร้างปัญหาใหม่ให้ทับซ้อนมากขึ้นอย่างเดียว

         ตนเองขอประณามอาชญากรที่มุ่งหมายจะทำลายหลักการประชาธิปไตยตัวนั้นอย่างรุนแรงที่สุด และขอแสดงความเสียใจจากใจต่อการจากไปของนักการเมืองท่านหนึ่งในเหตุการณ์อันรายกาจเหลือเกิน เนื่องจากว่าท่านก็เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เล่นการเมืองในกรอบของประชาธิปไตย

ชินโซ อาเบะ

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Hara Shintaro



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จากใจคนญี่ปุ่น ความในใจต่อเหตุลอบยิง ชินโซ อาเบะ กระสุนที่ทำลาย ไม่ใช่แค่ชีวิต โพสต์เมื่อ 9 กรกฎาคม 2565 เวลา 14:49:21 27,353 อ่าน
TOP
x close