เปิดเบื้องหลัง Johnson & Johnson ยกเลิกขายแป้งเด็กที่ทำจากแร่ทัลก์ทั่วโลก หลังโดนฟ้องร้องยุ่งเหยิง จ่อยกเลิกการผลิตในปีหน้า หันมาใช้แป้งข้าวโพดแทน
ภาพจาก jarabee123 / Shutterstock.com
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2565 สำนักข่าวบีบีซี และเว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานว่า บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) จะดำเนินการหยุดการผลิตและจำหน่ายฝุ่นแป้งโรยตัวเด็กทั่วโลก ซึ่งเป็นชนิดที่ทำจากแร่ทัลก์ โดยเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป นับเป็นเวลานานกว่า 2 ปี จากก่อนหน้านี้ที่ทางบริษัทได้ยุติการขายผลิตภัณฑ์นี้ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
ตามรายงานเผยว่า ทางบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เผชิญกับการฟ้องร้องมากกว่าหลายหมื่นคดีจากผู้หญิงหลายราย (ประมาณ 38,000 คดี) ซึ่งได้กล่าวหาว่า แป้งจอห์นสันมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน อันส่งผลให้เกิดมะเร็งรังไข่ ในขณะที่ทางบริษัทได้ยืนยันด้วยผลการวิจัยมากมายตลอดกว่าสิบปี ชี้ให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปราศจากแร่ใยหิน และมีความปลอดภัยต่อการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดด้วยเหตุผลในเชิงพาณิชย์ ทางบริษัทได้ตัดสินใจที่จะยุติผลิตและจำหน่ายแป้งเด็กที่ทำจากแร่ทัลก์ (Talc) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติ มีคุณสมบัติในการช่วยดูดซับความชื้น เพื่อเปลี่ยนไปใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากจากแป้งข้าวโพดทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ
ในขณะเดียวกัน แม้จะมีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยังคงยืนยันว่า แป้งเด็กจอห์นสัน ที่ผลิตจากแร่ทัลก์ ปลอดภัยอยู่เสมอ
"จุดยืนในเรื่องความปลอดภัยของแป้งของเรา ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เรายืนหยัดมานานกว่าทศวรรษ ด้วยผลการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นอิสระ โดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทั่วโลก ที่ยืนยันว่าแป้งเด็กของจอห์นสันส์ที่ผลิตจากแร่ทัลก์ ปลอดภัย ไม่มีแร่ใยหิน และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง" แถลงการณ์ของบริษัท ระบุ
สำหรับแป้งเด็กจอห์นสัน จัดจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2437 รวมเป็นเวลานานเกือบ 130 ปี และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท แสดงถึงภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับครอบครัว โดยถูกจัดวางเป็นสินค้าหลักในแผนกผลิตภัณฑ์สำหรับทารก
ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก BBC, CNBC, Reuters