จับกุม 2 เจ้าหน้าที่รัฐ คนหนึ่งเป็นตำรวจ คนหนึ่งเป็นข้าราชการ เข้าไปดูข้อมูลทะเบียนราษฎร - ข้อมูลธุรกิจการค้า เลือกมาเหยื่อรวย ๆ พบได้ข้อมูลละ 20,000 รับอู้ฟู่เบาะ ๆ เดือนละ 6 แสนบาท
วันที่ 28 ตุลาคม 2565 กรุงเทพธุรกิจ และ เรื่องเด่นเย็นนี้ รายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) นำโดย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ได้แถลงข่าวถึงกรณีที่ตรวจพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขายข้อมูลของประชาชนให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ทั้งนี้ ทางตำรวจได้จัดปฏิบัติการเด็ดปีกมังกร เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 และสามารถจับผู้ต้องหาได้ 16 ราย โดยเป็นผู้ที่เปิดบัญชีม้า 8 ราย, ผู้ที่รวบรวมบัญชีม้าและส่งให้นายทุนจีน 1 ราย, ผู้รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้หลอกลวง 2 ราย
โดยพบว่า ผู้รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้หลอกลวง 2 รายนั้น เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และเมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินก็พบอีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 2 คน ได้รับเงินโอนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าทำมานานแล้ว อีกทั้งยังพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 2 คน สามารถเข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้ มีข้อมูลที่ถูกนำไปขายแล้วกว่า 1,000 ข้อมูล
ทั้งนี้ รายได้ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้จากการขายข้อมูลคือ
วันละ 20,000 บาท หรือเดือนละ 600,000 บาท
และทางธนาคารพบความเคลื่อนไหวของบัญชีม้าเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่รัฐ 2
คนนี้ จึงมีการประสานตำรวจให้ตรวจสอบ
ภาพจาก เรื่องเด่นเย็นนี้
เปิดตัวเจ้าหน้าที่ขายข้อมูลทะเบียนราษฎร เข้าไปส่องนับครั้งไม่ถ้วน - เลือกเหยื่อจากความรวย
เจ้าหน้าที่รัฐคนแรก คือตำรวจยศ พ.ต.ท. ที่ สภ.อ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมักจะเข้ารหัสไปดูข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้เสียหาย เข้าไปดูประวัตินับครั้งไม่ถ้วน โดยหากแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทร. หาเหยื่อ แต่เหยื่อสงสัย และมองว่าไม่น่าจะจบง่าย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะติดต่อไปที่ พ.ต.ท. คนนี้ว่าให้ไปหาข้อมูลทะเบียนราษฎรมา และส่งให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกครั้ง ซึ่งตำรวจท่านนี้ส่งข้อมูลให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่น้อยกว่า 1,500-1,600 รายชื่อในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เบื้องต้นแจ้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกง, เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เจ้าหน้าที่รัฐคนที่ 2 คน เจ้าหน้าที่หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปล้วงข้อมูลการจดทะเบียนการค้าหรือตราธุรกิจไปให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจะเลือกเหยื่อที่รวย มีเงินจดทะเบียนทางธุรกิจจำนวนมาก ค่าขายข้อมูลคือครั้งละ 20,000 บาท เดือนละ 600,000 บาท และตอนนี้ตำรวจกำลังขยายผลไปยังพนักงานธนาคาร
พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่จับได้ เพราะเวลากรอกข้อมูลต้องใส่รหัสไอดีการ์ด และรหัสนี้จะไปขึ้นที่กรมการปกครองว่าใครกดดูข้อมูล สมมุติว่ามีนายตำรวจ ก. กดดูข้อมูลของนายเอ และข้อมูลของนายเอไปอยู่ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะรู้หมดว่านายเอมีบริษัทเท่าไร จดทะเบียนเท่าไร และยิ่งคนอายุมาก ๆ ก็ยิ่งหลอกง่าย การทำแบบนี้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
เปิดตัวผู้เสียหายที่นำไปสู่การจับกุมในครั้งนี้ พบแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีข้อมูลทางธุรกิจ เชื่อสนิทใจ
ผู้เสียหายรายล่าสุดที่โดนนั้นเป็นหมอ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะปลอมเว็บไซต์ดีเอสไอ และโทร. แจ้งผู้เสียหายว่าทำความผิดคดีอาญา ต้องถูกตรวจสอบเงินในบัญชี จากนั้นก็จะส่งหมายจับปลอมที่มีใบหน้าของผู้เสียหาย และข้อมูลทางธุรกิจไปให้ดู เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ ก็โอนเงินกว่า 6,970,000 บาทไปให้ จนมารู้ภายหลังว่าถูกหลอก และแจ้งความออนไลน์ไว้ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2565
ทั้งนี้ ทางตำรวจพบว่า หลังจากที่คุณหมอท่านนี้โอนเงินไปให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว เงินก็กระจายต่อกันไปเรื่อย ๆ จนสาวไปถึงว่าเงินจำนวนหนึ่งไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐรายที่ 1 ซึ่งเป็นตำรวจยศ พ.ต.ท. และ เจ้าหน้าที่รัฐคนที่ 2 ที่เป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์
ภาพจาก เรื่องเด่นเย็นนี้