x close

จัดกระดูกคอจนกระดูกหัก หมอนรองกระดูกปลิ้น จบที่อัมพาตทั้งร่าง เตือนชาวออฟฟิศซินโดรม


          เพจนักกายภาพบำบัด เผยข้อมูลเตือนคนชอบ "จัดกระดูกคอ" ส่งผลร้ายแรงกว่าที่คิด หลังเจอเคสผู้ป่วย กระดูกสันหลังฉีก เลือดออกในเยื่อหุ้มประสาท กระดูกหัก แถมอ่อนแรงแบบอัมพาตทั้งตัว !

เตือนภัยสุขภาพ จัดกระดูกคออัมพาตทั้งตัว

          กลายเป็นเรื่องราวเตือนใจสำหรับชาวออฟฟิศซินโดรม ที่หันไปพึ่งการจัดกระดูกคอเพื่อรักษาอาการปวดบริเวณคอ บ่า ไหล่ หลายคนหายจากอาการปวด แต่ก็มีบางคนไม่ได้โชคดี ซ้ำร้ายนำพาผลข้างเคียงที่อันตรายรุนแรงเกี่ยวกับสุขภาพมาด้วย


          เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 เฟซบุ๊ก PT NOTE - บันทึกกายภาพบำบัด ของ กภ. สิวลักษณ์ ศรีกระจ่าง หรือ อ.เปล ได้แชร์ข้อมูลเคสผู้ป่วยคนหนึ่งในต่างประเทศ อายุ 48 ปี ที่ได้รับผลอันตรายร้ายแรง...จากการจัดกระดูกคอ !

          รายละเอียดเผยว่า เคสผู้ป่วยรายนี้ ได้ถูกรายงานในวารสารทางประสาทวิทยา Neurology วารสารระดับ Q1 impact factor 12.258 ซึ่งถือเป็นวารสารที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก

          ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุ 48 ปี มีอาการปวดคอเรื้อรัง มาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนแรงร่างกายทั่วตัวและปวดคออย่างเฉียบพลัน หลังรับการจัดกระดูก (chiropractic manipulation) ผลการตรวจ x-ray และ MRI พบว่า...


          - กระดูกคอส่วน C5-C6 หัก

          - มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้เกิดการอ่อนแรงแบบอัมพาตทั้งตัว

          - พบการตีบของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองทั้งสองข้าง

          - พบการปลิ้นของหมอนรองกระดูก
    
          - พบการฉีกขาดและเลือดออกของเยื่อหุ้มประสาท


          ผู้วิจัยได้อภิปรายว่า ผลการตรวจ CT บริเวณกระดูกสันหลังของผู้ป่วยรายนี้ พบว่ามีภาวะ Ankylosing spondylitis ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระดูกสันหลังแตกหักได้ง่าย และแน่นอนว่าก่อนทำการจัดกระดูก ไม่มีการตรวจพบภาวะนี้ของผู้ป่วย


          สำหรับ Ankylosing spondylitis คือ โรคที่เกิดการอักเสบซ้ำ ๆ ของกระดูกสันหลัง และกระดูกเชิงกราน รวมถึงข้อต่อก้นกบ (sacroiliac joint) หากแต่ในผู้ป่วยโรคนี้ การอักเสบจะไม่ได้มีผลถึงเพียงเส้นเอ็น (ligament or tendon) แต่จะเกิดการอักเสบไปถึงบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมของเส้นเอ็นกับกระดูก (entheses)

          เมื่อกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง ทำให้มีแคลเซียมสะสมบริเวณเอ็นรอบกระดูกสันหลัง และสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงขอบกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก จนทำให้กระดูกสันหลังแต่ละท่อนเชื่อมติดกัน และเสียแนวการวางตัวที่ปกติ (spine alignment) รวมถึงช่วงการเคลื่อนไหวของผิวข้อด้วย (arthrokinematics movement) ดังนั้น จึงทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีการแตกหักของกระดูกสันหลังได้ง่าย

หลายครั้งคำถามที่ว่า การจัดกระดูก ควรทำหรือไม่ ?  


          เป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก เนื่องจากผลการรักษานั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างไรก็ตามรายงานเคสของผู้ป่วยรายนี้ อาจบ่งชี้ถึงผลข้างเคียงรุนแรง ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากการจัดกระดูก

          หากท่านจะเชื่อถืองานวิจัย และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ในหลายไกด์ไลน์ที่แนะนำเรื่องการรักษาแบบอนุรักษ์ (conservative treatment) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อเรื้อรัง

          ท่านเชื่อหรือไม่ ว่าการออกกำลังกายหรือการบริหารต่าง ๆ นั้น ให้ผลลดอาการปวดได้ดีและคงอยู่ยาวนานกว่าหลายการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดกระดูก หรือเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เพราะบางครั้ง การรักษาที่ง่ายและปลอดภัยก็เริ่มได้จากตัวเราเอง...

เตือนภัยสุขภาพ จัดกระดูกคออัมพาตทั้งตัว


ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก PT NOTE - บันทึกกายภาพบำบัด





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จัดกระดูกคอจนกระดูกหัก หมอนรองกระดูกปลิ้น จบที่อัมพาตทั้งร่าง เตือนชาวออฟฟิศซินโดรม อัปเดตล่าสุด 6 ธันวาคม 2565 เวลา 14:26:14 14,899 อ่าน
TOP