x close

พิษดอกเบี้ยขาขึ้น หนุ่มกู้บ้าน 13 ล้านบาท ผ่อนจนจบต้องจ่าย 33 ล้าน เฉลย เป็นแบบนี้ได้ไง


           หนุ่มบ่น พิษดอกเบี้ยขาขึ้น กู้บ้านจาก 13 ล้านบาท ผ่อนไม่โปะไปจบที่ 33 ล้านบาท ดอกเบี้ยเงินฝากนิดเดียว ดอกเบี้ยบ้านทะยานฟ้า เฉลยแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ไง และจะเลี่ยงยังไง ที่ไม่ต้องจ่าย 3 เท่าของราคาบ้าน

กู้บ้าน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

           บ้าน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ทุกคนต้องมี และถ้าเป็นมนุษย์วัยทำงาน เริ่มต้นสร้างครอบครัว สิ่งที่ตามมาคือการซื้อบ้านและรถ และแน่นอนว่า การตัดสินใจซื้อบ้าน ซึ่งบางคนแทบจะเป็นการซื้อครั้งเดียวในชีวิต ย่อมต้องการการกู้ การผ่อน จ่ายดอกเบี้ยกันจนแก่ แต่ทุกครั้งที่เราจ่ายเงินเพื่อบ้านที่รัก มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นเงินต้น และส่วนมากที่เป็นดอกเบี้ย เรียกได้ว่าทำงานเท่าไร เอามาลงที่บ้านหมดเลย

หนุ่มเผยเรื่องของเพื่อน โอดดอกเบี้ยขาขึ้น ซื้อบ้าน 13 ล้าน ผ่อนจบ 33 ล้าน ได้เงินมาเท่าไร เอาไปจ่ายแบงก์หมด


           ทั้งนี้ หนุ่มคนนี้ได้โพสต์ข้อความว่า เพื่อนของตนซื้อบ้านในราคา 12.9 ล้านบาท และจากเอกสารก่อนปรับดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ที่ดอกเบี้ย MRR 8.350% พบว่า หากเพื่อนผ่อนบ้านโดยที่ไม่โปะเลย จะจ่ายค่าบ้านรวมดอกเบี้ยที่ 33.1 ล้านบาท เท่ากับว่าจะต้องจ่ายค่าบ้านเกือบ 3 เท่าจากราคาบ้านที่กู้มา

           หนุ่มคนนี้ได้ตั้งคำถามว่า ทำแบบนี้ถือว่าธนาคารเอาเปรียบเกินไปหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นแค่ 0.25% แต่ดอกเบี้ยเงินกู้กลับสูงลิบ และมีการยัดเยียดให้พนักงานขายสินค้าประกันชีวิตให้ลูกค้า จึงจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าปกติ ตนมองว่าเป็นการหลอกล่อน่าดู

           และตนขอฝากไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป ให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ประชาชนด้วย ประชาชนได้รับผลกระทบกว้างมาก และจะมีกี่คนในประเทศนี้ที่สามารถซื้อบ้านเงินสด ถ้าไม่มาจากตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดก็ทุนสีเทาทั้งนั้น ที่มีเงินสด 1,000,0000 ทุกวันนี้คอนโดยังแทบไม่ได้เลย บ้านเดี่ยวหลังเล็ก ๆ ราคาก็ 4-5 ล้านบาทไปแล้ว ถ้าดอกเบี้ยขาขึ้นขนาดนี้ ประชาชนไม่ต้องใช้ชีวิตหรอก จ่ายเงินแบงก์จ่ายนายทุนหมด มันมากเกินไป

           ทั้งนี้ เรื่องนี้ได้ถูกแชร์ออกไปนับหมื่นครั้ง และมีคนเข้ามาวิจารณ์เป็นจำนวนมาก พร้อมกับที่เจ้าของโพสต์ได้มาเพิ่มเติมว่า
    
           "ตนไม่ได้ต้องการบ่นหรือโวยวาย มันคือการตั้งคำถามจากคนที่ไม่รู้

           ตนต้องการพูดถึงดอกเบี้ยลอยตัว ดอกเบี้ยขาขึ้นที่ทำประชาชนต้องรับภาระมาก เพราะตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่มีแบบดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี แล้ว นั่นหมายความว่า ในวันที่กู้นั้น สมมุติในสัญญาระบุว่าได้รับ MRR -2.00  และเท่ากับว่า ณ วันที่กู้ คุณได้ดอกเบี้ย MRR 3.8% แต่หากธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก ก็ให้เอาดอกเบี้ยใหม่ ไปลบกับ -2.00 ซึ่งอาจหมายความว่า ในอนาคตคุณต้องจ่ายดอกเบี้ย 4.5% ก็เป็นได้ และเมื่อทำแบบนี้ แม้จะจ่ายเงินต้นเท่าเดิม แต่ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น"


กู้บ้าน

ตอบคำถาม จริงไหมผ่อนจบต้องจ่าย 3 เท่า และเผยวิธีการคำนวณเงินผ่อนบ้าน ทำยังไงถึงจะปลดภาระนี้


           ทั้งนี้ ก่อนที่จะทำการกู้บ้าน ผู้กู้ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเงินต้นและดอกเบี้ย และระยะเวลาในการกู้ รวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ธนาคารกำหนดขึ้นเพื่อที่จะดึงลูกค้า หรือเงื่อนไขในกรณีการโปะเกินยอด หรือปิดงวด รวมถึงการรีไฟแนนซ์ เพื่อที่จะบริหารเงินได้ถูก และผ่อนบ้านได้ตลอดรอดฝั่ง

           การกู้ซื้อบ้านนั้น ดอกเบี้ยมักจะคิดเป็นแบบลดต้นลดดอก (ต่างกับการกู้ซื้อรถที่แม้จะโปะแต่ดอกเบี้ยจะลดไม่มาก) ยิ่งพยายามโปะมากเท่าไร เงินต้นก็ยิ่งลด ดอกเบี้ยก็ยิ่งลดตามไปด้วย แต่หากจ่ายเงินเฉพาะแค่ค่างวดขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดไว้ เมื่อผ่อนครบก็ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกัน 2-3 เท่ามากกว่าราคาบ้านที่กู้มาอยู่แล้ว

           เช่น กู้บ้าน 2,000,000 บาท ดอกเบี้ย 5% = ภายใน 1 ปีจะเสียดอกเบี้ย 2,000,000x5% = 100,000 บาท

           ดอกเบี้ย 100,000/365 วัน = 273 บาท

           เท่ากับว่าทุกวันที่คุณยังติดหนี้ธนาคาร คุณต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคาร 273 บาท

           เมื่อครบกำหนด 1 เดือน คุณต้องจ่ายดอกเบี้ย 273x30 =8,190 บาท

           ในกรณีที่ธนาคารให้คุณจ่ายค่างวด งวดละ 11,500 บาท ก็เท่ากับว่า คุณจ่ายดอกเบี้ย 8,190 บาท และจ่ายเงินต้นเพียง 3,310 บาท

           แต่เนื่องจากวิธีการคิดดอกเบี้ยบ้านเป็นแบบลดต้นลดดอก หมายความว่า ในการคิดคำนวณในครั้งต่อไป จะไม่ใช่ 2,000,000 เป็นตัวตั้ง แต่จะใช้ ยอดครั้งก่อน - เงินต้นที่จ่าย (2,000,000-3,310=1,996,690 บาท)

           นั่นแสดงว่า ยิ่งพยายามโปะเงินมากเท่าไร ยิ่งทำให้ดอกเบี้ยบ้านถูกลงมากเท่านั้น เพราะเงินที่จ่ายเกินงวดแต่ละครั้งจะถูกนำไปตัดต้น และทำให้เราผ่อนเบาตัวขึ้น ปิดงวดได้ไว โดยหลักการคิดแบบนี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ยิ่งเวลาผ่านไป มูลค่าบ้านยิ่งสูง ต่างกับการคิดดอกเบี้ยรถยนต์ ที่ยิ่งเวลาผ่านไป มูลค่ารถยิ่งลดลง

           ดังนั้น ในกรณีของเจ้าของบ้านที่กู้เงินมาเกือบ 13 ล้านบาท หากไม่ต้องการจ่ายเงินถึง 33 ล้านบาทเมื่อผ่อนจบ อาจต้องรีไฟแนนซ์บ้านเมื่อผ่อนครบ 3 ปี, ติดต่อธนาคารที่สามารถให้ดอกเบี้ยแบบคงที่, รวมถึงการรีบผ่อนโดยการโปะบ้านให้มากกว่าเงินขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด

กู้บ้าน

กู้บ้าน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิษดอกเบี้ยขาขึ้น หนุ่มกู้บ้าน 13 ล้านบาท ผ่อนจนจบต้องจ่าย 33 ล้าน เฉลย เป็นแบบนี้ได้ไง อัปเดตล่าสุด 23 มิถุนายน 2566 เวลา 15:45:10 58,055 อ่าน
TOP