เปิดเอกสารสัญญา ทางยกระดับ อ่อนนุช-ลาดกระบัง งบ กทม. 1.6 พันล้าน
ก่อสร้าง 900 วัน ก่อนพังถล่ม วิโรจน์จี้ตรวจสอบทั้งทางวิศวกรรม
และการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง
ภาพจาก ทวิตเตอร์@wirojlak
จากกรณีโครงการก่อสร้างทางยกระดับ อ่อนนุช-ลาดกระบัง บริเวณหน้าห้างโลตัส
สาขาลาดกระบัง ใกล้เคียง สน.จรเข้น้อย พังถล่มลงมาในขณะที่กำลังก่อสร้าง
จนมีประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งทาง ผู้ว่าฯ
กทม. ยืนยันว่าเรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ
และต้องมีความผิดพลาดระหว่างการติดตั้ง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยนั้น
อ่านข่าว : คืบหน้า สะพานถล่มลาดกระบัง ยอดคนเจ็บพุ่ง - ชัชชาติย้ำต้องมีคนรับผิดชอบ
อ่านข่าว : คืบหน้า สะพานถล่มลาดกระบัง ยอดคนเจ็บพุ่ง - ชัชชาติย้ำต้องมีคนรับผิดชอบ
โดยมีระยะทางโครงการรวม 3,500 เมตร จุดเริ่มต้นบริเวณสะพานข้ามคลองหนองคล้า ใกล้กับซอยลาดกระบัง 9/7 ไปสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหน้าสำนักงาน กปน. สาขาสุวรรณภูมิ กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน ลักษณะเป็นการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เจ้าของโครงการ คือ สำนักการโยธา กทม. และผู้ออกแบบ คือ สำนักงานวิศวกรรมทาง สำนักการโยธา กทม.
ภาพจาก ทวิตเตอร์@wirojlak
ในส่วนค่าก่อสร้าง เป็นจำนวน 1,664,550,000 บาท (เงิน กทม. 100%) ทั้งนี้ คาดว่าโครงการก่อสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567
ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ได้เปิดเอกสารสัญญาให้ดูกันชัด ๆ พร้อมระบุว่า "รายละเอียดของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกอ่อนนุช-ลาดกระบัง ระยะทาง 3.5 กม. ใช้งบ 1.66 พันล้านบาท มีการขยายสัญญาเพิ่ม 1 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค. 67 คงต้องมีการตรวจสอบทั้งทางวิศวกรรม และการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ร่วมด้วยครับ"
ขณะเดียวกัน สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า ก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคม 2565 ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เผยโพสต์เฟซบุ๊กเตือนเรื่องโครงการก่อสร้างดังกล่าวก่อนเกิดเหตุถล่มในครั้งนี้ แสดงความเป็นห่วงในหลายประเด็น
โดยเป็นโพสต์จากวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ระบุว่า "กลับบ้านวันศุกร์ ไม่สุข ไม่ปลอดภัย"
"ผมขอแสดงความเป็นห่วงจากใจ โครงการก่อสร้างสะพานข้าม ถนนอ่อนนุช-หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง เห็นปัญหาชัดเจน
1. เครื่องจักรใหญ่ทำงาน ไม่มีแนวป้องกัน เสี่ยงอุบัติเหตุของหล่น ประชาชนเดือดร้อนเสี่ยงชีวิต
2. ถนนยุบจากการก่อสร้าง เสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ของเด็กนักศึกษา ห่วงจริง ๆ
3. รถติดสาหัส เพราะก่อสร้างกินพื้นที่ บางช่วงก่อสร้างเสร็จแล้ว ต้องคืนพื้นที่ให้ประชาชนผู้สัญจรได้
เพราะอุบัติเหตุจากการก่อสร้างสะพาน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครั้งมีผู้เสียชีวิต มีทรัพย์สินเสียหาย ขออย่าให้เกิดที่ใด กับใคร อีกเลยครับ เป็นห่วงจริง ๆ ครับ"
ภาพจาก ทวิตเตอร์@wirojlak