วิจัยชิ้นใหม่ในสหรัฐฯ เปิดเผย ผลข้างเคียงที่น่าตกใจของการใช้ไมโครเวฟกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก เตือนผู้คนควรตระหนักรับรู้
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 เว็บไซต์ The Cool Down เผยรายงานการวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยเนแบรสกา ในสหรัฐอเมริกา
เกี่ยวกับการใช้ไมโครเวฟอุ่นอาหาร
โดยผู้เชี่ยวชาญพบผลข้างเคียงที่น่าตกใจไม่น้อย เกี่ยวกับการปล่อยนาโนพลาสติกจำนวนมาก ตอนที่นำภาชนะใส่อาหารไปอุ่นไมโครเวฟ
การวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2564 โดยคาซี อัลบับ ฮุสเซน นักวิจัยและทีมของเขา ตัดสินใจทำการทดลองกับภาชนะบรรจุอาหารสำหรับทารกที่ทำจากโพลีโพรพีลีน 2 ใบ รวมถึงถุงบรรจุอาหารชนิดใช้ซ้ำได้ที่ทำจากโพลีเอทิลีน ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นพลาสติกที่ได้รับการรับรองจาก FDA ของสหรัฐฯ
ในการทดลองหนึ่ง นักวิจัยเติมน้ำที่ผ่านการกำจัดไอออน หรือกรดอะซิติก 3% ลงในภาชนะ จากนั้นนำไปให้อุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟ กำลังไฟ 1,000 วัตต์ เป็นเวลา 3 นาที ก่อนจะทำการวิเคราะห์ของเหลวเพื่อหาหลักฐานของไมโคร และนาโนพลาสติก ซึ่งต่อมาทีมนักวิจัยประเมินว่า ทารกที่ดื่มน้ำที่อุ่นร้อนจากผลิตภัณฑ์ รวมถึงเด็กที่บริโภคผลิตภัณฑ์นมที่อุ่นด้วยไมโครเวฟ กำลังได้รับพลาสติกที่มีความเข้มข้นสัมพัทธ์เข้าไป
ฮุสเซน ผู้นำทีมวิจัยและเพิ่งเป็นคุณพ่อมือใหม่ขณะที่ทำการทดลอง เขายอมรับว่า ลูกน้อยของเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการได้รับสารไมโครและนาโนพลาสติกนี้ให้ได้มากที่สุด
"ผู้คนสมควรที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นเช่นกัน และพวกเขาควรเลือกอย่างฉลาด" ฮุสเซน กล่าว
นอกจากนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญยังได้ทดลองนำเซลล์จากไต ไปสัมผัสกับสารไมโครพลาสติกที่ปล่อยออกมาระหว่างการทดลองใส่ขวดในไมโครเวฟ พวกเขาพบว่า ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์เหล่านั้นถูกทำลาย ซึ่งมีความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ว่า ไมโครพลาสติกอาจเป็นอันตรายต่อไตของมนุษย์
สำหรับวิธีการหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติกที่ดีที่สุด ฮุสเซนแนะนำว่าคือการ งดนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกเข้าไมโครเวฟ แม้ว่าจะมีการรับรองว่าสามารถนำเข้าไปโครเวฟได้ก็ตาม อย่างไรก็ดี เขาก็หวังว่าในอนาคต จะมีการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบปลอดภัยอย่างแท้จริง เป็นชนิดที่ปลอดไมโครพลาสติก หรือปลอดนาโนพลาสติก
จูดิธ เองค์ อดีตผู้บริหารสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มผู้สนับสนุน Beyond Plastics กล่าวกับรายงานของ Wired ระบุว่า "การวิจัยชิ้นนี้ควรจะเป็นการเตือนสติ ไม่ใช่แค่สำหรับผู้ปกครองมือใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทางองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุกให้มากกว่านี้"
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลวันที่ 13 กันยายน 2556 เวลา 13.46 น.
ขอบคุณข้อมูลจาก The Cool Down, Wired, Nebraska Today