แผ่นดินไหวทำไงดี ! รวมข้อควรปฏิบัติขณะเกิดแผ่นดินไหว


          แผ่นดินไหว เกิดจากอะไร มีวิธีปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้รอดปลอดภัยในระหว่างเกิดแผ่นดินไหวและหลังแผ่นดินไหว
ข้อปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ทำอย่างไรให้ปลอดภัย

          ช่วงหลังมานี้ เรามักจะได้ยินข่าวการเกิดแผ่นดินไหวในแถบประเทศเพื่อนบ้านบ่อยครั้งขึ้น และแรงสั่นสะเทือนทำให้คนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หรือตามตึกสูงในกรุงเทพมหานครรับรู้ได้ เพราะฉะนั้น ในเมื่อเรื่องการเกิดแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เราก็ควรทำความรู้จักกับเรื่องแผ่นดินไหวให้มากขึ้น รวมทั้งวิธีเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

แผ่นดินไหว เกิดจากอะไร

 
แผ่นดินไหว

          สำหรับ "แผ่นดินไหว" ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ในโลก เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ ซึ่งปกติจะเกิดการเคลื่อนที่บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ทำให้ชั้นหินขนาดใหญ่ใต้พื้นผิวโลกเคลื่อนที่ตามไปด้วย และเกิดการโอนถ่ายพลังงานศักย์ จนเกิดการสั่นสะเทือนขึ้น โดยจุดที่แผ่นดินเกิดการเคลื่อนที่นั้นเรียกว่า "จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว"

          ทั้งนี้ ทั่วโลกมีเขตรอยต่อแผ่นเปลือกโลกที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามมามากมาย แต่จุดที่เป็นรอยต่อขนาดใหญ่ และเป็นจุดเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 80% ของพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก คือ บริเวณวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ที่อยู่รอบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งประกอบไปด้วยหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ชิลี นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฯลฯ ที่มักจะเกิดแผ่นดินไหวนอกจากวงแหวนแห่งไฟแล้ว ก็ยังมีแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางทวีปยุโรปตอนใต้ แถบเทือกเขาอนาโตเลีย ที่ประเทศตุรกี ผ่านบริเวณตะวันออกกลาง จนถึงเทือกเขาหิมาลัย เช่น ประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศจีน และประเทศพม่

          อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีพลังทำลายล้างได้มากแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่รู้สึกได้มากน้อยเพียงใด และขึ้นอยู่กับระยะทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยหากอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ก็จะมีความเสียหายมากกว่าจุดอื่น ๆ ที่อยู่ห่างออกไป

การวัดขนาดของแผ่นดินไหว


         สำหรับการวัดขนาดของแผ่นดินไหว (Magnitude) ใช้ระบบการวัดได้หลายรูปแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมที่สุด คือ มาตราวัดขนาดของแผ่นดินไหวแบบริกเตอร์ โดยขนาดของแผ่นดินไหวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นมีดังนี้

ขนาดแผ่นดินไหว
จัดอยู่ในระดับ
ผลกระทบ
อัตราการเกิดทั่วโลก
 1.9 ลงไป
 ไม่รู้สึก (Micro)  ไม่มี  8,000 ครั้ง/วัน
 2.0-2.9  เบามาก (Minor)
 คนทั่วไปมักไม่รู้สึก แต่ก็สามารถรู้สึกได้บ้าง และตรวจจับได้ง่าย  1,000 ครั้ง/วัน
 3.0-3.9  เบามาก (Minor)  คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ และบางครั้งสามารถสร้างความเสียหายได้บ้าง   
 49,000 ครั้ง/ปี
 4.0-4.9  เบา (Light)  ข้าวของในบ้านสั่นไหวชัดเจน สามารถสร้างความเสียหายได้  6,200 ครั้ง/ปี
 5.0-5.9  ปานกลาง (Moderate)  สร้างความเสียหายยับเยินได้กับสิ่งก่อสร้างที่ไม่มั่นคง แต่กับสิ่งก่อสร้างที่มั่นคงนั้นไม่มีปัญหา  800 ครั้ง/ปี
 6.0-6.9  แรง (Strong)  สร้างความเสียหายที่ค่อนข้างรุนแรงได้ในรัศมีประมาณ 80 กิโลเมตร  120 ครั้ง/ปี
 7.0-7.9  รุนแรง (Major)  สามารถสร้างความเสียหายรุนแรงในบริเวณกว้างกว่า  18 ครั้ง/ปี
 8.0-8.9  รุนแรงมาก (Great)   
 สร้างความเสียหายรุนแรงได้ในรัศมีเป็นร้อยกิโลเมตร  1 ครั้ง/ปี
 9.0-9.9  รุนแรงมาก (Great)   
 "ล้างผลาญ" ทุกสิ่งทุกอย่างในรัศมีเป็นพันกิโลเมตร  1 ครั้ง/20 ปี
 10.0 ขึ้นไป  ทำลายล้าง (Epic) 
 ไม่เคยเกิด จึงไม่มีบันทึกความเสียหายไว้  0

          สำหรับการวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหว (Intensity) ในประเทศไทยจะใช้มาตราเมอร์แคลลี่ ซึ่งมีทั้งหมด 12 อันดับ เขียนตามสัญลักษณ์เลขโรมัน
 
 อันดับที่ ลักษณะความรุนแรงโดยเปรียบเทียบ
 I  เป็นอันดับที่อ่อนมาก ตรวจวัดโดยเครื่องมือ
 II  พอรู้สึกได้สำหรับผู้ที่อยู่นิ่ง ๆ ในอาคารสูง ๆ
 III  พอรู้สึกได้สำหรับผู้อยู่ในบ้าน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึก
 IV  ผู้อยู่ในบ้านรู้สึกว่าของในบ้านสั่นไหว
 V  รู้สึกเกือบทุกคน ของในบ้านเริ่มแกว่งไกว
 VI  รู้สึกได้กับทุกคน ของหนักในบ้านเริ่มเคลื่อนไหว
 VII  ทุกคนต่างตกใจ สิ่งก่อสร้างเริ่มปรากฏความเสียหาย
 VIII  เสียหายค่อนข้างมากในอาคารธรรมดา
 IX  สิ่งก่อสร้างที่ออกแบบไว้อย่างดีเสียหายมาก
 X  อาคารพัง รางรถไฟบิดงอ
 XI
 อาคารสิ่งก่อสร้างพังทลายเกือบทั้งหมด ผิวโลกปูดนูนและเลื่อนเป็นคลื่นบน พื้นดินอ่อน
 XII  ทำลายหมดทุกอย่าง มองเห็นเป็นคลื่นบนแผ่นดิน
 

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหว

     สำหรับวิธีปฏิบัติตัว เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ให้ข้อแนะนำไว้ดังนี้ค่ะ

ก่อนการเกิดแผ่นดินไหว


          1. ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน และให้ทุกคนทราบว่าอยู่ที่ไหน

          2. ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          3. ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น

          4. ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดแก๊ส สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า

          5. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูง ๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้

          6. ผูกเครื่องใช้หนัก ๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน

          7. ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมาย ในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกัน เพื่อมารวมตัวกันอีกครั้งในภายหลัง

          8. สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

          9. ตรวจสอบบ้านเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ยึดติดอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ กับพื้นหรือผนังบ้านอย่างแน่นหนา

ระหว่างการเกิดแผ่นดินไหว


          1. อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบ ถ้าท่านอยู่ในบ้านก็ให้อยู่ในบ้าน ถ้าท่านอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้าน เพราะส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บ เพราะวิ่งเข้า-ออกจากบ้าน

          2. ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืน หรือหมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรง ที่สามารถรับน้ำหนักได้มาก และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง

          3. กรณีอยู่ในอาคาร ให้หาที่หลบกำบังในบริเวณที่ปลอดภัย พร้อมใช้มือกำบังศีรษะและลำคอ โดยหมอบบริเวณใต้โต๊ะ เก้าอี้ที่แข็งแรง ไม่มีสิ่งของหล่นใส่ หรือในจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง ไม่อยู่ใต้คานหรือใกล้เสา อยู่ให้ห่างจากประตู หน้าต่างที่เป็นกระจกและเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่สามารถล้มลงมาได้ ห้ามวิ่งหนีออกจากอาคารโดยใช้ลิฟต์ เพราะหากกระแสไฟฟ้าดับ จะติดค้างอยู่ในลิฟต์ ทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ และไม่ควรใช้บันไดหนีไฟ เพราะอาจได้รับอันตรายจากสิ่งของที่ร่วงหล่นจากแรงสั่นสะเทือน หรือบันไดหนีไฟอาจร่วงหล่นมาจากตึกได้

 
          4. ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ ที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง

          5. อย่าใช้เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลวหรือประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น

          6. หากกำลังขับรถ ให้หยุดรถในบริเวณที่ปลอดภัยและรอจนกว่าเหตุแผ่นดินไหวสงบค่อยขับรถต่อ ห้ามหยุดรถบริเวณใต้สะพาน ทางด่วน ป้ายโฆษณาและต้นไม้ขนาดใหญ่ เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับ 

          7. ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว

          8. กรณีอยู่บริเวณชายทะเล หากสังเกตเห็นน้ำทะเลลดระดับอย่างรวดเร็ว ให้รีบหนีขึ้นที่สูงหรือออกห่างจากชายฝั่งทะเลให้มากที่สุด เพราะอาจเกิดคลื่นสึนามิ ถ้าอยู่ในเรือ ให้นำเรือออกสู่กลางทะเล และรอจนกว่าสถานการณ์สงบ จึงค่อยนำเรือกลับเข้าฝั่ง

แผ่นดินไหว


หลังการเกิดแผ่นดินไหว


          1. ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน

          2. ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอาคารอาจพังทลายได้

          3. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่น ๆ และสิ่งหักพังแทง

          4. ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ หรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว

          5. ตรวจสอบว่าแก๊สรั่วด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตู-หน้าต่างทุกบาน

          6. ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง

          7. เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ นอกจากจำเป็นจริง ๆ

          8. สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้

          9. อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง หรืออาคารพัง

         10. อย่าแพร่ข่าวลือ หรือหลงเชื่อข่าวลือ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, วิกิพีเดีย, กรมอุตุนิยมวิทยา, most.go.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แผ่นดินไหวทำไงดี ! รวมข้อควรปฏิบัติขณะเกิดแผ่นดินไหว อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2566 เวลา 17:45:00 230,331 อ่าน
TOP
x close