x close

ถนนนี้กลับบ้าน ทางเลือกสายความสุขที่บ้านเกิด

 


เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

          ท่ามกลางชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ในสังคม และหน้าที่การงาน มนุษย์บางสายพันธุ์เลือกที่จะกลับบ้าน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่บนวิถีทางที่ตัวเองเป็นผู้กำหนด

มหรรณพ ต้นวงศ์ษา


 เมื่อ "แมกซิม กอร์กี" ชี้ทางกลับบ้าน

          บนเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน มหรรณพ ต้นวงศ์ษา หรือ เหวิน ปลูกสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาด้วยสองมือและหยาดเหงื่อของตัวเอง นอกจากผลไม้และผักหญ้านานาพันธุ์ที่มีอยู่เต็มสวน ชายวัย 38 ปี ยังปลูกข้าวเอาไว้กินเอง ขณะที่เนื้อสัตว์ก็ได้มาจากการเหวี่ยงแหจับปลาในแม่น้ำมูล

          แม้เขาจะภาคภูมิใจและดูท่าจะมีความสุขกับวิถีความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ไม่ต้องมีเงินทองเป็นสรณะของชีวิต อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเหวินจะไม่เคยต้องการมัน ก่อนจะเป็นอย่างทุกวันนี้ครั้งหนึ่งในชีวิตชายร่างเล็ก ก็เคยถูกกระแสสังคมพัดพาเข้าไปขุดทองในเมืองหลวงเช่นเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่ เพียงเพราะต้องการบ้านหลังใหญ่และรถเก๋งคันงาม ซึ่งนับได้ว่าเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกที่มีความหอมหวานอยู่พอสมควร และความหอมหวานของมันทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งมองข้ามต้นทุนชั้นดีในชีวิต

          แต่ในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังทำท่าว่าจะไปได้ดี ชายหนุ่มซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนานก็ตัดสินใจแบกกระเป๋า นั่งรถไฟกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดแบบดื้อๆ เพราะเขาได้เจอกับหนังสือเล่มหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงความคิด รวมทั้งชี้ทางชีวิตให้กับเขา ซึ่งหนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า "แม่" ของ "แมกซิม กอร์กี" นักเขียนชาวรัสเซีย

          ในวัย 28 ปี เหวินไม่ได้กลับบ้านมาด้วยสภาพที่ซมซานเหมือนกับคนบ้านนอกหลายรายที่พ่ายแพ้แก่เมืองใหญ่ หากแต่เขาเลือกที่จะกลับมาเพื่อดำรงวิถีชีวิตตามความคิดและความเชื่อของตัวเอง ซึ่งทันทีที่กลับมาถึงชายหนุ่มก็ตรงเข้าไปบอกอะไรบางอย่างกับผู้หญิงที่เขารักที่สุดในชีวิต ซึ่งผู้หญิงคนนี้เป็นคนเดียวกับผู้หญิงที่ทำให้เขากลับบ้าน

มาโนช พรหมสิงห์


 มาโนช พรหมสิงห์ ชีวิตจริงของคนธรรมดา 

          ความสุขและกิจกรรมในชีวิตของ มาโนช พรหมสิงห์ ไม่ได้แตกต่างจากเหวิน ซึ่งหลังจบการศึกษาในช่วงปลายปี 2521 มาโนชก็เข้ารับราชการครูที่โรงเรียนในตัวอำเภอใกล้บ้าน ในระหว่างนั้นก็ทำงานเขียนควบคู่ไปด้วย โดยชายหนุ่มตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติอยู่สิบปี จากนั้นก็จะลาออกจากราชการมาปลูกต้นไม้ ทำสวน รวมทั้งเขียนหนังสืออยู่กับบ้าน จนกระทั่งก้าวล่วงเข้าสู่ปีที่เจ็ด ปีที่แปด ความเบื่อหน่ายในระบบราชการก็เริ่มมาเคาะประตูความรู้สึกของเขาเป็นครั้งแรก

          มาโนชจบชีวิตการเป็นแม่พิมพ์ของชาติที่จังหวัดลำปางด้วยเงินเดือน 7,000 กว่าบาท ซึ่งหากเขายังเป็นครูมาถึงทุกวันนี้ ตัวเลขตรงนั้นก็จะเพิ่มมากขึ้นถึงหลักสองหมื่นเป็นอย่างน้อย ทว่าคนอย่างเขาก็เลือกที่จะไม่สนใจมัน เขาไม่แยแสแม้แต่จะรับเงินบำเหน็จที่มีจำนวนมากถึง 40,000 บาท ในช่วงเวลานั้นอีกด้วย

          แต่การตัดสินใจของมาโนชก็ไม่ได้เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนในครอบครัวเท่าใดนัก โดยเฉพาะกับผู้เป็นพ่อที่มองว่าการกลับมาเป็นนักเขียนไส้แห้งอยู่กับบ้านไม่น่าจะเป็นประโยชน์และสิ่งดีกับชีวิต จึงทำให้ช่วงที่ออกจากครูใหม่ๆ มาโนชยังไม่กล้าที่จะเข้าบ้าน ต้องพเนจรไปอยู่กับเพื่อนตามจังหวัดต่างๆ ก่อน และด้วยความที่เขาเป็นห่วงแม่แล้วก็สงสารน้อง เพราะลูกคนอื่นๆ เขาไปเรียนที่อื่นกันหมด ส่วนพ่อก็ไม่ค่อยอยู่บ้านเนื่องจากทำงานในค่ายทหาร เขาจึงตัดสินใจกลับบ้านมาทำสวน แล้วก็ช่วยดูแลเขา 

          ดังนั้นอดีตแม่พิมพ์ชองชาติซึ่งเป็นลูกชายคนโตของบ้าน ต้องแสดงให้ทุกคนในครอบครัวเห็นว่า เขาสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้โดยที่ไม่ต้องมีใครมาช่วยพยุง เขาจึงทำสวนหามรุ่งหามค่ำพร้อมทั้งทำงานเขียนควบคู่ไปด้วย ซึ่งเขาบอกว่าเราอาจจะได้ความอิสระ ความพึงพอใจในชีวิต ได้รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองท่ามกลางความสำคัญ แต่เราก็ต้องลงทุน ลงแรง ต้องต่อสู้กับสายตาของสังคม เพื่อแลกกับความสุขแบบสันโดษ ซึ่งผมไม่แนะนำให้คนอื่นทำตามอย่าง เพราะอย่างผม ผมยังมีต้นทุน มีที่ดินเป็นของตนเอง มันก็เลยทำได้ไม่ยาก

สุพรรณ พรหมเสน


 ตามฟูกูโอกะมาเจอกระดาษสา

          ด้านหลังกระดาษสาแผ่นนั้นบอกชื่อผู้ผลิตว่า "สุพรรณ พรหมเสน" ทั้งลวดลายอันสวยงาม รวมไปถึงเนื้อกระดาษอันเป็นเอกลักษณ์ บ่งบอกได้ว่ามันเป็นงานแฮนด์เมดชั้นเยี่ยมชิ้นหนึ่ง ชายวัยห้าสิบสามอธิบายถึงชีวิตของกระดาษด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ราวกับว่ามันคือลูกหลานและคนในครอบครัว โดยก่อนจะมาเป็นกูรูด้านกระดาษอยู่ที่ลำปาง บ้านเกิด สุพรรณ พรหมเสน เคยรับราชการเป็นครูสอนศิลปะอยู่ที่โรงเรียนมัธยมชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลกยาวนานถึงสิบกว่าปี

          ทว่าเหตุที่ชายหนุ่มวัยกลางสามสิบถึงคิดจะกลับมาเป็นแค่คนทำกระดาษอยู่ที่บ้าน ทั้งๆ ที่หน้าที่การงานก็กำลังไปได้ดีก็เพราะ "เราอยากทำอะไรใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากการเป็นครู เรารู้สึกว่าที่เราสอนมาสิบกว่าปีมันเริ่มอิ่มตัวแล้ว อยากออกมาทำอะไรที่มันเป็นส่วนตัวมากกว่า" ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพรรคพวกเพื่อนฝูงและคนรู้จัก โดยหลังลาออกจากระบบราชการ สุพรรณก็ดำเนินชีวิตตามวิถีที่ตัวเองเลือก เขาแปลงเนื้อที่เล็กๆ ภายในบ้านเป็นสถานที่ผลิตกระดาษทำมือ โดยเน้นไปที่กระดาษที่ใช้ทำงานศิลปะเป็นหลัก

          การเลือกที่จะกลับบ้านของมนุษย์บางคนอาจมีเหตุผลมาจากความพ่ายแพ้และอับจนหนทาง แต่ความเป็นจริงดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับชายที่ชื่อ สุพรรณ พรหมเสน เพราะนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้วที่เขายังคงมีชีวิตอยู่กับสิ่งที่ตัวเองวางเป้าหมาย

โจ หน่า


 ถนนสายคนเดินของโจและหน่า

          เบื้องหลังการแสดงหุ่นช่างฟ้อน ชายหญิงคู่หนึ่งกำลังเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ไปบนถนนสายชีวิตโดยไม่มีใครบังคับ ทั้งคู่เลือกที่จะก้าวเดินบนถนนสายนี้ด้วยตัวเอง หน่า-ทรัพย์ทวี สุนทรมงคล พูดถึงอาชีพเชิดหุ่นช่างฟ้อนที่เธอทำร่วมกับ โจ-ภาสกร สุนทรมงคล ผู้เป็นสามี โดยก่อนจะมาเชิดหุ่นช่างฟ้อนเลี้ยงชีพ ทั้งโจและหน่าต่างก็เคยทำงานอยู่ในระบบทุนมาก่อน

          โจนั้นเป็นลูกจ้างทำงานออกแบบอยู่ในบริษัทโคมไฟในกรุงเทพฯ ขณะที่หน่าแม้จะทำงานอยู่ในเชียงใหม่บ้านเกิด แต่การเป็นครูบรรณารักษ์อยู่ในห้องสมุด มีชีวิตอยู่กับการจัดหนังสือเข้าชั้นไปวันๆ ก็เพียงพอจะทำให้เธอรู้สึกไม่ต่างอะไรจากมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิตแวดล้อมไปด้วยความเบื่อหน่าย

          พอแต่งงานกันทั้งสองจึงลาออกจากงานแล้วก็มาเปิดบริษัทผลิตโคมไฟด้วยกัน กิจการผลิตโคมไฟของทั้งคู่ทำท่าว่าจะไปได้สวย ยอดการสั่งซื้อจากลูกค้าเดือนๆ หนึ่ง ตกอยู่ที่ตัวเลขหกหลัก มิหนำซ้ำลูกค้าบางรายยังเป็นบริษัทในต่างประเทศ ทั้งที่ญี่ปุ่นและในยุโรป ทว่าหลังจากมีความเห็นไม่ตรงกันกับผู้ร่วมทุนอีกราย ทำให้สองสามีภรรยาเริ่มคิดถึงชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ชีวิตที่มีจุดหมายปลายทางอยู่กับบ้านและความเป็นจริง

          แม้การเดินทางครั้งใหม่จะไม่มีเงินทองและรายได้มากมายเหมือนถนนสายเก่า แต่ถนนสายนี้ก็มีบางสิ่งบางอย่างให้ทั้งคู่เก็บเกี่ยวอยู่ตลอดทาง เราเรียกบางสิ่งบางอย่างเหล่านั้นว่า "ความสุข"


          สามารถติดตามเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ในนิตยสาร ฅ คน ฉบับประจำเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2551


ข้อมูลและภาพประกอบจาก 
นิตยสาร ฅ คน ฉบับประจำเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2551  


 

นิตยสาร ฅ คน


 เรื่องจากปก
ซาไก เผ่าชนผู้ไม่รู้จักความกลัว

          ดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมมานานนับพันปี ในขณะที่โลกเบื้องนอกหมุนเปลี่ยนผันไปเร็วรี่ คุกคามเข้ามาถึงเทือกเขา หากวัดคุณค่าของชีวิตกันที่ความสุข ติดตามดูกันว่า อะไรที่คนป่ากลุ่มนี้มั่งคั่ง และอะไรที่คนนอกป่าอย่างเราขาดไป  

 สัมภาษณ์พิเศษ
วิถีพุทธ วิถีแห่งสากล

          ชยสาโรภิกขุ พระฝรั่งวัดป่า กับทัศนะที่ใสกระจ่างราวผลึกแก้ว ตรงดิ่งสู่หัวใจแห่งความเป็นพุทธ และหนทางแห่งความสงบ อันเป็นสากล 

 แฟชั่นชีวิต
แม่อิหล่าสิกินหยัง?

          อาหารอันโอชะมากคุณค่าซ่อนอยู่กลางทุ่ง ทำให้เขาและเธอ กรีดกรายในชุดเท่ นี่คือแฟชั่นชีวิตจากทุ่งกุลาร้องไห้ พาไปหาความอิ่มหนำบริบูรณ์กลางหน้าแล้ง ก่อนฝนมา 

 คนกับวิถี
วิถีคนพันธุ์กีตาร์

          ชายคนหนึ่งมีวันคืนอันมหัศจรรย์อยู่ที่ได้ทำกีตาร์ แต่ในวันธรรมดาๆ ของเขา คือการขับแท็กซี่ ไม่ได้ขับเพื่อเลี้ยงชีวิต แต่ยังขับเพื่อเลี้ยงความฝัน

 ของฝากนัก(อยาก)เขียน
บทบาทของอุดมคติ

          ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนอาวุโส และศิลปินแห่งชาติ ให้ความกรุณาบอกเล่าถึงคุณค่าที่แท้ของวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ยังคงอยู่ แม้จะผ่านยุคเผด็จการ มาถึงโลกบรรษัท และยุคทุนนิยมสุดขั้ว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถนนนี้กลับบ้าน ทางเลือกสายความสุขที่บ้านเกิด โพสต์เมื่อ 16 พฤษภาคม 2551 เวลา 11:15:21 14,120 อ่าน
TOP