สาวแชร์ชีวิตคนทำงาน เจ้านายไม่ชอบหน้า-ไล่ออก ไม่กี่สัปดาห์รู้เรื่อง ต้องตามมาง้อ

 
             สาวโดนบริษัทให้ออก หลังเจ้านายไม่ชอบหน้า แค่ 6 สัปดาห์ต้องกลับมาง้อ ขอร้องให้กลับไป พร้อมเงินเพิ่ม 50%

ให้ออกเอง สุดท้ายต้องตามง้อ
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับข้อมูล

              ในโลกการทำงานนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ การโยกย้ายตำแหน่งหรือการหาคนมาแทนที่ ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนายจ้าง หญิงมาเลเซียรายหนึ่งก็ได้สัมผัสถึงประสบการณ์นั้นมาแล้ว เมื่อลักษณะงานของเธอทำให้นายจ้างที่ไม่ถูกใจ มองว่าเป็นก้างชิ้นใหญ่ในการรับโปรเจกต์ต่าง ๆ แต่ใครจะคิดเลยว่าการไล่เธอออกจากงานจะไม่ใช่บทสรุป และสุดท้ายกลับเป็นฝ่ายนายจ้างที่ซมซานมาง้อให้เธอกลับไปทำงาน

              โดยรายงานจากเว็บไซต์เวิลด์ออฟบัซ เมื่อเดือนเมษายน 2567 เผยเรื่องราวจาก จัสมิน ผู้จัดการโปรเจกต์ของบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์แห่งหนึ่ง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้ออกมาเล่าเรื่องที่เธอถูกไล่ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม แต่เพียงแค่ 6 สัปดาห์ต่อมา ก็ได้รับการว่าจ้างให้กลับไปทำงานเดิมอีกครั้ง พร้อมเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 50%

              จัสมิน เล่าว่า เธอได้มีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโปรเจกต์พัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหมดของบริษัท และในอีก 2 ปีต่อมา บริษัทก็มีความมั่นคงมากขึ้น มีทั้งลูกค้าและงานประจำ

              จริง ๆ ในจุดนี้บริษัทควรจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือและระบบที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นในการทำงานได้แล้ว แต่พนักงานทุกคนยังต้องใชแล็ปท็อปส่วนตัว และไม่มีอุปกรณ์ในการสื่อสารหรือซอฟต์แวร์จัดการโปรเจกต์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ภายใน ดังนั้น จัสมินจึงสร้างระบบจัดการโปรเจก์ทั้งหมดขึ้น บนสเปรดชีตออนไลน์ของกูเกิล
 
              นอกจากนี้เธอยังสร้างชุดสมุดงานขึ้นมา ซึ่งแต่ละสมุดงานจะเชื่อมโยงไปยังสเปรดชีตต่าง ๆ รวมถึงโยงไปถึงสมุดงานอื่น ๆ หรือกล่าวคือเธอเป็นคนสร้างระบบจัดการโปรเจกต์ของบริษัทด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น ทำให้เธอเป็นเพียงคนเดียวที่เข้าใจความซับซ้อนในระบบ ตราบเท่าที่เธอคอยอัปเดตข้อมูล ก็จะสามารถปรับสมดุลของข้อกำหนดโครงการ กับทรัพยากรที่บริษัทมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ส่งมอบชิ้นงานได้
 
              แต่ข้อมูลที่เธอมี ทำให้เธอมักขัดแย้งกับทีมพัฒนาธุรกิจและเจ้าของบริษัทอยู่เสมอ เพราะเธอมักยืนกรานเรื่องกำหนดเดดไลน์ที่สามารถทำได้จริง เธอยังถูกคนอื่น ๆ ไม่ชอบหน้าและตวาดใส่ โดยอ้างว่าเธอทำให้พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการล้มโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่เธอยืนกรานว่าทำไม่ได้
 
              จัสมินชี้ว่า หากมองความเป็นจริง ความฝันอันสูงส่งของเจ้าของบริษัทนั้นไม่สามารถบรรลุได้ด้วยทรัพยากรและกำลังคนที่มี แต่เขายังอดทนกับเธอมาตลอด เพราะเธอเป็นคนช่วยป้องกันปัญหาต่าง ๆ มากมาย และยังมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์ ซึ่งบางครั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

              เมื่อเวลาผ่านไป เธอมีส่วนช่วยสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์แก่บริษัท ด้านการส่งมอบงานที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ตรงต่อเวลา และอยู่ภายใต้งบประมาณ

              แต่ปัญหาก็เริ่มขึ้นเมื่อทางบริษัทได้เซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหม่ 2 เจ้า ทำให้มีโปรเจกต์งอกมาอีก 3 โครงการ ระหว่างการประชุมเธอชี้แจงว่า เธอจำเป็นต้องรับพนักงานใหม่เพิ่มอีก 3 คน เพื่อช่วยจัดการ 9 โปรเจกต์ที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน แต่เจ้าของบริษัทไม่แฮปปี้ เขาอ้างว่าไม่มีเงินเหลือในงบประมาณแล้ว เพราะเขารู้ว่าการรับพนักงานเพิ่มหมายถึง ตัวเองจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการสรรหาคน รวมถึงเทรนพนักงานใหม่
 
              อย่างไรก็ตาม เจ้านายอาจจะลืมไปว่าเธอเป็นคนดูแลระบบจัดการโปรเจกต์ ซึ่งมีการคำนวณข้อมูลงบประมาณทั้งหมดสำหรับโปรเจกต์อยู่แล้ว รวมถึงกำลังคน เอกสารต่าง ๆ ล้วนสร้างขึ้นจากฐานข้อมูลที่เธอมี การมาบอกว่าไม่มีงบประมาณในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล เพราะเธอเห็นอยู่ชัด ๆ แล้วว่ามีเกินพอ แต่เธอก็เลือกจะปิดปากเงียบ ไม่ได้เถียงอะไร ทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องเอาตัวรอดจากงานอันหนักหน่วงให้ได้อีก 6 เดือน

รับคนใหม่มาแทนทั้งที่อ้างไม่มีงบ - ให้ออกจากงาน


              จัสมินเผยว่า สถานการณ์ของเธอเริ่มเลวร้ายลงก่อนช่วงตรุษจีนปี 2562 ตอนที่บริษัทไม่จ่ายโบนัสประจำปีแก่เธอ แถมไม่ขึ้นเงินเดือนให้ด้วย ทำให้เธอพอรู้ว่าจะถูกคนมาแทนที่ จากนั้นอยู่ ๆ ทางบริษัทก็รับพนักงานใหม่มาเข้าทีมของเธออีก 2 คน โดยที่มีเงินเดือนรวมกันอยู่ที่ 85% ของเธอ ทำให้จัสมินเริ่มรู้แล้วว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากล แต่เธอก็ไม่คิดจะฝืนสู้กับใคร แค่ตั้งใจเทรนพนักงานใหม่และทำงานของตัวเองต่อไป  
 
              กระทั่งวันที่เด็กใหม่ผ่านการทดลองงาน HR ได้เรียกเธอไปพบ ซึ่งเนื้อหาการพูดคุยไม่มีอะไรผิดคาด พวกเขาให้เธอออกจากงานพร้อมเสนอเงินชดเชยให้ รวมถึงให้เธอมี Garden leave หรือให้หยุดทำงานแต่ยังได้รับค่าตอบแทน ซึ่งเธอก็เลือกที่จะตอบรับและลงนามในเอกสารที่จำเป็น ไม่ได้ประท้วงเรื่องที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

แก้เผ็ดเล็ก ๆ แอบวางยาก่อนจากไป

 
              ในวันที่เธอลงนามเพื่อรับเงินชดเชยนั้นเอง จัสมินก็หยุดอัปเดตข้อมูลฟิลด์หนึ่งลงในสมุดงาน มันเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ท่ามกลางข้อมูลมากมายที่มีความจำเป็น แต่การที่ข้อมูลไม่ได้รับการอัปเดต ทำให้ผลที่ได้จากระบบคำนวณอัตโนมัติเริ่มไม่ถูกต้อง
 
              ข้อมูลที่ผิดพลาด เริ่มต้นจากการคลาดเคลื่อนเล็ก ๆ ในระดับจุดทศนิยม แต่จากนั้นก็จะยิ่งเลวร้ายขึ้น และส่งผลกระทบต่อการคำนวณอื่น ๆ ในสมุดงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกำหนดเดดไลน์ รายงานกิจกรรม การติดตามความคืบหน้า รวมถึงการประเมินค่าใช้จ่าย ล้วนมีความคลาดเคลื่อนในระดับที่ไม่สามารถสังเกตได้ และเมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ สิ่งเลวร้ายก็จะตามมา  
 
              จุดที่สร้างปัญหาเป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยตัวแปรของสูตรคำนวณ ที่ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะต้องมองหาจากจุดไหน การจะแก้ไขต้องอาศัยคนมาตรวจสอบข้อมูลทุก ๆ อย่าง ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายสิบชั่วโมง และต่อให้หาจุดที่เป็นปัญหาเจอ ก็คงไม่มีใครเข้าใจการทำงานของมัน นอกจากจัสมินที่เป็นคนสร้างระบบ

หายนะที่รออยู่ หลังจัสมินออกจากงาน

 
              เป็นไปตามคาดว่าบริษัทยังเดินหน้าต่อไป แบบร่วงลงเหว ในช่วงที่จัสมินต้องหยุดทำงาน จำนวนเงินในงบประมาณก็เริ่มคลาดเคลื่อนในระดับหลายร้อยริงกิต กำหนดการต่าง ๆ ในโปรเจกต์เริ่มเลื่อนไป 1-2 วัน แต่ก็ยังไม่ได้มีปัญหาใหญ่อะไร

              แต่จากนั้น ทางบริษัทก็ได้เจอลูกค้าใหม่หลายราย ทำให้มีอีกหลายโปรเจกต์งอกมา ซึ่งทั้งหมดนี้ทางเจ้าของบริษัทรอให้จัสมินออกไปก่อนจึงเริ่มทำ เพราะเขารู้ว่าเธอจะต้องคัดค้านและพยายามขัดขวาง เนื่องจากทางบริษัทมีกำลังคนไม่เพียงพอ
 
              หลังพ้นช่วง Garden leave จัสมินก็เตรียมที่จะเดินหน้าไปหาอะไรทำต่อ แต่เพียงแค่ 1 สัปดาห์หลังพ้นสถานะพนักงานอย่างเป็นทางการ รุ่นน้องคนหนึ่งก็โทร. มาขอความช่วยเหลือจากเธอ ซึ่งจัสมินได้ปฏิเสธไป

นายจ้างต้องง้อ จะขออะไรก็ให้หมด


              จากนั้น จัสมินก็ได้รีบอีเมลฉบับหนึ่งจากเจ้าของบริษัท ที่ส่งมาขอร้องเธออย่างสุภาพว่า "ได้โปรดกลับมา"
 
              ในจุดนี้เธอตกลงที่จะเข้าไปประเมินสถานการณ์ก่อน และตอนที่เธอได้ดูสเปรดชีต ก็พบว่าทุกอย่างดูเละเทะมาก เรียกว่าหากระบบจัดการโปรเจกต์ไม่สามารถใช้งานได้จริง พนักงานจะต้องถูกความกดดันและความเหนื่อยล้ากดทับจนเบิร์นเอาต์ อีกทั้งเธอคาดการณ์ว่าอีกแค่ 6 สัปดาห์ บริษัทก็จะต้องได้รับความกดดันจากการไม่สามารถส่งงานได้ทันเดดไลน์
 
              จากนั้นเธอก็นั่งคุยกับเจ้าของบริษัท ชี้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังพอสามารถกู้คืนได้ แต่เขามีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน ซึ่งเจ้าของบริษัทก็พร้อมรับทุกความต้องการที่เธอเรียกร้อง ทั้งการให้ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริการโปรเจกต์ ขึ้นเงินเดือน 50% ให้โบนัส 6 เดือน และขึ้นเงินเดือนทุกปีให้สอดรับกับค่าครองชีพ

              สุดท้ายเธอก็ได้กลับมาทำงานกับบริษัทเดิม ซึ่งเธอใช้เวลา 2-3 สัปดาห์จากนั้นในการควบคุมความเสียหาย และกู้ระบบการทำงานให้กลับมาเป็นปกติ และเรื่องก็จบลงอย่างแฮปปี้ โดยที่ตอนนี้ฝ่ายบริหารต้องรับฟังสิ่งที่เธอพูด หากเธอไม่ยอมให้โปรเจกต์ผ่าน  

              ทั้งนี้ จัสมินชี้ว่า หลายคนคงสงสัยว่าเธอไม่กลัวบริษัทหาคนมาแทนอีกหรือ แต่เธอคิดว่าพวกเขาได้รับบทเรียนแล้วว่าการปล่อยให้เธอทำงานต่อ จะเป็นประโยชน์กับพวกเขาที่สุด จริงอยู่ว่าตลาดงานตอนนี้มีคนที่พร้อมเข้ามาแทนที่คนเดิมได้เสมอ แต่หากเรารู้ชัดว่าตัวเองมีคุณค่าอะไรกับบริษัท ก็สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทจะตระหนักถึงคุณค่าของเราในที่สุด

ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก World of Buzz

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สาวแชร์ชีวิตคนทำงาน เจ้านายไม่ชอบหน้า-ไล่ออก ไม่กี่สัปดาห์รู้เรื่อง ต้องตามมาง้อ อัปเดตล่าสุด 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 14:24:55 85,728 อ่าน
TOP
x close