นักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เผยสาเหตุทำไมเครื่องบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ถึงตกหลุมอากาศ มาจากโลกร้อน ทำให้กระแสลมเปลี่ยนไป คาดปี 2025 จะเกิดหลุมอากาศ 40%

ภาพจาก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
กรณีที่สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศจนต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และมีผู้เสียชีวิต กลายเป็นข่าวใหญ่ที่หลายคนติดตาม เพราะอุบัติเหตุครั้งนี้รุนแรงมาก โดยเฉพาะการที่หล่นจากความสูง 3.7 หมื่นฟุต มาที่ 3.1 หมื่นฟุต
อ่านข่าว : เปิดภาพบนเครื่องบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ตกหลุมอากาศ ลงจอดฉุกเฉินสุวรรณภูมิ เสียชีวิต 1 เจ็บเพียบ
อ่านข่าว : เปิดข้อมูลการบิน เที่ยวบิน SQ321 กับรหัส Squawk สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ตกหลุมอากาศอย่างแรง
วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ของนายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย มีการโพสต์ถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่โลกร้อนขึ้น โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น มีเหตุผล 4 ข้อดังนี้

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat
1. เครื่องบินที่บินในซีกโลกตะวันตกหรือบินจากตะวันตกมาตะวันออก มีโอกาสตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น เพราะอุณหภูมิในบรรยากาศโลกที่สูงข้น ทำให้ลมกรด หรือ Jet Stream ที่เป็นลมในอุตสาหกรรมการบินแปรปรวน
2. Jet Stream เป็นลมกรดหรือกระแสลมที่ไหลเวียนในระดับความสูง 7-16 กิโลเมตร เหนือจากพื้นโลก มีความเร็วสูงมากถึง 200-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นลมที่พัดมาทางทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกของโลก ดังนั้น เครื่องบินบินจากตะวันตกมาตะวันออก ควรวางแผนการบินให้บินตามกระแสของ Jet Stream ช่วยทำให้เครื่องบินมีความเร็วเพิ่มขึ้น ประหยัดพลังงาน ใช้เวลาบินสั้นลง ส่วนการบินจากตะวันออกมาตะวันตกควรบินหลบ Jet Stream เพราะการสวนกระแสลมทำให้ใช้เวลาบินมากขึ้น
3. มีงานวิจัยระบุว่า อุณหภูมิในบรรยากาศทวีปอาร์คติกสูงขึ้นเกือบ 4 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก จากภาวะโลกร้อน กำลังส่งผลให้ Jet Stream มีความเร็วลดลง อากาศแปรปรวนขณะที่อยู่ในชั้นบรรยากาศที่ปลอดโปร่งมากขึ้น
ความเร็วที่ลดลงของ Jet Stream ทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศในช่วงบริเวณดังกล่าวบางลงจนเกิดหลุมอากาศขึ้น
เมื่อเครื่องบินบินผ่านหลุมอากาศ แรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกระทันหัน ทำให้ตัวเครื่องตกลงไปในหลุมอากาศ จะตกมาก ตกน้อยอยู่ที่ขนาดความหนาแน่นของมวลอากาศ
4. อัตราการเกิดหลุมอากาศจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในปี 2050 และมีเครื่องบินต้องเผชิญกับหลุมอากาศที่รุนแรงมากขึ้นถึง 40%

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat
หลุมอากาศคืออะไร
เฟซบุ๊ก IPST Thailand ของ สวทช. อธิบายว่า โดยปกติแล้ว อากาศบนท้องฟ้าจะมีความหนาแน่นเท่ากัน และเคลื่อนที่ไปสม่ำเสมอพร้อมกัน แต่ในบางครั้ง อากาศส่วนบนและส่วนล่างมีความเร็วในการเคลื่อนที่ต่างกัน หรือมีความหนาแน่นต่างกัน บริเวณรอยต่อจึงเกิดการปั่นป่วน และเคลื่อนที่คล้ายคลื่น เมื่อเครื่องบินผ่านจึงเกิดการสั่นสะเทือนเหมือนตกหลุมนั่นเอง
ดังนั้น นักบินจะศึกษาเส้นทางที่หลีกเลี่ยงการเกิดหลุมอากาศ แต่ถ้าเกิดตกหลุมอากาศจริง ๆ ความรุนแรงก็จะต่างกันไป บางครั้งเครื่องสั่น ถ้ารุนแรงมากก็อาจเกิดความเสียหายของข้าวของภายในเครื่องได้ ผู้โดยสารทุกคนจึงต้องรัดเข็มขัดนิรภัยบนเครื่องทุกครั้ง

ภาพจาก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

ภาพจาก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว