รู้ไว้ไม่งง ! รวมตัวย่อจากก๊าซธรรมชาติ เห็นปุ๊บตอบได้ปั๊บ

รวมคำศัพท์ที่มีต้นกำเนิดมาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถูกเรียกแตกต่างกันไปตามการใช้งาน มีอะไรบ้าง และแตกต่างกันยังไง วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก ! 

ตัวย่อจากก๊าซธรรมชาติ

ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) เป็นหนึ่งในพลังงานสำคัญที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมายในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงในชีวิตประจำวัน แต่ทว่ากลับเรียกชื่อต่างกันไปตามการใช้งาน แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าผลิตภัณฑ์ไหนมาจากก๊าซธรรมชาติบ้าง ไปดูกันเลย

ก๊าซธรรมชาติ คืออะไร

ก๊าซธรรมชาติ

ก๊าซธรรมชาติ หรือ NG หรือ Natural Gas คือ ปิโตรเลียมธรรมชาติที่อยู่ในรูปแบบของก๊าซ มีก๊าซไฮโดรคาร์บอนเป็นส่วนผสมหลัก ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที เพราะต้องนำไปแยกองค์ประกอบและสิ่งเจือปนออกก่อน

แต่ละชนิดใช้ต่างกันยังไง ?

การขนส่งก๊าซธรรมชาติ

LNG : Liquefied Natural Gas (ก๊าซธรรมชาติเหลว)

LNG เป็นก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูปให้อยู่ในสถานะของเหลว เพื่อให้ขนส่งทางไกลได้ง่ายขึ้น โดยการลดอุณหภูมิลงมาที่ -160 องศาเซลเซียส และมีปริมาตรน้อยลง 600 เท่า

LPG : Liquefied Petroleum Gas (ก๊าซปิโตรเลียมเหลว/ก๊าซหุงต้ม)

LPG เป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วยก๊าซโพรเพนและบิวเทนเป็นหลัก ใช้เป็นก๊าซหุงต้มในบ้านเรือน และเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม มีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศ ลุกไหม้ได้ง่าย ไม่มีเขม่าหรือขี้เถ้า มีเปลวไฟให้ความร้อนสูง

CNG : Compressed Natural Gas (ก๊าซธรรมชาติอัด)

CNG หรือมีอีกชื่อว่า Natural Gas for Vehicle (NGV) คือ การนำก๊าซธรรมชาติมาเพิ่มความดันประมาณ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อให้สามารถบรรจุลงถังก๊าซรถยนต์ได้มากขึ้น มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ มีคาร์บอนต่ำกว่า ปล่อยไอเสียน้อย ติดไฟยากกว่า LPG และไม่มีผลกระทบกับเครื่องยนต์

NGL : Natural Gas Liquid (ก๊าซโซลีนธรรมชาติ)

NGL เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ โดยมีองค์ประกอบตั้งแต่เพนเทนเป็นต้นไป อยู่ในรูปแบบของไฮโดรคาร์บอนเหลว สามารถนำไปกลั่นเป็นน้ำมันเบนซิน และใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้

หน่วยวัดก๊าซธรรมชาติ

การแปรรูปก๊าซธรรมชาติ

การวัดค่าก๊าซธรรมชาติมีทั้งแบบที่ใช้ปริมาตร ค่าความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง รวมไปถึงการนำไปเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำมัน เพื่อใช้ในการสื่อสารและรายงานค่าต่าง ๆ เช่น ปริมาณสำรอง ปริมาณที่นำไปใช้ ปริมาณการซื้อ-ขาย เพราะโดยปกติแล้วก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมักจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้

หน่วยวัดค่าความร้อน

  • kcal (Kilocalories) : กิโลแคลอรี   
  • kBtu (Kilo British thermal unit) : พันบีทียู
  • MJ (Megajoule) : เมกะจูล
  • MMBtu (Million British thermal unit) : ล้านบีทียู

หน่วยวัดปริมาตร

  • scf (Standard cubic feet) : ลูกบาศก์ฟุตมาตรฐาน           
  • BCF (Billion standard cubic feet) : พันล้านลูกบาศก์ฟุต        
  • MMSCFD (Million standard cubic feet per day) : ล้านลูกบาศก์ฟุตมาตรฐานต่อวัน
  • BCM (Billion cubic metres) : พันล้านลูกบาศก์เมตร

หน่วยวัดมวล

  • MTPA (Million Tonne per Annum) : ล้านตันต่อปี

เปรียบเทียบกับน้ำมัน

  • toe (Tonne of oil equivalent) : ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

ก๊าซธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดเชื้อเพลิงหลากหลายประเภทเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นก๊าซหุงต้มในบ้านเรือน ไปจนถึงเชื้อเพลิงในยานยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม เพียงแต่ต่างสถานะ ต่างองค์ประกอบ และการนำไปใช้ประโยชน์นั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ไว้ไม่งง ! รวมตัวย่อจากก๊าซธรรมชาติ เห็นปุ๊บตอบได้ปั๊บ อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2567 เวลา 00:20:26 13,017 อ่าน
TOP