นักข่าวไทยพีบีเอส สำรวจจุดที่น้ำท่วม เมื่อ 21 สิงหาคม ล่าสุดน้ำลดแล้ว แต่นาข้าวกลับไม่เสียหายมาก คาดสาเหตุมาจากพันธุ์ข้าวที่ใช้ สู้น้ำท่วมฉับพลัน ได้รับการพัฒนาแล้ว
ภาพจาก ไทยพีบีเอส
วันที่ 25 สิงหาคม 2567 ไทยพีบีเอส รายงานว่า คุณโกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส กลับไปดูความเสียหายน้ำป่าที่ไหลเข้าท่วมนาข้าวของชาวบ้านใน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม และเมื่อกลับไปสำรวจอีกครั้งในวันที่ 24 สิงหาคม ก็พบว่าน้ำป่าได้หายไปแล้ว แต่สิ่งที่แทบไม่น่าเชื่อคือ ต้นข้าว ต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ยังคงอยู่ และแทบมองไม่เห็นโคลนเลย
เรื่องนี้ได้มีคนมาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย จะเห็นว่าในวันเกิดเหตุน้ำป่าไหลลงมาจากเทือกเขาต่าง ๆ มีความขุ่น เข้ม และมีปริมาณมหาศาล ไหลผ่านในจุดนี้ น้ำมาประมาณ 2-3 วัน มาเร็วและไปเร็ว พร้อมกับชะล้างโคลนไปด้วย และแปลงข้าวได้รับความเสียหายไม่มาก โดยคาดว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านเลือกปลูก ซึ่งก็คือ ข้าว กข 51
ภาพจาก ไทยพีบีเอส
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการข้าว ระบุว่า ข้าว กข51 เป็นข้าวผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ ผสมกับ ข้าวสายพันธุ์ IR49830-7-1-2-2 ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่คัดจากศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ประเทศฟิลิปปินส์ มีคุณสมบัติที่ดีมาก ๆ คือ สามารถต้านทานน้ำท่วมฉับพลันได้ดี โดยเฉพาะในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น โดยข้าวสามารถมีชีวิตรอดภายใต้สภาพจมใต้น้ำได้ถึง 12 วัน และหลังจากที่น้ำลด ยังสามารถฟื้นตัวและให้ผลผลิตได้ดีกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ถึง 82 เปอร์เซ็นต์ และในสภาพนาน้ำฝนทั่วไป ให้ผลผลิตใกล้เคียงกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
ในส่วนลักษณะทางการเกษตร อายุเก็บเกี่ยว คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ เคมี การหุงต้ม การรับประทาน ความหอม ใกล้เคียงกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพื้นที่ที่แนะนำให้ปลูกนั้น จะอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลันในภาพตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน
ภาพจาก ไทยพีบีเอส