รู้จัก วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) วันสำคัญสากล เพื่อให้ผู้คนได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ
ปัญหา
สุขภาพจิต เป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักและเห็นความสำคัญ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation Mental Health : WFMH) กำหนดให้
วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี เป็น
วันสุขภาพจิตโลก (
World Mental Health Day : WMHDAY) เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ
10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก
(World Mental Health Day : WMHDAY)
ประวัติและที่มาวันสุขภาพจิตโลก
วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ได้รับการริเริ่มจากองค์การสหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health : WFMH) ร่วมกับสมาคมนานาชาติ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย (International Association for Suicide Prevention : IASP) สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เกิดขึ้นครั้งแรกวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2535
วันสุขภาพจิตโลก จึงเป็นวันที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปัญหาสุขภาพจิตทั่วโลกร่วมจัดกิจกรรมเสวนา หรือฟื้นฟูผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตและผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยวันสุขภาพจิตโลกได้รับการเฉลิมฉลองเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งในช่วงแรก ๆ ยังไม่มีธีมเฉพาะเจาะจงอื่นใด นอกจากการส่งเสริมการรณรงค์ด้านสุขภาพจิตทั่วไปและการให้ความรู้แก่ประชาชน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 วันสุขภาพจิตโลกได้รับการเฉลิมฉลองด้วยหัวข้อเป็นครั้งแรก โดยมีหัวข้อคือ การปรับปรุงคุณภาพบริการสุขภาพจิตทั่วโลก และหลังจากนั้นในแต่ละปีก็จะมีธีมเฉพาะเจาะจงที่แตกต่างกันไป เช่น ปัญหาสุขภาพจิตในสตรี (พ.ศ. 2539), ปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก (พ.ศ. 2540), เยาวชนและสุขภาพจิตในโลกที่เปลี่ยนแปลง (ปี พ.ศ. 2561) การส่งเสริมสุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตาย (ปี พ.ศ. 2562) และการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนเป็นลำดับความสำคัญระดับโลก (ปี พ.ศ. 2565) เป็นต้น
วันสุขภาพจิตโลก 2567 (World Mental Health Day 2024)
สำหรับประเด็นหลักในวันสุขภาพจิตโลก ปี พ.ศ. 2567 หรือ World Mental Health Day 2024 คือ สุขภาพจิตในที่ทำงาน (Mental Health at Work) โดยองค์การอนามัยโลกได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างสุขภาพจิตและการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ สามารถทำหน้าที่เป็นปัจจัยป้องกันสุขภาพจิตได้ ทั้งนี้ สภาพที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต เช่น การถูกทำให้อับอาย การเลือกปฏิบัติ และการเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การถูกคุกคามและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่อื่น ๆ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตโดยรวม และส่งผลต่อการมีส่วนร่วมหรือประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาถึง 60% ของแต่ละวันอยู่ในที่ทำงาน จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่างานป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต และปกป้องและสนับสนุนสุขภาพจิตในที่ทำงาน
จะเข้าร่วมวันสุขภาพจิตโลกได้อย่างไร ?
ในวันสุขภาพจิตโลก เราสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนสุขภาพจิตได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
-
เริ่มการสนทนา: เริ่มต้นพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตกับเพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน เพื่อลดการถูกด้อยค่าและสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการสนทนา
-
เข้าร่วมเวิร์กช็อปด้านสุขภาพจิต: ค้นหาเวิร์กช็อป การอบรมสัมมนา หรืออีเวนต์ในชุมชน ที่เน้นการตระหนักรู้และความเป็นอยู่ที่ดีด้านสุขภาพจิต
-
แบ่งปันทรัพยากร: แบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพจิต บทความ และข้อมูลสายด่วนบนโซเชียลมีเดียและเครือข่ายของคุณ
-
สนับสนุนองค์กรด้านสุขภาพจิต: พิจารณาบริจาคหรือสมัครเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรที่อุทิศตนเพื่อการสนับสนุนและสนับสนุนด้านสุขภาพจิต
-
ฝึกการดูแลตนเอง: ใช้เวลาทำกิจกรรมดูแลตนเองที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ เช่น การมีสติ การออกกำลังกาย หรือการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ
-
เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุน: หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิต ควรเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนเพื่อขอคำแนะนำ หรือพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำต่อไป
ปัญหาของสุขภาพจิต มีความสำคัญต่อทุกมิติชีวิตและทุกด้านของผู้คน รวมไปถึงส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในสังคมด้วย หากใครกำลังมีปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน หรือเริ่มรู้สึกถึงสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความเครียดในที่ทำงาน ไม่ควรปล่อยไว้เฉย ๆ ควรรีบทำการรักษาเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมต่อได้
เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ
บทความ สุขภาพจิต อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง