เปิดภาพสิ่งมีชีวิตปริศนา ขนยุบยับ พลิกตัวบนพื้นทราย มีคนเฉลยให้ อย่าเผลอเหยียบเชียว


          นี่ตัวอะไร เปิดภาพสิ่งมีชีวิตปริศนา ก้อนเล็ก ๆ มีขนยุบยับ พลิกตัวได้บนริมชายหาด ผู้เชี่ยวชาญมีคำตอบ พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล ใครเจออย่าเผลอเหยียบ


สิ่งมีชีวิตปริศนา
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Wutthichai Mainui 

          เป็นโพสต์ที่ได้รับความสนใจบนโลกออนไลน์ในขณะนี้ หลังจากวันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2568) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wutthichai Mainui ได้โพสต์คลิปของสิ่งมีชีวิตปริศนา ลงในกลุ่ม "นี่ตัวอะไร" เพื่อสอบถามเหล่าผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มว่าเจ้าตัวที่อยู่ในคลิปนี้คือตัวอะไรกันแน่ ซึ่งจากคลิปเผยให้เห็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่กำลังพลิกตัวอยู่บนริมชายหาด บนตัวมีขนยุบยับ มองผ่าน ๆ คล้ายกาบมะพร้าว

          ต่อมา มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยมีคนให้ข้อมูลว่า สิ่งมีชีวิตตัวนี้น่าจะเป็นกลุ่มเม่นหัวใจ เป็นเม่นทะเลรูปทรงคล้ายหัวใจ อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลนั่นเอง ซึ่งก็มีบางคนมองว่า หากใครไม่รู้เผลอไปเหยียบเข้าคือเสร็จเลย

สิ่งมีชีวิตในทะเล
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Wutthichai Mainui 

          ข้อมูลจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) ระบุว่า เม่นหัวใจ (Heart urchin) เป็นเม่นทะเลชนิดหนึ่ง อยู่ในไฟลัมเอไคโนเดอร์มาตา (Echinodermata) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีรูปร่างเป็นรูปหยดน้ำ มองคล้ายรูปหัวใจ โครงสร้างค่อนข้างเปราะบาง ประกอบด้วยแคลเซียม หินปูน และสารประกอบอินทรีย์ ภายนอกประกอบด้วยหนาม กระจายอยู่รอบตัว บางชนิดมีหนามสั้น บางชนิดมีหนามยาว กลางลำตัวมีร่องชัดเจน ด้านล่างแบนราบ ส่วนหน้าลำตัวจะเป็นด้านฐานของหยดน้ำ และส่วนท้ายลำตัวเป็นปลายหยดน้ำ ปากอยู่ทางส่วนหน้า ทวารหนักอยู่ทางส่วนท้ายลำตัว มีเท้าเป็นท่อพ่นน้ำใช้ในการเคลื่อนที่ และยังใช้ท่อเท้านี้ร่วมกับขนหนามในการขุดฝังตัวอยู่ใต้พื้นทราย

          เม่นทะเลสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ แบ่งแยกเพศผู้และเพศเมีย ดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระ กินอาหารได้หลากหลายชนิดทั้งพืชและสัตว์ แต่ชอบสาหร่ายทะเลเป็นพิเศษ ในภาวะขาดแคลนอาหาร อาจกินพวกเดียวกันเป็นอาหาร

          การพบเจอเม่นหัวใจ สามารถพบได้ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มักจะฝังตัวตามพื้นทรายในท้องทะเล สำหรับบริเวณชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีรายงานพบเม่นหัวใจบริเวณหาดทรายรี และหาดทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร

          สำหรับผู้ที่โดนหนามเม่นทะเลตำ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ใช้น้ำส้มสายชูราด หรือผ้าชุบน้ำส้มสายชูเปียกชุ่มประคบบริเวณที่หนามเม่นทะเลตำ จะทำให้สารประกอบไคตินที่หนามละลายได้ในกรด และหากทำการประคบร้อนหรือแช่ในน้ำอุ่นจะช่วยให้สารประกอบโปรตีนโซโปนิน สลายตัวได้เร็วขึ้น ช่วยให้อาการเจ็บปวดลดลงและจะหายเป็นปกติ

          สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้การปวดไม่ลดลง หรือมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวมแดง ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

เม่นหัวใจ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Wutthichai Mainui 


ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร)


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดภาพสิ่งมีชีวิตปริศนา ขนยุบยับ พลิกตัวบนพื้นทราย มีคนเฉลยให้ อย่าเผลอเหยียบเชียว อัปเดตล่าสุด 8 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 19:58:38 8,871 อ่าน
TOP
x close