รวมมาให้แล้วทำไมไทยไม่กำหนดราคาน้ำมันเอง และจะรับมืออย่างไรดีในวันที่ราคาน้ำมันผันผวน

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมราคาน้ำมันไม่นิ่งเหมือนสินค้าอื่น ๆ ต้องมีการปรับขึ้น-ลงทุกวันตามตลาดโลก
ทั้ง ๆ ที่ไทยมีแหล่งน้ำมันดิบและมีโรงกลั่นผลิตน้ำมันสำเร็จรูปใช้ในประเทศเองได้ วันนี้มาไขข้อข้องใจเรื่องการปรับราคาน้ำมันไทยในแต่ละวันว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง จะได้วางแผนการเดินทางและใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้อง
น้ำมันสำคัญต่อชีวิตอย่างไร ?
เพราะทุกคนมีการเดินทางตลอด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสาร เรือ หรือแม้กระทั่งเครื่องบิน น้ำมันกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังเป็นต้นทุนในการขนส่งสินค้าที่ส่งผลกระทบกับราคาของสินค้าอุปโภค-บริโภคด้วย
ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันขึ้นก็ส่งผลให้ค่าเดินทางและค่าครองชีพแพง ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันลง ต้นทุนหลายอย่างก็ลดลง ทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น ราคาน้ำมันจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสนใจ เพราะมีผลต่อชีวิตของเราหลายด้าน
ทำไมต้องอิงราคาน้ำมันตามตลาดโลก ?

น้ำมันเป็นสินค้าสากล (Global Commodity) ที่มีการซื้อ-ขายกันในระดับโลก โดยใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่มีความแตกต่างในเชิงคุณภาพที่ขึ้นอยู่กับแหล่งผลิต ซึ่งแหล่งน้ำมันดิบอ้างอิงที่สำคัญของโลกมี 3 แห่ง คือ
- Dubai : เป็นน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง
- Brent : มีแหล่งผลิตอยู่ในทะเลเหนือ โดยอยู่ระหว่างเกาะอังกฤษและคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย
- West Texas Intermediate (WTI) : เป็นน้ำมันดิบอ้างอิงที่สำคัญในทวีปอเมริกา
ส่วนตลาดกลางในการซื้อ-ขายน้ำมันและนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการอ้างอิงราคา เพราะมีความน่าเชื่อถือและมีปริมาณการซื้อ-ขายสูง มี 3 แหล่งเช่นกัน ได้แก่
- New York Mercantile Exchange (NYMEX) : หรือตลาดนิวยอร์ก เป็นตลาดซื้อ-ขายล่วงหน้าที่สำคัญที่สุดสำหรับน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป โดยใช้ราคาที่สะท้อนความต้องการในอเมริกาเหนือเป็นหลัก
- Intercontinental Exchange (ICE) : หรือตลาดลอนดอน เป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายน้ำมันในยุโรป โดยราคาจากตลาดนี้มักสะท้อนถึงความต้องการในยุโรป แอฟริกา และบางส่วนของเอเชีย
- Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) : หรือตลาดสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการค้าและกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยใช้ราคาที่สะท้อนความต้องการน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และจีน
ราคาน้ำมันโลกขึ้น-ลงอย่างไร ?
อุปสงค์-อุปทาน
ถ้าอุปสงค์สูงหรือคนต้องการใช้น้ำมันเยอะ แต่มีอุปทานน้อยหรือไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันสูง ในทางกลับกัน ถ้าอุปสงค์ต่ำ แต่อุปทานสูงหรือกำลังการผลิตเยอะ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันลด
นโยบายของกลุ่ม OPEC และประเทศผู้ผลิตน้ำมัน
เพราะกลุ่ม OPEC มีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาและสามารถควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลกได้ หาก OPEC และประเทศผู้ผลิต ลดกำลังการผลิต ราคาน้ำมันก็จะเพิ่มสูง แต่หากเพิ่มกำลังการผลิตก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้
เหตุการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก
ไม่ว่าจะเป็นสงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็มีผลกับราคาน้ำมัน เพราะมีผลกระทบกับอุปสงค์-อุปทานเช่นเดียวกัน โดยหากเกิดความขัดแย้งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันและทำให้กำลังการผลิตลดลง ราคาน้ำมันก็จะสูงขึ้น แต่ถ้ามีวิกฤตเศรษฐกิจโลก คนใช้พลังงานน้อย ก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลง
น้ำมันไทยมาจากไหน
ทำไมต้องปรับราคาตามตลาดโลก ?

แหล่งน้ำมันดิบในไทยผลิตได้เพียง 15-20% ของความต้องการใช้ทั้งหมด เลยทำให้ต้องนำเข้ามาเพิ่มจากต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลางและเอเชียแปซิฟิก อีกประมาณ 80-85% เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของคนในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและจำนวนประชากร
ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยก็อิงตามตลาดสิงคโปร์ หรือ Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) เพราะเป็นตลาดกลางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีปริมาณการซื้อ-ขายสูง ทำให้ราคาเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และสะท้อนสภาพตลาด รวมถึงภาวะอุปสงค์-อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีการกำหนดมาตรฐานราคาอย่างเป็นระบบ ได้รับการยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ยังมีความใกล้ชิดกับไทยในด้านภูมิศาสตร์ ทำให้เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงราคาน้ำมันที่เหมาะสมที่สุดสำหรับราคาน้ำมันไทย รวมทั้งอีกหลายประเทศในทวีปเอเชีย
เนื่องจากโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกของไทยมีต้นทุนเนื้อน้ำมันสูงถึง 40-60% หากราคาในส่วนนี้ที่อ้างอิงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ราคาขายปลีกน้ำมันในไทยก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการเชื่อมโยงกับราคาสากลแบบนี้ก็จะช่วยสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ความโปร่งใสของกลไกการตลาด การแข่งขันที่เป็นธรรม และการบริหารความเสี่ยงด้านอุปทาน ที่ทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภค สามารถปรับตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไทยกำหนดราคาน้ำมันเองได้ไหม ?
ถ้าไทยกำหนดราคาน้ำมันให้ต่ำกว่าตลาดโลก ไม่อ้างอิงราคาสากล ในระยะสั้นอาจช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้ แต่ในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพพลังงานของประเทศ ดังนี้
- ผู้ค้าจะไม่อยากนำเข้าน้ำมัน และโรงกลั่นขาดแรงจูงใจในการลงทุนและผลิตน้ำมัน เพราะเกิดการขาดทุน จากนั้นก็จะทำให้การนำเข้าน้ำมันน้อยลง และมีปริมาณน้ำมันในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ
- ภาระทางการเงินของรัฐบาลเพิ่มขึ้น จากการนำงบไปอุดหนุนราคาน้ำมันให้กับผู้ผลิตเป็นเวลานาน ทำให้กองทุนน้ำมันอาจหมดลง หรือรัฐต้องกู้เงินเพื่อนำมาชดเชย ส่งผลต่อหนี้สาธารณะ
- ผู้ผลิตจะให้ความสำคัญกับการส่งออก หรือเกิดการลักลอบนำออกไปขายต่างประเทศ เพราะได้ราคาสูงกว่า ทำให้น้ำมันในประเทศขาดแคลน
- เกิดการกักตุนน้ำมัน เพื่อนำออกมาขายต่อในช่วงที่ราคาสูงและตลาดมืด ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม
ถ้าไทยกำหนดราคาน้ำมันสูงกว่าตลาดโลก ไม่อ้างอิงราคาสากล ก็จะทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ดังนี้
- ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพสูงขึ้น จากราคาสินค้าและค่าบริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง
- อุตสาหกรรมและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และทำให้การท่องเที่ยวลดลง
- รัฐบาลอาจต้องใช้มาตรการในการแทรกแซงการอุดหนุนราคาน้ำมัน ลดภาษีสรรพสามิต และสนับสนุนพลังงานทางเลือกและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า หรือ EV
- เกิดการลักลอบนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า ทำให้ไทยสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจทำให้ไทยขาดดุลการค้าและทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
รับมือกับราคาน้ำมันผันผวนอย่างไร ?
ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น-ลงตามตลาดโลกส่งผลหลายด้าน ทั้งประชาชน ธุรกิจ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม ฉะนั้นควรทำความเข้าใจและปรับตัว ก็จะช่วยลดผลกระทบได้อย่างยั่งยืน ดังนี้
ปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานให้คุ้มค่า
- ขับรถแบบ Eco-Driving : โดยการควบคุมความเร็วให้เหมาะสม (80-100 กม./ชม.) หลีกเลี่ยงการเร่งและเบรกกะทันหัน ดับเครื่องยนต์เมื่อจอดนานเกิน 5 นาที
- บำรุงรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ : ตรวจลมยางให้เหมาะสมเพื่อลดแรงเสียดทาน เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองตามระยะ ใช้เชื้อเพลิงให้เหมาะกับรถ
- เลือกเดินทางให้มีประสิทธิภาพ : วางแผนเส้นทางล่วงหน้า หลีกเลี่ยงรถติด ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ และใช้แอปพลิเคชันแชร์รถ หรือ Carpooling
เลือกใช้พลังงานทางเลือก
เช่น การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือรถยนต์ไฮบริด หรือการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ที่ช่วยเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในบ้าน
วางแผนงบประมาณรับมือค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาตามมาทีหลัง เช่น ติดตามราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ควบคุมการเดินทางเพื่อลดการใช้น้ำมัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยี เช่น การประชุมออนไลน์ เพื่อลดการเดินทาง
เนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้าสากลที่มีการซื้อ-ขายในระดับโลก ดังนั้น เพื่อความสมดุลด้านการค้า ป้องกันการเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพพลังงาน น้ำมันไทยจึงต้องอิงราคาตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดกลางของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีการกำหนดราคาอย่างเป็นระบบ โปร่งใส ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในเอเชีย