ประวัติ เขาพระวิหาร

เขาพระวิหาร
เขาพระวิหาร
เขาพระวิหาร
เขาพระวิหาร
เขาพระวิหาร
เขาพระวิหาร
เขาพระวิหาร
เขาพระวิหาร



เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต 


          กลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ให้พูดถึงไม่รู้จบจริงๆ สำหรับ "เขาพระวิหาร" หรือ "ปราสาทเขาพระวิหาร" จนทำให้หลายๆ คนอยากรู้ประวัติ ว่า "เขาพระวิหาร" แห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร และกำลังกลายเป็นว่าที่มรดกโลกได้อย่างไร…? แล้วไทยกับกัมพูชามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับประวัติศาสตร์เขาพระวิหารแห่งนี้…วันนี้เรามีคำตอบมาเฉลยค่ะ และจะพาย้อนตำนานไปศึกษาประวัติเขาพระวิหารกัน ... อย่ารอช้ารีบตามเข้ามาเลยค่ะ

          เขาพระวิหาร หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม "ปราสาทเขาพระวิหาร" (Prasat Preah Vihear) และที่ประเทศกัมพูชาเรียกขานว่า "เปรี๊ยะวิเฮียร์" เป็นปราสาทหินตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างบ้านสรายจร็อม อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ของประเทศกัมพูชา และบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร 

          เขาพระวิหาร เป็นบริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนพื้นเมืองสมัยก่อน ในกษัตริย์ชัยวรมันที่ 2 ได้กำหนดเขตบริเวณนี้และเรียกชื่อว่า "ภวาลัย" ภายหลังปรากฏชื่อในจารึกภาษาสันสกฤตว่า "ศรีศิขรีศวร" หมายความว่า "ผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาอันประเสริฐ" ตั้งอยู่บนยอดเขาในเทือกเขาพนมดงรัก ตามแนวเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา จากหลักฐานต่างๆ คาดว่าสร้างในปี พ.ศ.1432-1443 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เพื่อใช้เป็นสถานที่สักการะตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ โดยสมมติให้เปรียบเสมือน "เขาพระสุเมรุ" (ศูนย์กลางของจักรวาล) โดยการสร้างนั้นก็มีเหตุผลในการรวบรวมอำนาจและความเชื่อของคนในละแวกนั้นเข้าด้วยกัน เพราะในอดีตแถบนั้นมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกัน พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จึงโปรดให้สร้างเขาพระวิหารขึ้น เพื่อเป็นจุดยึดเหนี่ยวและศูนย์รวมจิตใจของ ชาวบ้านซึ่งจะทำให้การปกครองง่ายขึ้นด้วย


ปราสาทเขาพระวิหาร

          "ปราสาทเขาพระวิหาร" หรือ "ปราสาทพระวิหาร" เป็นโบราณสถานที่มีความงดงาม โดดเด่นอยู่เหนือเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร ปราสาทเขาพระวิหารเป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ "ศรีศิขเรศร" เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก มีความยาว 800 เมตร ตามแนวเหนือใต้ ส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาวและบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตรจากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท, 525 เมตรจากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับ)

          ปราสาทเขาพระวิหารประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก ทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ ซึ่งเทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้น เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ครั้น และปราสาทเขาพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพชนของ "ขะแมร์กัมพูชา" (ขอม) แต่โบราณ ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ซึ่งขะแมร์กัมพูชาก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่ 1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่ 2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง) 

          ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ (ซุ้มประตู) คั่นอยู่ 5 ชั้น (โคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้าจะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแลเห็นโครงสร้างปราสาททั้งหมดจากมุมใดมุมหนึ่งได้

          เดิมทีปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตการปกครองของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ (ค.ศ.1899, ร.ศ.-118) และเมื่อ พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จไปยังปราสาทแห่งนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร" ซึ่งพระองค์ได้จารึก ร.ศ. และพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า 118 สรรพสิทธิ 

          ต่อมาเมื่อปี 2450 จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส (ปกครองเขมรขณะนั้น) อาศัยแสนยานุภาพทางทหารบีบให้รัฐบาลสยาม (ไทย) ยอมเขียนแผนที่กำหนดให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ในการทำสนธิสัญญาเพิ่มเติม รัฐบาลสยามก็ยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศษสร้างขึ้นมาแต่โดยดีโดยมิได้ทักท้วง (ซึ่งแต่เดิมถ้าแบ่งตามสันปันน้ำเทือกเขาพนมดงรัก เขาพระวิหารจะอยู่ในฝั่งไทยแต่พอแบ่งตามแผนที่ใหม่ของปี 1907จะอยู่ในฝั่งกัมพูชา) อาจจะเป็นเพราะฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจอยู่ในขณะนั้น และคนไทยก็ยังสามารถเข้าไปยังปราสาทเขาพระวิหารได้โดยง่าย 

          ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะตามสนธิสัญญาเดิม พ.ศ.2447 หรือตามสภาพภูมิศาสตร์ กำหนดให้อยู่ในดินแดนของไทยอย่างชัดเจน จนวันที่ 6 ตุลาคม 2502 รัฐบาลเจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา ภายใต้การหนุนหลังของฝรั่งเศส ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก ขอให้ไทยถอนกองกำลังทหารออกจากเขาพระวิหาร และขอให้ศาลชี้ขาดว่าอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารคืน (ยื่นฟ้องทั้งหมด 73 ครั้ง) ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง โดยบริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่


ลักษณะสำคัญของปราสาทเขาพระวิหารจะประกอบด้วย...

          1. บันไดดินด้านหน้าของปราสาท ซึ่งบันไดดินด้านหน้าเป็นทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาท ลาดตามไหล่เขา บางชั้นสกัดหินลงไปในภูเขา มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร มีจำนวน162 ขั้น สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก (กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้) ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์ทวาร-บาล (ทะ-วา-ละ-บาน) เพื่อเฝ้าดูแลรักษาเส้นทาง

         2. สะพานนาคราช หรือ ลานนาคราช อยู่ทางทิศใต้ของบันไดหินด้านหน้า ปูด้วยแผ่นหินเรียบ มีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตร สองข้างสะพานนาคราชสร้างเป็นฐานเตี้ยๆ บนฐานมีนาคราช 7 เศียร จำนวน 2 ตัว แผ่พังพานหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลำตัวอยู่บนฐานทั้งสอง ทอดไปทางทิศใต้ ส่วนหางของนาคราชชูขึ้นเล็กน้อย นาคราชทั้งสองตัวเป็นนาคราชที่ยังไม่มีรัศมีเข้ามา ประกอบมีลักษณะคล้ายๆ งูตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอม แบบปาปวน 


ลานนาคราช



          3. โคปุระ (ซุ้มประตู)ชั้นที่ 5 จะมีภาพวาดโดยปามังติเอร์อยู่ สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานสูง 1.8 เมตร บันไดหน้าประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศตั้งรูปสิงห์นั่ง เสาโคปุระสูง 3.5 เมตร เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ ยังมีร่องรอยสีแดงที่เคยประดับตกแต่งตัวปราสาทเอาไว้ แต่ส่วนหลังคากระเบื้องนั้นหายไปหมดแล้ว บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 5 อยู่ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน ทางทิศตะวันออกของโคปุระชั้นที่ 5 มีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอน ยาว 340 เมตรถึงไหล่เขา 

          4. โคปุระ (ซุ้มประตู)ชั้นที่ 4(ปราสาทหลังที่ 2) จะภาพของการกวนเกษียณสมุทร ณ เขาพระวิหาร ถือเป็น "หนึ่งในผลงานชิ้นเอกอุของปราสาทเขาพระวิหาร" ทับหลังเป็นภาพของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนืออนันตนาคราช ซึ่งทางดำเนินจากโคปุระ ชั้นที่ 5 มาเป็นลานหินกว้างประมาณ 7 เมตร สองข้างจะมีเสานางเรียงตั้งอยู่ทั้งสองด้าน แต่ก็มีปรักหักพังไปมาก โคปุระชั้นที่ 4 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว ยาว 39 เมตรจากตะวันออกไปตะวันตก กว้าง 29.5 เมตร จากเหนือไปใต้ เป็นศิลปะสมัยหลังโคปุระ ชั้นที่ 5 คือ แคลง/บาปวน ด้านนอกตั้งรูปสิงห์ หน้าบันเป็นภาพของการกวนเกษียณสมุทร 

          5. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 3 (ปราสาทหลังที่ 1) เป็นโคปุระหลังที่ใหญ่โตมโหฬารที่ยังสมบูรณ์ที่สุด ลักษณะการสร้างคล้ายกับ โคปุระ ชั้นที่ 1 และ 2 แต่ผิดตรงที่มีฝาผนังกั้นล้อมรอบความใหญ่โตมากกว่า และขนาบด้วยห้องสองห้อง ตัวปราสาทประธานนั้นสามารถผ่านเข้าไปทางลานด้านหน้า บันไดกว้าง 3.6 เมตร สูง 6 เมตร สองข้างมีฐานตั้งรูปสิงห์นั่ง 5 กระพัก มุขเหนือหน้าบันเป็นรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ทับหลังเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กรทรงครุฑ และจากโคปุระชั้นที่ 3 มีบันได 7 ขั้นขึ้นไปสู่ถนนที่ยาว 34 เมตร มีเสานางเรียงปักรายข้างถนน ข้างละ 9 ต้น ถัดจากเสานางเรียงไปเป็นสะพานนาค 7 เศียร

         6. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 2 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียวอยู่บนไหล่เขาทางทิศเหนือของโคปุระชั้นที่ 2 บริเวณพื้นราบของเส้นทางดำเนินและสองข้างทางขึ้นลงของบันได จะพบรอยสกัดลงในพื้นศิลามีลักษณะเป็นหลุมกลมๆ สำหรับใส่เสาเพื่อทำเป็นปะรำพิธี โดยมีประธานในพิธีนั่งอยู่ในปะรำพิธีเพื่อดูการร่ายรำบนเส้นทางดำเนิน กรอบประตูห้องมีจารึกอักษรขอมระบุบปีศักราชตกอยู่ในสมัยพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1 ด้านหน้ามนเทียรมีบันไดตรงกับประตูซุ้มทั้ง 3 ประตู และมีชานต่อไปยังเฉลียงซ้ายและขวา ที่สนามด้านหน้ามีภาพจำหลักตกหล่นอยู่หลายชิ้น เช่น รูปกษัตริย์กำลังหลั่งน้ำทักษิโณฑกแก่พราหมณ์ 

         7. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 1 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม-ย่อมุม บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 1 ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าการที่จะเข้าเฝ้าเทพนั้น จะไปด้วยอาการเคารพนพนอบในลักษณะหมอบคลานเข้าไป ทางทิศตะวันออกมีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอนเป็นเส้นทางขึ้นลง ไปสู่ประเทศกัมพูชา เรียกว่า "ช่องบันไดหัก"

          8. สระสรง จะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางดำเนินห่างออกไป 12.40 เมตร จะพบสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 16.8 เมตร ยาว 37.80 เมตร กรุด้วยท่อนหินเป็นชั้นๆ มีลักษณะเป็นขั้นบันได เรียกว่าสระสรงกล่าวกันว่าใช้สำหรับเป็นที่ชำระร่างกายก่อนที่จะกระทำพิธีทางศาสนา


เป้ยตาดี



          9. เป้ยตาดี เป้ยเป็นภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า ชะง่อนผาหรือโพงผา ตามคำบอกเล่าว่านานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ "ดี" จาริกมาปลูกเพิงพำนักอยู่ที่นี่จนมรณภาพไป ชาวบ้านจึงเรียกลานหินนี้ว่า "เป้ยตาดี" ซึ่งบริเวณตรงยอดเป้ยตาดีสูงกว่าระดับน้ำทะเล 657 เมตร ถ้าวัดจากพื้นที่เชิงเขาพื้นราบฝั่งประเทศกัมพูชาสูงประมาณ 447 เมตร ตรงชะง่อนผาเป้ยตาดี จะมีรอยสักพระหัตย์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ว่า 118-สรรพสิทธิ แต่ก่อนมีธงไตรรงค์ของไทยอยู่ที่บริเวณผาเป้ยตาดี ในปัจจุบันคงเหลือแต่ฐานไตรรงค์ 


          ปราสาทเขาพระวิหารนับได้ว่าเป็นปราสาทขอมที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์การก่อสร้างเทวสถานของฮินดู และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งของไทยและกัมพูชาอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ 81,250 ไร่ และได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 14 ก ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของไทย

         อย่างไรก็ตาม เรื่องราวการเสนอให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ก็ยังเป็นข้อกังขาของคนไทยหลายๆ คน เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา กลายเป็นประเด็นท็อปฮิตในขณะนี้ และล่าสุดศาลปกครองกลาง ยังได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับมติคณะรัฐมนตรี ที่นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรี ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชา ในการที่กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งบทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นเราคนไทยคงต้องติดตามกันค่ะ


 

  ติดตามข่าว คดีเขาพระวิหาร แบบอัพเดททั้งหมด คลิกเลย 


 

ข้อมูลจาก
, sisaket.go.th, moohin.comsoccersuck.com, wikipedia
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติ เขาพระวิหาร อัปเดตล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2556 เวลา 12:08:05 512,761 อ่าน
TOP
x close