x close

เมื่อทำงาน ที่เดียวกับคนรัก


เมื่อเราคือหุ้นส่วนชีวิต&เพื่อนร่วมงาน

          สามีภรรยาหลายคู่นอกจากใช้ชีวิตใต้หลังคาเดียวกันที่บ้าน ยังใช้ชีวิตด้วยกันในที่ทำงานเดียวกันอีกด้วย ส่วนใหญ่เจอคนรักในที่ทำงาน จนกระทั่งได้แต่งงานกัน แม้จะเคยเป็นคู่รักที่ทำงานด้วยกัน เคยเปลี่ยนความสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมงานมาเป็นคนรัก เมื่อเป็นสามีภรรยาความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปอาจเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของคุณทั้งคู่

          การมีเพื่อนร่วมงานเป็นคนบ้านเดียวกันย่อมมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ซึ่งเป็นธรรมดาของทุกสรรพสิ่งย่อมมีสองด้านเสมอ การเรียนรู้ทั้งด้านบวกและลบจะช่วยให้การจัดวางความสัมพันธ์ไม่น่าอึดอัดลำบากใจ

 ข้อดีของการทำงานที่เดียวกัน

          ประหยัด อย่างน้อยประหยัดเรื่องค่าเดินทาง จากรถสองคันเหลือคันเดียวก็พอ ถ้าเดินทางด้วยรถสาธารณะแม้จะไม่ประหยัดค่ารถ แต่ก็มีเพื่อนเดินทางไปกลับให้อุ่นใจ 

          บริหารเรื่องเวลา เวลาออกจากบ้านกลับบ้านใกล้เคียงกัน มีลูกก็สามารถไปส่งลูกที่โรงเรียน แล้วไปที่ทำงานในเส้นทางเดียวกัน ไม่ต้องวางแผนให้ยุ่งยาก

          อยู่ในสายตา ข้อนี้ผู้หญิงคงชอบเพราะส่วนมากอยากรู้ว่า วันวันเขาทำอะไร ที่ไหน กับใคร ไม่ต้องถามให้กวนใจก็รู้ตารางงานเขาตลอด แถมได้รู้เรื่องงานไปด้วย ซึ่งเป็นเพราะความห่วงใย อยากรับรู้แบ่งปันทุกเรื่องกับสามี แต่ผู้ชายอาจไม่ค่อยชอบเพราะอยากมีพื้นที่ส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องงาน

          รับรู้เรื่องงานและเงิน ต่างฝ่ายต่างรู้เรื่องงานของอีกคน แถมด้วยรายรับที่ได้จากการทำงาน เป็นความเข้าใจที่ไม่ต้องอธิบายว่า ช่วงนี้งานหนัก ยุ่งกว่าปกติ ทำให้คาดหวังได้เหมาะสมว่าทำไมช่วงนี้คู่ของเราดูเครียด เหนื่อย บางครั้งได้ปรึกษากันเรื่องการงาน ส่วนเรื่องการเงินรู้ว่ารายรับรวมของครอบครัวเป็นเท่าไหร่ คำนวณการวางแผนการเงินได้อย่างสะดวก

          เกื้อกูลเรื่องงาน สามีหรือภรรยาอาจอยู่ในตำแหน่งในที่ทำงานที่เกื้อกูลอีกฝ่ายได้ อย่างน้อยมีความเกรงใจจากเพื่อนร่วมงานคนอื่น ในบางระบบอาจได้สิทธิพิเศษในฐานะภรรยาเจ้านาย เช่น ไม่ต้องอยู่ทำงานตอนเย็น

 ข้อด้อยของการทำงานที่เดียวกัน

          เจอกันทั้งวัน เรียกว่าทุกช่วงเวลาแทบไม่มีช่วงที่ไม่ได้เจอะเจอกัน เฉพาะเจอกันที่บ้าน สำหรับบางคู่ก็รู้สึกว่าได้ใช้เวลาร่วมกันมากอยู่แล้ว ต้องออกจากบ้านด้วยกัน เจอกันที่ทำงาน กินอาหารเที่ยงด้วยกัน เย็นกลับบ้านพร้อมกันทุกวัน แทบไม่มีเวลานอกเลย

         อึดอัดใจ ในที่ทำงานต้องวางตัวตามสถานภาพที่เกิดขึ้น คนหนึ่งอาจเป็นเจ้านายอีกคนเป็นลูกน้อง หรือเป็นเพื่อนร่วมงาน ต้องมีการรับฟังคำสั่ง ต้องถกเถียงกันในการทำงานร่วมกัน หากวางตัวไม่ได้จะรู้สึกอึดอัดใจ เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่แค่เจ้านายลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน แต่ยังเป็นสามีภรรยาของเราด้วย เกิดเผลอถกเถียงกันจนลืมว่าเป็นที่ทำงานไม่ใช่ที่บ้าน จะเกิดการกลับบทบาทกัน เจ้านายต้องมาฟังคำสั่งลูกน้อง หรือไม่ยอมฟังความเห็นของเพื่อนร่วมงานที่เป็นคู่ของเรา

          ถูกเข้าใจผิด ถ้าได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมักถูกมองว่าเป็นเพราะคู่ของตัวที่เป็นเจ้านาย บางคนถึงกับยอมสละความก้าวหน้าเพื่อไม่ให้คู่ถูกมองอย่างเข้าใจผิด หรือบางคนไม่สามารถวางบทบาทได้ดี ไปถือสิทธิ์ความเป็นสามีภรรยาของเจ้านาย ใช้อภิสิทธิ์ แยกแยะบทบาทตัวเองไม่ถูก สามีหรือภรรยาที่เป็นเจ้านายถูกมองว่า เข้าข้างสนับสนุนสามีภรรยาตนเอง บางเรื่องที่ใช้อภิสิทธิ์ทำให้เสื่อมเสียถึงการงานของคู่ด้วย

          บริหารงานยาก มีลูกน้องเป็นสามีภรรยาตนเอง อาจไม่สามารถบริหารจัดการได้เต็มที่ มีความเกรงอกเกรงใจ คนในที่ทำงานก็ไม่กล้าสื่อสารตามตรง กลายเป็นเรื่องที่ไปนินทาพูดคุยกันลับหลัง อาจส่งผลเสียต่อเรื่องงานได้

 7 เทคนิคดูแลความสัมพันธ์

         สวมหมวกทีละใบ บทบาทจะกำหนดว่าเรามีหน้าที่ต้องทำอะไรอย่างไร และกำหนดความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย แต่เรามักมีหลายบทบาท เหมือนสวมหมวกซ้อนกันหลายใบ ในชีวิตจริงคงไม่สามารถแยกกันเด็ดขาด เหมือนถอดหมวกออกใส่ทีละใบ แต่ต้องรู้ตัวว่าขณะนี้บทบาทหลักคือบทบาทไหน ในที่ทำงานบทบาทตามตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นบทบาทหลัก รู้ขอบเขตหน้าที่การทำงานของตัวเอง ตั้งใจในการทำหน้าที่ให้ดี อย่าหวังว่าคู่ต้องมาให้ประโยชน์กับเรา ถ้าวางตัวเรื่องการทำงาน ทำงานมีประสิทธิภาพ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ คนอื่นมาว่าทั้งเราและคู่ให้เสียหายไม่ได้ บางเรื่องต้องให้จบที่ทำงาน ไม่ควรนำมาถกเถียงปะปนกันกับเรื่องที่บ้าน

         ท่าทีต่อกัน เรื่องความพอเหมาะของการแสดงออกเป็นเรื่องสำคัญ จะรักกันมากขนาดไหน การแสดงความรักในที่ทำงานต้องให้พอเหมาะ อย่าให้มากจนเพื่อนร่วมงานเอียน หรือบางอย่างต้องรู้ว่าควรไม่ควร การพูดจาข่ม วางอำนาจ ไม่ควรใช้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ยิ่งที่ทำงานยิ่งแย่เป็นการไม่ให้เกียรติคู่ต่อหน้าธารกำนัล ในเวทีการทำงานต้องลดความรู้สึกแบบคนกันเอง ให้เกียรติเขาต่อหน้าคนอื่นให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่การงาน

         เกื้อกูลกัน การส่งเสริมกันในการทำงานเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่จะเกื้อกูลกันได้ดีคือการรับผิดชอบงานของตนเองให้ดี พูดคุยแลกเปลี่ยน เป็นที่ปรึกษา อย่าไปจุ้นจ้านวุ่นวายกับงานของเขา หรือแยกแยะไม่ได้ คอยตามติดจนแทบไม่มีเวลาไปคิดอ่านทำอะไรด้วยตัวเอง บางตำแหน่งถ้าเข้าไปจุ้นจ้านมาก จะทำให้คนอื่นไม่นับถือคู่ของเรา เอาไปพูดในทางเสียหาย

         จัดสรรเวลา แม้ทำงานที่เดียวกัน ไม่ต้องทำทุกอย่างด้วยกันตลอดเวลา แม้แต่ในบ้านเรายังอยากมีเวลา มีพื้นที่ที่เป็นของตัวเองบ้าง ต่างฝ่ายต่างมีระยะถอยห่างออกมาจากกันเป็นบางโอกาส จะช่วยให้หายอึดอัดใจ ควรวางตัวให้พึ่งพาตนเองได้ จะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างมีโอกาสเรียนรู้จากคนอื่นรอบตัว ไม่ต้องผูกติดประสบการณ์จากคนในครอบครัวเท่านั้น ถ้าเป็นไปได้ทำงานในส่วนงานที่ต่างกัน จะได้ไม่ต้องเจอกันตลอดเวลาในการทำงาน

         อย่าถือโอกาส ใช้ความเป็นสามีภรรยา ทำให้อีกฝ่ายทำสิ่งไม่ถูกต้อง หาประโยชน์จากหน้าที่การงานเป็นอันขาด ทำงานด้วยกันโอกาสแบบนี้จะสูงขึ้น รวมทั้งการทำให้ตัวเองได้สิทธิพิเศษต่างจากคนอื่น แม้คนรอบข้างจะเต็มใจให้ แต่ถ้าคนรับวางตัวดีไม่ทำสิ่งที่ไม่เหมาะจะเสริมให้คู่ของเราน่านับถือ

         ระวังความคาดหวังต่อกัน ข้อควรระวังคืออารมณ์ที่กระทบแรงกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากความคาดหวัง ถ้าภรรยาทำงานบกพร่องเราอาจโมโหมากกว่าลูกน้องคนอื่น เพราะมีความรู้สึกว่าตัวเองเสียหน้าไปด้วย หรือสามีไม่สมาร์ตเท่ากับเพื่อนร่วมงานอีกคน เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบไม่พอใจ ต้องพยายามยอมรับว่าเขาอาจเป็นภรรยาที่แสนดี ที่ทำงานไม่เก่งนัก หรือสามีแสนดีอาจไม่ได้ปราดเปรื่องเรื่องงาน ต้องถ่วงน้ำหนักตัวเองให้ดี นับถือกันและกันในแบบที่เขาเป็น เราและเขาต่างมีข้อบกพร่อง เราอาจทำงานเก่งกว่า แต่ดูแลบ้านดูแลลูกสู้เขาไม่ได้ อยู่ด้วยความยอมรับและเข้าใจซึ่งกันและกัน

         คุยกันทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งในใจ เรื่องที่บ้านที่ทำงานอาจปะปนกันจนแยกไม่ออก หงุดหงิดใจที่ทำงานเก็บกลับมาคุยกันที่บ้าน บ้านเป็นพื้นที่ของเราสองคน เปิดใจคุย หาวิธีที่ประนีประนอมความรู้สึกซึ่งกันและกัน ถ้าเรื่องที่ทำงานเข้ามาทุกอณูของบ้าน กลับบ้านก็เอาแต่เถียงกันเรื่องที่ทำงาน คงต้องหยุดพักตัดขาดเรื่องงาน กลับมาเป็นสามีภรรยากัน เติมความรักความปรารถนาดีต่อกัน แล้วค่อยกลับไปปรับตัวกับการทำงานกันอีกครั้ง

          สุดท้ายเรื่องนี้คงไม่มีคำตอบว่าควรหรือไม่ควรทำงานที่เดียวกัน ขึ้นอยู่กับการปรับตัวปรับใจเกื้อกูลกันในการทำงาน เพื่อทำให้ชีวิตการงานของทั้งคู่ราบรื่นมากกว่าค่ะ เรื่องงานราบรื่นหมดห่วงหมดกังวล เรื่องครอบครัวก็สดใสราบรื่นไปด้วย



ข้อมูลจาก
 
ที่มา : นิตยสาร She's ฉบับที่ 21 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551
โดย พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อทำงาน ที่เดียวกับคนรัก อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2551 เวลา 15:36:22 28,621 อ่าน
TOP