x close

เปิด..คู่มือมนุษย์ พิชิตความเบื่อ

ท่านพุทธทาสภิกขุ


           เปิด...คู่มือมนุษย์ พิชิตความเบื่อ กับวลีท่านพุทธทาส : ของกู - ของสู


           เคยหรือไม่? เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้า แล้วรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร วันๆ นอกจากกิน, นอน, ทำงาน, เที่ยวเตร่, อ่านหนังสือ, ดูหนัง, ฟังเพลง, คุยกับเพื่อนกับแฟน ฯลฯ ซ้ำไปซ้ำมาแล้ว ชีวิตมีอะไรเป็นแก่นสารบ้าง สมมุติว่าเรามีเงินมากมาย จนไม่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีเกียรติยศชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือ มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี มีครอบครัวที่ดี เรียกว่ามีครบไปหมดซะทุกสิ่งที่ควรมีแล้ว 


           คนๆ นั้นยังจะมีความสุขโดยไม่มีทุกข์หรือไม่ ถ้ายังมีทุกข์อยู่อีก เช่นนั้น คนเราจะต้องมีแค่ไหนจึงจะเพียงพอ แค่ไหนจึงจะทำให้มีความสุข โดยไม่เกิดความทุกข์กาย ทุกข์ใจขึ้นอีก ไม่ทุกข์เรื่องนั้น ก็ต้องมาทุกข์เรื่องนี้ หรือมนุษย์เราไม่มีทางหลุดพ้นจากความทุกข์ไปได้ ชีวิตเช่นนี้ เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่าจะไปสิ้นสุดเช่นไร และอย่างไร เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยคิด คิดแล้วเคยหาคำตอบได้หรือเปล่า หรือเพียงคิด แล้วก็ผ่านเลยไป เพราะมีอะไรต้องทำ ต้องคิดอีกมากมาย และที่สุดแล้ว ชีวิตก็ยังวนเวียนซ้ำๆ ซากๆ อยู่กับวงจรเดิมๆ เราจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ล่ะหรือ?


           หลายๆ คนเคยจะได้ยินชื่อเสียงของ "ท่านพุทธทาสภิกขุ" แห่งสวนโมกขพลาราม และบางคนก็อาจจะเคยอ่านหนังสือธรรมะ ที่ท่านเขียนขึ้นในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันแม้ท่านจะจากไปแล้วกว่า 10 ปี แต่ข้อคิด คำสอน และแนวปฏิบัติของท่านยังชัดเจนแจ่มแจ้ง ยืนหยัดเหนือกาลเวลา ด้วยเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ที่จะเผยแผ่ความจริงแท้ของพุทธศาสนา สมดังชื่อของท่านที่หมายถึง ทาสของพระพุทธเจ้า คำสอนของท่านจะมุ่งตรงสู่แก่น สอนให้เราค้นหาความจริงด้วยตนเอง ละตัวกู ของกู เพื่อไปสู่ความเย็นแห่งนิพพาน ที่ท่านสอนว่าไม่ได้ไกลเกินเอื้อม เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่คนจำนวนไม่น้อย ที่อ่านหนังสือของท่านจะรู้สึกว่ายาก ทั้งๆ ที่หากเราศึกษาอย่างจริงจัง และต้องการค้นพบหนทางแห่งความสุขที่แท้จริงแล้ว เราจะพบว่าแนวทางที่ท่านสอนนี้ เป็นหนทางที่ตรงที่สุดแล้ว ไม่อ้อมค้อม ไม่แวะเวียนที่ไหน


           อย่างไรก็ดี เพื่อให้หลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่ได้ชื่อว่า "พุทธศาสนิกชน" ได้ก้าวไปสู่การเรียนรู้พุทธศาสนาที่แท้จริงในขั้นแรก กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงอยากจะขอแนะนำให้ทุกท่าน ได้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า "คู่มือมนุษย์" ของท่านพุทธทาส ฉบับที่ คุณปุ่น จงประเสริฐ ผู้ก่อตั้งองค์การฟื้นฟูพุทธศาสนาได้ย่นใจความ พร้อมตัดทอนและเปลี่ยนแปลง ถ้อยคำจากคำวัดมาเป็นคำบ้าน เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน และผู้เริ่มอยากศึกษาพุทธศาสนาจริงจัง คุณปุ่น จงประเสริฐ ได้กล่าวในคำชี้แจงว่า "คู่มือมนุษย์" นี้นับเป็นหนังสือธรรมะ ที่ได้รับความนิยมชมชอบอย่างกว้างขวาง และได้มีการนำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้ว


           ในหนังสือเล่มนี้ ท่านพุทธทาสได้บรรยายเรื่องอันสำคัญที่สุด ที่มนุษย์ทุกคนควรจะรู้ และควรจะปฏิบัติตามให้ได้ จึงจะไม่เสียชาติเกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบกับพระพุทธศาสนา และว่าหากท่านผู้ใดไม่มีเวลาอ่านหนังสือธรรมะเล่มอื่นๆ ก็ขอให้หาโอกาสอ่าน "คู่มือมนุษย์" อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง ยิ่งได้อ่านเร็วเท่าใดก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของท่านเร็วมากขึ้นเท่านั้น เพราะจะทำให้ได้รู้เคล็ดลับของการมีชีวิตอยู่ ในโลกอย่างไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขใจ ไม่ว่าชาวโลกจะวุ่นวายไปอย่างไร เพราะหลักธรรมที่แสดงในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้พบความเป็นอิสระทางใจอย่างแท้จริง ซึ่งท่านจะไม่เคยพบที่ใดมาก่อน


           สำหรับเนื้อหาของหนังสือ "คู่มือมนุษย์" ฉบับดังกล่าวจะมีอยู่ 9 หัวเรื่อง ได้แก่ ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน /พุทธศาสนามุ่งชี้อะไรเป็นอะไร / ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง(ไตรลักษณ์) /อำนาจของความยึดติด (อุปทาน) /ขั้นของการปฏิบัติศาสนา (ไตรสิกขา) / คนเราติดอะไร (เบญจขันธ์) /การทำให้รู้แจ้ง ตามวิธีธรรมชาติ /การทำให้รู้แจ้งตามหลักวิชา / ลำดับแห่งการหลุดพ้นจากโลก และสรุปความ


           เมื่ออ่านไปแต่ละหัวเรื่อง จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจในหลักธรรมทางพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น ได้เห็นความจริงอันแจ่มชัดขึ้น แม้จะยังไม่นำไปปฏิบัติ แต่ก็จะรู้สึกได้ว่าเราได้เรียนรู้มากขึ้น ท่านพุทธทาสกล่าวว่า พุทธศาสนาแปลว่า ศาสนาของผู้รู้ เพราะ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ คือ รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวงได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรืออาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อทำลายความทุกข์ และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น และว่ามีคำกล่าวในพระพุทธศาสนาว่า


           ถ้าน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำคงคา ฯลฯ จะทำให้คนหมดบาปหมดทุกข์ได้แล้ว พวกเต่า ปู ปลา หรือหอยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ หรือสระศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน หรือถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงบูชาอ้อนวอนเอาๆ แล้วในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะใครๆ ต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น ท่านจึงว่า โดยเหตุที่คนยังมีความทุกข์ แม้จะได้กราบไหว้บูชา หรือทำพิธีรีตองต่างๆ อยู่ จึงถือว่าสิ่งเหล่านี้มิใช่หนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ดังนั้น คนเราจึงจะต้องพิจารณาโดยละเอียดลออให้รู้ ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ให้ถูกต้อง


           นอกจากนี้ ท่านยังกล่าวว่า ศาสนา มีความหมายกว้างขวางกว่า ศีลธรรม เพราะศีลธรรม หมายถึง ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับประโยชน์สุข ในขั้นพื้นฐานทั่วไป และมีตรงกันแทบทุกศาสนา แต่ศาสนา จะหมายถึงระเบียบปฏิบัติในขั้นสูง ผิดแปลกแตกต่างกันไปเฉพาะศาสนาหนึ่งๆ แม้ศีลธรรม ทำให้คนดี มีการปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ตามหลักสังคมทั่วไป แต่เมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้ว คนก็ยังไม่พ้นทุกข์อันมาจากความเกิด แก่ เจ็บและตาย และยังไม่พ้นทุกข์จากการเบียดเบียนของกิเลส อันได้แก่โลภะ โทสะและโมหะ แต่ขอบเขตของพุทธศาสนา จะไปไกลกว่าและมุ่งหมายโดยตรง ที่จะกำจัดกิเลสดังกล่าว ซึ่งศีลธรรมจะทำได้ไม่ถึง


           ส่วนไตรลักษณ์ ก็เป็นหลักสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่เราต้องรู้ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านว่าถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้จักพุทธศาสนา เพราะเป็นการประกาศความจริงที่ว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงเป็นทุกข์ สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน กล่าวคือ ที่ว่าเป็นอนิจจัง คือ สิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อย ไม่มีอะไรเป็นตัวเองที่หยุดอยู่แม้ชั่วขณะ ที่ว่าเป็นทุกขัง คือ


          สิ่งทั้งปวงมีลักษณะเป็นความทุกข์ ทรมานอยู่ในตัวมันเอง มีลักษณะดูแล้วน่าชัง น่าเบื่อ น่าระอาทั้งนั้น ที่ว่าเป็นอนัตตา เป็นการบอกให้รู้ว่า บรรดาสิ่งทั้งปวง ไม่มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดถือด้วยจิตใจว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ถ้าไปยึดถือก็ต้องเป็นทุกข์ ท่านว่าลักษณะสามัญนี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากกว่าคำสอนอื่นๆ และว่าความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลายนี้ มีสอนกันมาก่อนพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้ขยายความลึกซึ้งเหมือนพระพุทธองค์ เรื่องทุกข์ก็เช่นกัน ไม่ลึกซึ้งถึงที่สุด ไม่ประกอบด้วยเหตุผล และไม่สามารถชี้ถึงวิธีดับทุกข์ที่สมบูรณ์จริงๆได้ เพราะยังไม่รู้จักทุกข์อย่างเพียงพอ เท่ากับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า


           คำว่า "วัฏฏสงสาร" ท่านก็ว่ามิใช่เพียงชาติโน้น ชาตินี้ ชาตินั้นอย่างเดียว แต่หมายถึงการวนเวียนของสามสิ่งคือ ความอยาก-การกระทำตามความอยาก-ผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้มาจากการกระทำนั้น-แล้วไม่สามารถหยุดความอยากได้ เลยต้องอยากอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป-แล้วกระทำอีก-ได้ผลมาอีก-เลยส่งเสริมความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปอีก เป็นวงกลมไม่สิ้นสุด นี่แหละเรียก "วัฏฏสงสาร" และว่าคนเราต้องทนทุกข์ทรมาน ก็เพราะติดอยู่ในวงกลมนี้เอง ถ้าหากใครหลุดพ้นไปได้ ก็เป็นอันว่าพ้นจากความทุกข์ทุกอย่างแน่นอน (นิพพาน)


           ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน แต่ก็เชื่อว่าเพียงแค่นี้ ก็คงทำให้เราได้เห็นหนทางสว่างแห่งชีวิตบ้างแล้ว ท่านพุทธทาสได้เขียนไว้ในท้ายคำอนุโมทนาว่า " .....ข้าพเจ้าขอแสดงความหวังอย่างยิ่งไว้ในที่นี้ด้วยว่า หนังสือเล่มนี้ จักเป็นบันไดขั้นต้นหรือเป็นหนังสือเล่มแรก ที่ถ้าศึกษาให้ละเอียดลออแล้ว จะสะดวกแก่การศึกษาธรรรมะในขั้นสูงเรื่องอื่นๆ ที่ข้าพเจ้าเคยแสดงไว้ในที่ต่างๆ สืบไปโดยแน่นอน" หากท่านคิดว่า "ชีวิต" ของท่านดีแล้ว มีความสุขแล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องอ่าน "คู่มือมนุษย์" แต่หากท่านเกิดความสงสัยว่า เกิดมาทำไม คนเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และชีวิตมีค่ามีความหมายที่ตรงไหนแล้วละก็หนังสือเล่มนี้ให้คำตอบท่านได้


 ของกู-ของสู

          อันความจริง "ของกู" มิได้มี แต่พอเผลอ "ของกู" ขึ้นจนได้ 

          พอหายเผลอ "ของกู" ก็หายไป หมด "ของกู" เสียได้ เป็นเรื่องดี 

          สหายเอ๋ย จงถอน ซึ่ง "ของกู" และถอนทั้ง "ของสู" อย่างเต็มที่ 

          ของเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา ทุกนาที เพราะไม่มี ของใคร ที่ไหนเอย ฯ






ข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิด..คู่มือมนุษย์ พิชิตความเบื่อ อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2553 เวลา 10:02:36 78,015 อ่าน
TOP