x close

อาลัย ร.ล.ปิ่นเกล้า เรือครู ลูกประดู่ไทย

ร.ล.ปิ่นเกล้า


          หลังจากรับใช้ประเทศมายาวนานถึง 49 ปี "ร.ล.ปิ่นเกล้า" ซึ่งเปรียบประดุจ "เรือครู" ของลูกประดู่ไทยก็ถึงคราว "เกษียณ" ผู้การเรือยอมรับสภาพแม้จะเศร้าใจ เผยเป็น "เรือยิงสลุต" ที่ในหลวงทรงโปรดปราน ทรงบันทึกภาพการยิงสลุตเป็นประจำ

          ราว 60 กว่าปีก่อน เรือรบ HEMMINGER (DE 746) ได้รับภารกิจ "เรือพิฆาตคุ้มกัน" ขบวนเรือสินค้าอังกฤษที่ถูกเรือดำน้ำของนาซีเยอรมันไล่จมลงลำแล้วลำเล่า แต่ภายหลังเมื่อกองทัพฝ่ายอักษะอ่อนแรงลง เรือรบพิฆาตสัญชาติอเมริกันจึงย้ายมาอยู่ในแนวรบด้านแปซิฟิกแทน โดยมีภารกิจหลักคือเป็น "เรือปราบเรือดำน้ำ" ด้วยระบบโซนาร์และตอร์ปิโด ที่มีสมรรถนะสูงลิ่วในยุคนั้น

          เมื่อไฟแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ดับลง กองทัพเรือไทยจึงได้รับมอบเรือรุ่นนี้มา 1 ลำ ในฐานะมหามิตรที่ร่วมรบมาด้วยกัน และเรือพิฆาตอเมริกันก็ได้รับนามเรียกขานเสียใหม่ว่า "ร.ล.ปิ่นเกล้า" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502

          เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เรือลำนี้ได้รับใช้ชาติอย่าง "เกินคุ้ม" ทั้งในฐานะ "เรือครู" ของนักเรียนนายเรือเกือบทุกรุ่น และในฐานะ "เรือฝึกร่วม" ในการฝึกรบกับกองกำลังนานาชาติ แต่ภารกิจหนึ่งซึ่งยังความภาคภูมิใจสูงสุดแก่ผู้บังคับการเรือและลูกเรือทุกรุ่น คือการ "ถวายอารักขา" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ร.ล.ปิ่นเกล้า


          กระนั้นหลังจากรับใช้ชาตินานถึง 49 ปี กองทัพเรือก็มีแนวคิดที่จะ "ปลดระวางประจำการ" เนื่องจากสภาพเรือที่ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา...

          พล.ร.ต.วิฑูรย์ คัมภีระพันธุ์ ผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ อธิบายถึงเหตุผลในการปลดประจำการ ร.ล.ปิ่นเกล้า หลังจากประจำการดูแลน่านน้ำไทยเกือบ 50 ปี "ตัวเรือ โดยเฉพาะถังน้ำมัน ใช้ระบบน้ำทะเลเข้าไปแทนที่น้ำมันเพื่อให้เรือมีการทรงตัวที่ดี ซึ่งระบบนี้ทำให้ถังน้ำมันผุกร่อนมาก ขณะเดียวกันเครื่องจักร และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ก็เสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ"

          ด้วยเหตุนี้กองทัพเรือจึงได้ปลดระวางเรือลำนี้ โดยนายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เซ็นลงนามไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2551 แต่จะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2551

          กำลังพลประจำเรือไม่อยากให้ปลดประจำการ โดยบอกว่ายังใช้งานได้ดีอยู่ แต่ก็ได้เตือนสติไปว่าเรื่องนี้เป็น "อนิจจัง" เป็นกฎของ "ไตรลักษณ์" คือ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่...แล้วก็ต้องดับไป ซึ่งกองทัพเรือไทยก็จำเป็นต้องก้าวไปเรื่อยๆ

          ถ้าพูดถึงเรื่องความรู้สึกเพียวๆ เขาก็มีความผูกพันกับเรือลำนี้ไม่ต่างจากนักเรียนนายเรือรุ่นก่อนๆ ที่ต่างก็เคยฝึกภาคต่างประเทศกับเรือลำนี้มาแทบทั้งนั้น ข้อดีประการสำคัญอย่างหนึ่งของเรือนี้ คือ "เครื่องทำไอศกรีม" ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของนักเรียนยุคนั้นที่ได้กินไอศกรีมกลางทะเล

          ส่วนความทรงจำในฐานะเรือครู ร.ล.ปิ่นเกล้า มีจุดเด่นอยู่ที่ "ปืน" ซึ่งเป็น "ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน" เพื่อเอาไว้ป้องกันภัยทางอากาศจากการโจมตีของเครื่องบินของญี่ปุ่น ปืนประจำเรือมีตั้งแต่ ปืน 76/50 3 กระบอก ปืน 40/60 แท่นคู่ 3 แท่น ปืน .50 นิ้ว 2 กระบอก ตอร์ปิโดแบบแท่นเดี่ยวแฝด 3 อีก 2 แท่น และ แท่นยิงระเบิดน้ำลึก 8 แท่น  นอกจากนี้ "เครื่องยนต์" ของ ร.ล.ปิ่นเกล้า ก็มีความทันสมัยมาก เพราะเป็น "เรือมอเตอร์" ซึ่งมีจุดเด่น คือ เสียงเครื่องยนต์ที่เงียบ และยัง "ประหยัดน้ำมัน" มาก ซึ่งแม้แต่เรือยุคใหม่ๆ ก็หันกลับไปใช้ระบบมอเตอร์อีกครั้ง

          ส่วนภารกิจของ ร.ล.ปิ่นเกล้า ก่อนปลดประจำการจะมีการ "ยิงสลุตหลวง" ถวายที่พระราชวังไกลกังวล ในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนจะเป็นการฝึกภาคทะเลของนักเรียนจ่าทหารเรือ และการยิงสลุตให้บรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ พอหลังวันที่ 30 กันยายน เป็นต้นไป ก็จะใช้เป็นเรือฝึกสำหรับนักเรียนจ่าทหารเรือ ที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ร.ล.ปิ่นเกล้า


          น.ท.นิยม พึ่งโต ผู้บังคับการ ร.ล.ปิ่นเกล้า มองการปลดระวางประจำการเรือในครั้งนี้ว่า แม้จำนวนปีจะเยอะ แต่สภาพของเรือตั้งแต่หัวเรือยันท้ายเรือ ระบบอาวุธ ระบบเครื่องจักรใหญ่ ระบบเดินเรือยังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน แต่ก็จำเป็นต้องปลดประจำการตามระยะเวลา และหลักยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ

          กระนั้นแม้จะเสียดายแค่ไหน แต่ น.ท.นิยม ก็ต้องทำในภารกิจที่ผู้บังคับการเรือไม่อยากทำ คือ การปลดประจำการเรือของตัวเอง ซึ่งเขาก็หวังว่าถ้านำ ร.ล.ปิ่นเกล้า ไปทำเป็น "เรือฝึกกึ่งพิพิธภัณฑ์" ก็น่าจะยังคงประโยชน์สูงสุดของเรือต่อไป

          อีกภารกิจในฐานะผู้บังคับการเรือที่ถือเป็นความภาคภูมิใจ และเกียรติยศสูงสุดในชีวิต คือ ภารกิจการถวายอารักขา โดยครั้งล่าสุด คือ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ต่อมาในเวลา 16.30 น. ของวันที่ 12 มิถุนายน 2551 ร.ล.ปิ่นเกล้า ได้ทำการยิงสลุต 21 นัด ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          เขาเล่าถึงความพิเศษของภารกิจนี้ว่า ร.ล.ปิ่นเกล้า เป็นเรือลำเดียวที่ยิงสลุตด้วยปืนใหญ่เรือขนาด 76/50 และเข้าไปยิงใกล้ฝั่งที่สุดในระยะ 1,400 หลา ซึ่งจะทำให้ได้ยินเสียงปืนใหญ่ และประกายไฟที่ชัดเจนกว่าเรือทั่วไป

          "จากประวัติที่ผ่านๆ มา พระองค์ท่านจะทรงส่องกล้อง และบันทึกภาพในขณะที่เรือวิ่งแปรรูปขบวนเข้ายิงสลุต บางครั้งก็มาทราบจากราชองครักษ์ประจำพระองค์ว่า พระองค์ท่านจะทรงส่องกล้องดูไปจนกระทั่งเรือทิ้งสมอเรียบร้อยแล้ว และมีบางครั้งที่จะพระราชทานรูปกลับมาให้กำลังพลประจำเรือได้ดูกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ และตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูกที่เราได้รับภารกิจที่สูงสุดในชีวิตของเรา คือ การถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" น.ท.นิยม กล่าวด้วยความตื้นตัน

          เป็นความประทับใจ และเกียรติยศสูงสุดครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผู้บังคับการเรือคนสุดท้ายของเรือลำนี้ ...

         

ร.ล.ปิ่นเกล้า


ทหารประจำเรือ..แสนอาลัย

          ร.ท.ศิริชัย สังวาลย์ อายุ 53 ปี สรั่งปืนประจำเรือ บอกว่า เขาเข้ามาประจำการบนเรือลำนี้ตั้งแต่ปี 2516 และชีวิตที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่า "อยู่เรือมากกว่าบ้าน" ซึ่งปีหนึ่งๆ เคยอยู่บนเรือสูงสุดนานถึง 8-9 เดือน จึงไม่ต้องบอกว่าเขาจะผูกพันกับเรือลำนี้แค่ไหน

          เขาบอกว่ารู้ข่าวนี้เมื่อ 3 เดือนก่อน และรู้สึกเหมือน "เสียบ้านหลังที่สอง" ไป ซึ่งใจลึกๆ แล้วเขาก็ไม่อยากให้มีการปลดประจำการ เพราะเรือยังใช้การได้ดีอยู่ แต่เมื่อเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม

          พ.จ.อ.บำรุง ไตรญาณ อายุ 41 ปี ช่างกลประจำเรือ ซึ่งประจำการมาตั้งแต่ปี 2528 ก็รู้สึกเสียดายกับการปลดประจำการครั้งนี้มาก ซึ่งถ้าจะให้เปรียบเรือลำนี้เป็นนักกีฬาก็คงจะเปรียบได้กับ "นักกีฬามากประสบการณ์" แต่อยู่ๆ ก็ถูกเรียกตัวออกมาให้หยุดเล่นกลางคัน

          "เขามีความผิดอย่างเดียว คือ มีอายุมากกว่าทุกคนที่เล่นอยู่ในทีม ทำไมเราไม่เก็บเขาไว้เพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง ผมเป็นช่างกลเห็นว่าเรือลำนี้มีพื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับการศึกษา เพราะมีครบทุกอย่าง ตั้งแต่ไฟฟ้า เครื่องยนต์ หรือหม้อน้ำ"

          แต่ที่สุดเขาก็ยอมรับว่า ชีวิตคนเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง และคงไม่ได้มีแต่ทหารเรือในอดีต ต้องมีทหารเรือในอนาคตบ้าง ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เขาก็คงพร้อมที่จะยอมรับมัน แต่ถ้าวันหนึ่งมีภารกิจที่จะให้ทำบนเรือนี้อีก...เขาก็พร้อมที่จะกลับมาทำทุกเมื่อ

ศิษย์เก่ารำลึก..เมื่อครู "ปราบเรือดำน้ำ"

          น.อ.สมศักดิ์ วาณิชย์เจริญ รองผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 1 (รอง ผบ.กฟก.1) บอกว่า มีความผูกพันกับเรือลำนี้ไม่ต่างจากนักเรียนนายเรือทุกคน โดยตอนที่เป็นนักเรียนเคยฝึกบนเรือลำนี้มา 2 ครั้ง รวมแล้วเป็นเวลา 100 กว่าวัน

          "ผมรู้สึกว่าเศร้าสลดใจในฐานะที่เคยเป็นผู้อาศัย เคยอยู่ เคยนอน เคยกินบนเรือลำนี้มาก่อน เรือลำนี้เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ให้ความรู้เรา แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องปลดระวางประจำการตามอายุการใช้งานก็เป็นเรื่องนโยบายของทางราชการ"

          เขายอมรับว่าการปลดประจำการ ร.ล.ปิ่นเกล้า ก็ต้องดำเนินต่อไป แต่เขาจะไม่ลืมประสบการณ์ และความรู้ที่ได้จากเรือลำนี้แน่นอน

          ประสบการณ์ประทับใจที่เขาไม่เคยลืมมาจนทุกวันนี้ก็คือ ในการฝึกภาคนักเรียนนายเรือ ตอนปี 3 ร.ล.ปิ่นเกล้า ได้สาธิตการปล่อย "ระเบิดน้ำลึก" กลางมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นการแสดงสมรรถนะให้เห็นจะจะตาว่า เรือลำนี้สามารถ "ปราบเรือดำน้ำ" ได้จริงๆ


เรื่อง : ทีมข่าวความมั่นคง

ภาพ : นัทพล ทิพย์วาทีอมร



ข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาลัย ร.ล.ปิ่นเกล้า เรือครู ลูกประดู่ไทย อัปเดตล่าสุด 26 กรกฎาคม 2551 เวลา 19:02:17 22,204 อ่าน
TOP