x close

รู้ - รัก ภาษาไทย



 วันภาษาไทยแห่งชาติ


          ปลุกทุกภาคส่วนของสังคมใช้"วันภาษาไทยแห่งชาติ" ให้คุ้มค่า


          วันนี้ของทุกปี 29 กรกฎาคม คือ วันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯเป็นองค์ประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 และคณะรัฐมนตรีมีมติให้วันดังกล่าวเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2542


          จนถึงวันนี้ครบรอบ 9 ปี ของการกำหนดให้วันนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ และกำลังก้าวย่างสู่ปีที่ 10 แต่ปัญหาการใช้ภาษาไทยของคนไทยก็ยังอยู่ในวังวน ของปัญหาเดิม เด็กไทย พูด เขียน อ่าน ฟัง ภาษาไทยไม่คล่อง


          "ทีมการศึกษา" ขอหยิบยกตัวอย่างจากผลการสำรวจปัญหาการใช้ภาษาไทยของคนไทย ซึ่งหลายหน่วยงาน หลายสำนักจัดทำกันขึ้น ในช่วงเวลาก่อนถึงวันภาษาไทย ผลวิจัยจากศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจเรื่องความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับวันภาษาไทยแห่งชาติและปัญหาการใช้ภาษาไทย ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการใช้ภาษาไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะคนไทยจำนวนมากยังเขียนภาษาไทยผิด พูดผิด จับใจความผิด ฟังผิด อ่านผิด


          ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีงานวิจัยเรื่องปัญหาการเรียนการสอนและการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน ซึ่งนำเสนอในงานประชุมวิชาการเพื่อเฉลิมพระเกียรติงานฉลอง 200 ปีวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งมีข้อสรุปถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขที่น่าสนใจ


          โดยด้านผู้เรียนนั้น พบว่า ระดับประถมศึกษา ไม่สนใจการเรียนภาษาไทย ไม่ชอบอ่านหนังสือ ระดับมัธยมศึกษา ไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย เพราะไม่สอดคล้องกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งเด็กก็ยังมีปัญหาอ่านไม่คล่อง สำหรับระดับอุดมศึกษานั้น นิสิตนักศึกษา ให้ความสนใจกับภาษาไทยน้อยมาก ความรู้พื้นฐานด้านภาษาไทยก่อนเข้าเรียนระดับอุดมศึกษามีค่อนข้างน้อย ไม่รักการอ่าน ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในการค้นคว้าข้อมูลทำให้การเขียนบกพร่อง


          หันมาดูด้านผู้สอน ทุกระดับมีปัญหาร่วมกันคือ ผู้สอนมีภาระงานมาก ไม่มีวิธีสอนที่น่าสนใจ สำหรับระดับประถมพบว่า พบอิทธิพลภาษาถิ่นทำให้ผู้สอนไม่สามารถสื่อสารกับผู้เรียนได้ หรือทำให้ผู้เรียนสับสน


          สำหรับปัญหาในระดับนโยบายนั้น งานวิจัยสำรวจเรื่องเดียวกันก็พบว่า รัฐ สถาบันการศึกษา และคนในสังคมไม่เห็นความสำคัญของวิชาภาษาไทย ส่งผลให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนไม่ใส่ใจวิชานี้เท่าที่ควร ทำให้การเรียนการสอนประสบปัญหา ในระดับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องของคนในหน่วยงาน


          ข้อเสนอแนะ ระดับนโยบาย คือ นโยบายของรัฐต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติคนไทย ให้รักภาษาไทยมากกว่าภาษาต่างชาติ ให้วิชาภาษาไทยเป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่ง ในการตัดสินการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับต่างๆ และการรับบุคคลเข้าทำงาน ให้ผู้สอนทุกรายวิชาใส่ใจกับการใช้ภาษาไทยของนักเรียน ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของครูภาษาไทยฝ่ายเดียว รณรงค์ให้สถาบันการศึกษาและสถานที่ราชการ ให้มีการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องในชั้นเรียนและในเวลาทำงาน และให้เห็นความสำคัญของการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ


          นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอว่า การสอนแบบแจกลูกสะกดคำอย่างในอดีต จะทำให้นักเรียนอ่านคล่องขึ้น ทั้งควรให้เด็กท่องบทอาขยาน กรณีเด็กอ่าน เขียน ไม่ได้ ก็ควรซ้ำชั้น และปลูกฝังการรักการอ่านตั้งแต่เล็ก โดยเริ่มจากครอบครัว


          ขณะเดียวกัน เมื่อดูผลการสำรวจจากอีกหลายสำนัก ก็พบว่า ปัญหาการใช้ภาษาไทยก็ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด แม้ว่าบางเรื่องกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งแก้ไข แต่ดูเหมือนปัญหายังเป็นปัญหาซ้ำซากตามเดิม ผลสะท้อนดูได้จากคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต วิชาภาษาไทย ผ่านเส้นแดงมาเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเลวร้ายมากสำหรับภาษาแม่ของชาติ


          ล่าสุด ราชบัณฑิตยสถาน เตรียมจัดการทดสอบความรู้ภาษาไทยของคนไทยขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า โทเฟลภาษาไทย โดยกลุ่มเป้าหมายแรกที่ต้องการทดสอบในปีนี้ คือ ครูผู้สอนและ นักเรียน ซึ่งขณะนี้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. ออกแบบข้อสอบเรียบร้อยแล้ว พร้อมทดสอบปลายปีนี้


          ทีมการศึกษา เห็นด้วยกับการทดสอบความรู้ภาษา ไทย แต่เรามองว่านั่นน่าจะเป็นตัวช่วยเพื่อให้คนไทยเห็นจุดบอด ของการใช้ภาษาไทยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในทักษะทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขจุดอ่อนได้ตรงตามเป้าหมาย แต่คงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ในการแก้ปัญหาภาษาไทยที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ คงไม่สายเกินไปที่จะหันกลับมาเอาจริงเอาจังกับการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง โดยเริ่มต้นในวันนี้


          วันภาษาไทยแห่งชาติ!!!



ข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ - รัก ภาษาไทย อัปเดตล่าสุด 27 กรกฎาคม 2559 เวลา 11:36:45 12,982 อ่าน
TOP