ดาวเทียมธีออส

ดาวเทียมธีออส


เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก funscience.gistda.or.th


          ดาวเทียมธีออส ทะยานขึ้นฟ้า 6 สิงหาคมนี้ ... ได้ฤกษ์ยิงดาวเทียม "ธีออส" ขึ้นวงโคจร จากประเทศรัสเซีย 6 สิงหาคมนี้ ... หลายวันมานี้สื่อจากสำนักต่างๆ ให้ความสำคัญกับ "ดาวเทียมธีออส" เนื่องจากตั้งตารอคอยกันมานานแล้วว่าเมื่อไหร่ "ดาวเทียมธีออส" จะทะยานขึ้นสู่อวกาศสักที หลังจากเจอโรคเลื่อนมาหลายครั้งหลายครา โดยทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า วันที่ 6 สิงหาคมนี้จะมีการยิงดาวเทียมธีออสขึ้นวงโคจรแน่นอน แต่แล้วฤกษ์ยิงดาวเทียมธีออสก็ต้องเลื่อนอีกอย่างไม่มีกำหนดซะงั้น อย่างไรก็ตามหลังจากมีสื่อนำเสนอเรื่องดาวเทียมธีออสก็ทำให้หลายคนสนใจ และอยากรู้ประวัติดาวเทียมนี้ทันที … เจ้าดาวเทียมที่ว่ามันคืออะไร มีที่ไปที่มาอย่างไร และมีคุณสมบัติพิเศษยังไง วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาบอกกันค่ะ...


          ดาวเทียมธีออส (THEOS) เป็นคำอ่านของคำย่อ THEOS ที่มาจาก Thailand Earth Observation Systems หมายถึงระบบสำรวจพื้นผิวโลกโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย ส่วนคำว่า Theos เป็นภาษากรีก แปลว่า พระเจ้า


          สำหรับดาวเทียมธีออส เป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อปี 2547 โดยมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ดำเนินงานรับผิดชอบร่วมกับบริษัทเอียดส์ แอสเตรียม (EADS Astrium) ประเทศฝรั่งเศส ด้วยงบประมาณ 6,440 ล้านบาท


          คุณลักษณะของดาวเทียมธีออสคือ มีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม มีวงโคจรสูงจากพื้นโลก 820 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทุก 26 วัน มีกล้องถ่ายภาพ 2 กล้อง ที่ใช้ระบบซีซีดี เป็นดาวเทียมที่มีความสามารถในการถ่ายภาพรายละเอียดสูงได้ สามารถบันทึกภาพจากการสะท้อนแสงของพื้นโลกได้ (ความละเอียดในการบันทึกภาพชัดเจนในพื้นที่ขนาด 2 และ15 ตารางกิโลเมตร โดยมีรายละเอียดของภาพขาว-ดำ (Panchromatic) 2 เมตร ความกว้างแนวถ่ายภาพ 22 กิโลเมตร


          ส่วนภาพสี (Multi-Spectral) 4 ช่วงคลื่น รายละเอียดภาพ 15 เมตร แต่ละภาพมีความกว้างของแนวถ่ายภาพ 90 กิโลเมตร มีอายุการใช้งาน 5 ปี นอกจากนี้ ในระบบการถ่ายภาพสียังสามารถถ่ายภาพในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น 3 ช่วงคลื่น (ช่วงคลื่นแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน) และช่วงคลื่นแสงที่ตามองไม่เห็น (คลื่นอินฟราเรดใกล้ - NearIR) อีก 1 ช่วงคลื่น


ประโยชน์ของดาวเทียมธีออส ได้แก่...
 

         1. ภาพจากดาวเทียมสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ และสามารถนำไปใช้ในการติดตามและประเมินความเสียหายจากอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ


         2. ใช้ในการสำรวจศึกษาหาพื้นที่ป่าไม้ หาพื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลาย ถูกไฟไหม้ การสำรวจหาพื้นที่สวนป่าและหาชนิดป่า


         3. ใช้ในการสำรวจหามลพิษจากคราบน้ำมันในทะเล หาแหล่งน้ำ หาพื้นที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ


         4. ใช้เป็นข้อมูลการจัดทำแผนที่ภูมิประเทศ แผนที่ธรณีวิทยา ธรณีสัณฐานของประเทศไทย


         5. ใช้ในการศึกษาหาพื้นที่เพาะปลูก การคาดการณ์ผลผลิต ประเมินความเสียหายจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืช ตลอดจนการวางแผนกำหนดเขตเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ


         6. ใช้ในการสำรวจศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง


         7. ใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของชุมชน อีกทั้งสามารถเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์ เพื่อวางแผนพัฒนาการวางผังเมือง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปการต่างๆ 


         8. ภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออสสามารถนำมาขายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย


         9. ภายใต้สัญญาสร้างดาวเทียมธีออส ประเทศฝรั่งเศสจะปรับปรุงสถานีรับสัญญาณดาวเทียมของไทยให้สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียม SPOT ได้ และให้สิทธิ์ในการรับสัญญาณดาวเทียม SPOT-2, 4 และ 5 เพื่อให้หน่วยงานราชการได้ใช้ประโยชน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้แต่ละหน่วยงาน นำไปใช้ประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงาน


        สำหรับการปล่อยดาวเทียมธีออสสู่อวกาศ จะใช้จรวดเน็ปเปอร์ (DNEPR) ของบริษัทคอสโมทราส ประเทศรัสเซีย เป็นจรวดนำส่ง จากฐานปล่อยจรวดศูนย์อวกาศยัชนี ประเทศรัสเซีย และสถานีรับสัญญาณดาวเทียมตั้งอยู่ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร มีสถานีควบคุมดาวเทียมภาคพื้นดินอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี


        เดิมทีมีกำหนดการส่งดาวเทียมธีออสขึ้นสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 แต่ได้เลื่อนกำหนดส่งเป็น 9 มกราคม พ.ศ.2551 และถูกเลื่อนอีกครั้งเป็นวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551 แต่ก็ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากประเทศคาซัคสถานไม่ยินยอมให้เศษชิ้นส่วนดาวเทียมตกยังประเทศของตน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้เจรจากับรัฐบาลคาซัคสถาน ซึ่งไม่มีปัญหาใดๆ เพราะเศษชิ้นส่วนดังกล่าวจะตกลงบริเวณทะเลทราย ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้ จึงไม่สามารถระบุได้ว่าจะเลื่อนเป็นวันที่เท่าไหร่


        อืม...คนไทยคงต้องรอลุ้นรอดูกันต่อไป ว่าเมื่อไหร่ "ดาวเทียมธีออส" จะขึ้นทะยานไปทำประโยชน์ให้กับประเทศ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
     

- funscience.gistda.or.th

- psu.ac.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดาวเทียมธีออส อัปเดตล่าสุด 8 สิงหาคม 2551 เวลา 10:35:23 146,560 อ่าน
TOP
x close