x close

CERN ทดลอง LHC หาจุดกำเนิดจักรวาล

หลุมดำ


เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด และ foosci.com  

          เอกภพหรือจักรวาลประกอบขึ้นจากอะไร ?

          
มักเป็นคำถามพื้นฐานของมนุษย์เล็กๆ ที่อยากจะเข้าใจในกำเนิดของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างพยายามไขปริศนาเรื่องนี้กันอย่างไม่หยุดหย่อน ล่าสุด องค์กรวิจัยนิวเคลียร์ (European Organization for Nuclear Research) แห่งยุโรป หรือ เซิร์น (CERN) ก็ประกาศว่าจะดำเนินการทดลองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก เพื่อถอดรหัสของโลกเชิงกายภาพ และไขปัญหาว่าเอกภพประกอบขึ้นด้วยอะไร รวมถึงค้นหาคำตอบว่า จักรวาลเกิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยมีนักฟิสิกส์กว่า 2,000 คน จากกว่า 30 ประเทศ และงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านปอนด์ หรือ 260,000 ล้านบาท


ลี อีแวนส์ โปรเจ็กต์เมเนเจอร์โครงการแอลเอชซี
ลี อีแวนส์ โปรเจ็กต์เมเนเจอร์โครงการแอลเอชซี


          ทั้งนี้ การทดลองดังกล่าว จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 กันยายนนี้ คาดการณ์เวลาประมาณ 14.45 น.  บริเวณพรมแดนประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส แถบนครเจนีวา ซึ่งได้มีการสร้างอุโมงค์ขนาดยักษ์ขดเป็นวงกลมยาว 18 ไมล์ ลึก 300 ฟุต และทำการหย่อนเครื่องเร่งความเร็วอนุภาคขนาดใหญ่ หรือ Large Haldron Collider (LHC) ที่ใช้เวลาสร้างกว่า 19 ปี ลงไป ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อวนใต้ดิน ความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร และอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 175 เมตร ทดลองเร่งความเร็วอนุภาคด้วยแม่เหล็กนับร้อยๆ ตัว จากคนละด้านของท่อ ให้อนุภาคโปรตอนวิ่งเข้าชนกัน ด้วยความเร็วเกือบเท่าแสง ซึ่งเป็นเหมือนการจำลองการเกิดบิ๊กแบง 

         
ถ้าทุกอย่างลงตัวสสารจะกลายสภาพ เนื่องจากการปะทะกันอย่างรุนแรง จนกลายเป็นกลุ่มพลังงานมหาศาล ซึ่งจะควบแน่นกลายเป็นอนุภาคแปลกๆ ต่อไป และบางชนิดอาจไม่เคยเห็นมาก่อน หัวใจของการทดลองฟิสิกส์ของอนุภาค คือ การเอาสิ่งโน้นมาชนกับสิ่งนี้แล้วรอดูผลที่เกิดขึ้นก็เท่านั้นเอง

          ภายในอุโมงค์จะมีเครื่องมือต่างๆ ในการตรวจสอบเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นออกมาจากการปะทะ โดยเครื่องมือชิ้นใหญ่ที่สุด คือ แอตลาส (ATLAS) ซึ่งสูงเท่ากับตึกเจ็ดชั้น และชิ้นที่หนักที่สุด คือ ซีเอ็มเอส (Compact uon olenoid: CMS) ซึ่งหนักกว่าหอไอเฟล!!! 


หย่อนแอลเอชซี
ภาพการหย่อนแอลเอชซี ลงในอุโมงค์


นักวิทยาศาสตร์เซิร์นทำงานกันอย่างคร่ำเคร่ง
นักวิทยาศาสตร์เซิร์นทำงานกันอย่างคร่ำเคร่ง


          นอกจากการไขความลับของเอกภพ การทดลองครั้งนี้ ยังเป็นการพิสูจน์ ทฤษฎีอนุภาคพระเจ้า หรือ "God Particle" หรือ "Higgs Boson" ของ ศ.ปีเตอร์ ฮิกส์ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอ ระบุว่า อนุภาคนี้มีอยู่จริง 

         
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายออตโต รอสเลอร์ นักเคมีชาวเยอรมัน ให้ความเห็นว่า แม้ "แอลเอชซี" จะได้ชื่อว่า เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่งที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา ทว่า มันมีโอกาสสร้างหลุมดำ ที่จะกลืนกินทุกสิ่งอย่างเข้าไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่อง เป็นลูกโซ่ไปยังอวกาศและเวลา  


รูปภาพ LHC จาก CERN
รูปภาพ LHC จาก CERN



          ดังนั้น กลุ่มของรอสเลอร์ จึงยื่นคำร้องต่อที่ประชุมด้านสิทธิมนุษยชนยุโรป เพื่อขอระงับการทดลอง โดยให้เหตุผลว่า "เป็นการละเมิดต่อสิทธิ์การดำรงชีวิตและละเมิดสิทธิ์ในการมีครอบครัว"เนื่องจากหวั่นว่า เมื่อเดินเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่แล้ว จุดจบของโลกจะมาถึง ซึ่งภาพจินตนาการฝันร้ายที่สุดของมนุษย์ตามความเห็นของรอสเลอร์ หากเกิดความผิดพลาดจากการทดลอง มี 2 แบบ คือ

        
แบบแรก มีการเตือนภัยถึงหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจเป็นช่วงเวลา 1 เดือน โลกจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง ไม่มีเหตุผลใดๆ ประกอบ เพราะแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดขึ้นจากรอยเลื่อนอีกแล้ว แต่จู่ๆ มันก็ไหว และไหวในทุกๆ พื้นที่ แม้ไม่ได้ตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อน

                
แรงสั่นสะเทือนทำให้อาคารบ้านเรือนจะถล่มราบเป็นหน้ากลอง น้ำทะเลเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว เกิดมหันตภัยสึนามิขนาดยักษ์ พัดถล่มพื้นที่ตามชายฝั่งทะเล ฆ่าผู้คนนับล้าน จากนั้นจุดจบของโลกที่แท้จริงจึงมาถึง 

                
โลกเริ่มมีรอยแยกขนาดใหญ่ ลาวาร้อนจัดใต้พื้นปฐพีไหลขึ้นมานองเต็มพื้นดิน มหาสมุทร จนท้องทะเลเดือดพล่าน เกิดเฮอริเคนขนาดยักษ์หลายลูกกระหน่ำโลก สิ่งก่อสร้างทุกชนิดพังทลาย ต้นไม้หักโค่น ภูเขาสูงถล่มลงมา เพราะแผ่นเปลือกโลกแตก 

                
ทุกอย่างบนโลก ไม่ว่าจะเป็นหินนับล้านๆ ตัน น้ำ อากาศ ชีวิตทุกชีวิต ถูกดูดเข้าไปในแรงดูดที่มองไม่เห็นแต่มีพละกำลังมหาศาล ถ้ามองลงมาจากอวกาศเบื้องบนจะเห็นว่า โลกสีฟ้าขาวไหลลงไปในหลุมดำด้วยความเร็วเพียงพริบตาเดียว

        
แบบที่ 2 คือ ไม่มีเวลาสำหรับการเตือนภัยใดๆ และเป็นหายนะที่รุนแรงกว่าแบบแรก โดยภายในเวลา 1 ใน 20 ของวินาที โลกทั้งใบจะหายไปจากจักรวาล จากนั้นอีกไม่ถึง 2 วินาที ดวงจันทร์จะหายไปด้วย 8 นาทีต่อมา ดวงอาทิตย์จะแตกเป็นเสี่ยง ตามด้วยดวงดาวทั้งหมดในระบบสุริยจักรวาล 

                
การทำลายล้างขยายวงจากโลกของเราไปด้วยความเร็วแสง ทำให้มนุษย์ต่างดาวที่อยู่ในจักรวาลอื่นตายไปด้วย และไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่จะหยุดยั้งหายนะนี้


สำนักงานเซิร์น
สำนักงานเซิร์น


          ขณะที่ "เซิร์น" ออกมาโต้ว่า ไม่มีทางที่หายนะจะเกิดขึ้นกับโลกแน่นอน เพราะการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี เป็นการเร่งให้อนุภาคชนกันก็จริง แต่การชนกันของ "อนุภาคโปรตอน" ชนกันที่ระดับใกล้ความเร็วแสงนี้ มีพลังน้อยกว่าอนุภาคที่ชนกันในธรรมชาติเป็นอย่างมาก  

         
และ หากการชนกันของอนุภาคทำให้โลกหายนะแล้ว การชนกันของอนุภาคในธรรมชาติของโลก ที่เกิดขึ้นยาวนานกว่าหมื่นล้านปี นับตั้งแต่เกิดบิ๊กแบงก์เมื่อ 13,700 ล้านปีก่อน ก็จะทำให้โลกวินาศไปนานแล้ว นอกจากนี้ รังสีคอสมิกที่มาจากนอกโลก อันเกิดจากการชนกันของอนุภาค จนเกิดพลังงานที่สูงกว่าเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีมาก ถึงอย่างนั้นก็ไม่ทำให้เกิดผลร้ายแก่โลกแต่อย่างใด 

         
ส่วนข้อวิตกที่ว่าจะเกิดหลุมดำกลืนกินโลก เซิร์น ก็ชี้แจงว่า หลุมดำขนาดเล็กที่เกิดจากการชนกันของอนุภาคจะหายไปในเวลาอันสั้น เพราะหลุมดำที่ว่านี้เกิดขึ้นจากการชนกันของ "ควาร์ก" และ "กลูออน" ซึ่งอยู่ในอนุภาคโปรตรอน ดังนั้น จึงสลายไปอยู่ในรูปของอนุภาคที่สร้างหลุมดำนั้นขึ้นมาได้ ช่วงอายุของหลุมดำเล็กจึงสั้นมากๆ 

         
อย่างไรก็ตาม แม้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเกรงว่า อาจก่อให้เกิดหลุมดำขนาดใหญ่กลืนพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกหายไปทั้งหมด หรือท้ายที่สุดแล้วการลงทุนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทเพื่อหาจุดกำเนิดของจักรวาลอาจลงท้ายด้วยการที่ไม่พบอะไรเลย …ถึงกระนั้น ก็ไม่อาจหยุดความสนใจใคร่รู้ของมนุษย์โลกได้.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
CERN ทดลอง LHC หาจุดกำเนิดจักรวาล อัปเดตล่าสุด 15 กันยายน 2551 เวลา 15:18:38 192,266 อ่าน
TOP