19 ตุลาคม วันเทคโนโลยีของไทย


           วันเทคโนโลยีของไทย 19 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย หลังทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515


 วันเทคโนโลยีของไทย

            นอกจากจะทรงเป็นนักปกครองแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังมีพระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้กำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม เป็นวันเทคโนโลยีของไทย 

ประวัติวันเทคโนโลยีของไทย


          สาเหตุที่กำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม เป็นวันเทคโนโลยีของไทย เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถบังคับให้ฝนตกลงตรงเป้าหมาย ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศ ข้าราชการและพสกนิกรชาวไทยที่เข้าชมการสาธิตต่างพากันชื่นชมยินดีในพระปรีชา 

          การสาธิตฝนเทียมครั้งนั้น ถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนเทียมมาถึงปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย

ฝนเทียม สิ่งประดิษฐ์เพื่อมวลมนุษย์


          ด้วยทรงเห็นว่า ประเทศไทยประสบปัญหาความแห้งแล้งมาเป็นเวลานาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริฝนหลวง หรือฝนเทียมขึ้น โดยใช้กรรมวิธีการสร้างฝนจริง ๆ อาศัยไอน้ำที่อยู่ในบรรยากาศ คือ ก้อนเมฆซึ่งในหน้าแล้งมักจะลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป โดยไม่กลายเป็นน้ำฝน และใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการบิน เป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ทำให้ก้อนเมฆโตขึ้น และสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดแรงลมช่วยลดระดับของก้อนเมฆที่โตขึ้น จนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำฝนตกลงในพื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จ 

          โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปรของฤดูกาลตามธรรมชาติ ฝนหลวงจึงเปรียบเสมือนน้ำพระราชหฤทัยที่พระราชทานจากฟ้ามาช่วยต่อลมหายใจให้กับเกษตรกรและประเทศไทย ที่ต้องพึ่งพิงการเกษตรกรรมเป็นหลัก

พระปรีชาของพระบิดาแห่งเทคโนโลยี


          นอกจาก "โครงการฝนหลวง" แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริ และที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ หลายด้าน ตัวอย่างเช่น

กังหันน้ำชัยพัฒนา


          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ "กังหันชัยพัฒนา" เพื่อทำหน้าที่เติมออกซิเจนลงไปในน้ำ เป็นการลดมลภาวะทางน้ำ ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการออกสิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ของไทย

การออกแบบสายอากาศ (Antenna)


          เพื่อใช้กับวิทยุสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ทฤษฎีใหม่


          เป็นการบริหารจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกร ให้มีสภาพการใช้งานที่สร้างความยั่งยืนมากกว่าการทำการเกษตร โดยไม่มีการแบ่งส่วนของที่ดิน เพื่อใช้ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำ และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก เป็นต้น ฯลฯ


โครงการแกล้งดิน


          โดยทรงพบว่า ดินพรุเป็นดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงมีพระราชดำริว่า ควรแกล้งทำให้ดินเปรี้ยวจนถึงที่สุด แล้วทำ "วิศวกรรมย้อนรอย" หาทางปรับปรุงดินที่เปรี้ยวนั้น เพื่อจะได้รู้วิธีแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดสภาพเปรี้ยวแบบที่เคยเป็น จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่าง ๆ จนทำให้พื้นดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถทำอะไรได้ กลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง

กิจกรรมในวันเทคโนโลยีแห่งชาติ


          กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่เป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" โดยเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544

          กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ในฐานะ "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" อีกทั้งมีนิทรรศการเทคโนโลยี เพื่อแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นโดยคนไทย และมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น รวมทั้งมีการสัมมนา อภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย

          เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ 

บทความวันสำคัญที่เกี่ยวข้อง



ขอบคุณภาพจาก : chaipat.or.th, thairoyalrain.in.th
ขอบคุณข้อมูลจาก : technology.thai.netmost.go.thth.wikipedia.org, ldd.go.th, dss.go.th

 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
19 ตุลาคม วันเทคโนโลยีของไทย อัปเดตล่าสุด 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 14:26:49 93,624 อ่าน
TOP
x close