x close

โรคเท้าเหม็น คุณเป็นหรือเปล่า

สปาเท้า



          โรคเท้าเหม็น (Pitted Keratolysis) เป็นโรคที่พบมากในเขตร้อน พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิง แต่จะพบได้บ่อยในผู้ชาย เพราะจะมีเหงื่อออกที่ฝ่าเท้ามากกว่า และผู้ชายมักสวมถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เกิดการหมักหมมบริเวณเท้า

          คนเป็นโรคเท้าเหม็น หากสังเกตก็จะเห็นหลุมเล็กๆ ที่ฝ่าเท้า บางครั้งหลุมอาจรวมตัวกันเป็นแอ่งเว้าตื้นๆ มักพบตามฝ่าเท้าที่รับน้ำหนัก และที่ง่ามนิ้วเท้า

          อาการที่แสดงออกมาของโรคเท้าเหม็นคือ ร้อยละ 90 เท้ามีกลิ่นเหม็นมาก ร้อยละ 70 คือ เวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า ส่วนอาการคันนั้นพบได้น้อยเพียง ร้อยละ 8 เท่านั้น

  วิธีการรักษาโรคเท้าเหม็น

          1. พยายามทำให้เท้าแห้งอยู่เสมอ โดยอาจใช้แป้งฝุ่นฆ่าเชื้อโรยที่เท้า หรือยารักษาสิว (Benzoyl Peroxide) ก็นำมาใช้ได้เช่นกัน นอกจากนั้นก็อาจใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อราชนิดทาก็ได้

         2. โบทอกซ์ที่ใช้แพร่หลายกันในเรื่องการลดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ก็สามารถนำมาใช้รักษาโรคเท้าเหม็นได้ด้วย โดยการฉีดโบทอกซ์เข้าไปที่ฝ่าเท้าเพื่อลดเหงื่อที่ออกมากๆ ประมาณ 6-12 เดือน ก็จะเห็นผล (วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก 10,000-20,000 ต่อครั้ง)

          3. การใช้ไอออนโตเพื่อลดเหงื่อ ซึ่งเป็นวิธีการที่ปฏิบัติกันมากว่าเจ็ดสิบปีแล้ว โดยทำบริเวณที่มีเหงื่อให้เหงื่อออกมาครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จนเหงื่อที่ออกลดลงเป็นปกติ วิธีนี้ไม่เจ็บ ไม่แพง แต่ก็ไม่นิยมในบ้านเรา

          4. แช่เท้าในน้ำล้างเท้าผสมสูตรระงับกลิ่นทุกวัน โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที

  สูตรผสมน้ำระงับกลิ่นเท้า

          - น้ำอุ่นผสมน้ำส้มสายชูกับด่างทับทิม

          - น้ำอุ่นผสมส้มฝานบางๆ อาจใช้มะนาวแทนก็ได้

          - น้ำอุ่นผสมกระเทียมทุบ 2-3 กลีบ

          - น้ำอุ่นผสมน้ำมะขามเปียก

          - น้ำชาจีนอุ่นๆ ต้มแก่ๆ (สูตรนี้จะไม่ถูกกรดอ่อนๆ กัดเท้าเหมือนสูตรอื่น)

  7 เคล็ดลับรักษาเท้าให้น่าคลั่งไคล้  

          1. จงเข้าใจว่าศัตรูของเท้าไม่ใช่ความแห้ง แต่เป็นกลิ่น ดังนั้นไม่ควรหมักหมมเท้าไว้ในรองเท้าให้นานเกินไป ควรหาเวลาถอดเพื่อระบายเหงื่อ หรือใช้สเปรย์แป้งเพิ่มความสดชื่นให้แก่เท้าอยู่เสมอ

          2. เวลาล้างเท้าควรล้างอย่างพิถีพิถันโดยเฉพาะบริเวณแต่ละง่ามนิ้วเท้า ควรใช้สบู่เด็กหรือผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดโดยเฉพาะ เพราะบริเวณนั้นเป็นแหล่งรวมของเชื้อราเลยทีเดียว จากนั้นก็ล้างด้วยน้ำสะอาดให้หมดจด

          3. ควรประณีตกับการล้างเท้าสักหน่อย โดยการใช้ "หินลอย" (Pumice Stone) มาขัดหนังที่แข็งกระด้างออก และไม่ลืมที่จะใช้เวลาในการเช็ดเท้าให้แห้งสนิทมากที่สุดด้วย

          4. แล้วเมื่อเท้ามีอาการปวดเมื่อยจากการเดิน หรือวิ่งก็ตาม ง่ายๆ เลยเพื่อระงับความปวดเมื่อยคือ การนำเท้าไปแช่น้ำอุ่น (ผสมเกลือ) สัก 10-15 นาที แล้วยกออก ตามด้วยการจุ่มน้ำเย็นสัก 1-2 นาที ก็จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และยังทำให้ผิวเท้านุ่มขึ้นอีกด้วย

          5. เมื่อมีเวลาว่างเมื่อใด ก็ควรนำเท้าไปนวดครีมหรือนวดน้ำมัน เพื่อรักษาผิวให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ

         6. ไม่ควรใส่รองเท้าที่คับจนเกินไปเพราะนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดแล้ว ยังทำให้เกิดแผลและตาปลาอีกด้วย

          7. ไม่ควรทำเล็บที่ร้านเสริมสวย หรือใช้เครื่องมือของทางร้าน เพื่อป้องกันความสกปรกหรือโรคผิวหนังที่จะติดมากับเครื่องมือเหล่านั้น (ทำด้วยตัวเองดีที่สุด)


images คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคเท้าเหม็น คุณเป็นหรือเปล่า อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2551 เวลา 08:52:34 38,927 อ่าน
TOP