x close

ย้อนรอยปมลอบสังหาร ประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกา

ประมาณ-รังสรรค์


ย้อนรอยปมลอบสังหาร "ประมาณ ชันซื่อ" ประธานศาลฎีกา คดีประวัติศาสตร์ยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี

            ภายหลังจากที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาให้จำคุก นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ นักธุรกิจและสถาปนิกชื่อดัง และนายอภิชิต อังศุธรางกูรหรือเล็ก สตูล เป็นเวลา 25 ปี ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ฐานจ้างวานฆ่านายประมาณ ชันซื่อ อดีตประธานศาลฎีกา เหตุเกิดเมื่อปี 2535-2536 รวมทั้งยังได้ตัดสินจำคุก นายสมพร หรือหมา เดชานุภาพนายเณร มหาวิไล ซึ่งเป็นทีมมือปืน เป็นเวลา 16 ปี 8 เดือน 

            ถือว่าคดีการต่อสู้ยาวนานกว่า 15 ปี ในที่สุดก็ได้มีผลแห่งกระบวนการยุติธรรมออกมาในระดับหนึ่งแล้ว "มติชนออนไลน์" ขอย้อนรอยเหตุการณ์คดีประวัติศาสตร์นี้ไว้ เพื่อย้ำเตือนเหตุแห่งคดีที่ยาวนานให้ได้รับทราบกัน 

            เมื่อ วันที่ 25พฤษภาคม  2536 พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ผกก.2 ป. พ.ต.ท.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย สว.ผ.2 กก.2 ป. พ.ต.ต.ทวี สอดส่อง สว.ผ.4 กก.2 ป. นำกำลังเข้าจับกุมนายเณร มหาวิไล และนายสมพร หรือ หมา เดชานุภาพ พร้อมด้วยรถปิกอัพอีซูซุสีขาวทะเบียน 6 ป-1246 กทม. ที่บริเวณหน้าบ้านนายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกา (ขณะนั้น) บ้านเลขที่ 278 ซอยศรีนคร ถนนนางลิ้นจี่ กทม.โดยรับสารภาพว่า นายบรรเจิด จันทนะเปลิน เจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เสรีนคร จ.นครสวรรค์ ให้สังหารนายประมาณ เป็นเงิน 1 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบจึงประสาน พ.ต.อ.รังสรรค์ ชำนาญหมอ รองผบก.ภ.9 นำกำลังเข้าจับกุมนายบรรเจิดได้ที่บ้านพัก

            ทั้งนี้ ใน วันที่ 27 พฤษภาคม2536 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ขณะนั้น) ชี้แจงในการประชุมสภาว่า คดีนี้อธิบดีกรมตำรวจ (อ.ตร.) รายงานให้ทราบตั้งแต่เริ่มวางแผนสืบสวนอยู่ 3 เดือน และแต่งตั้ง พล.ต.ท.ธนู หอมหวล ผบช.ก.ทำการสืบสวนจับกุม 

            ต่อมานายบรรเจิดได้รับสารภาพเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2536 ว่า ได้รับการจ้างวานมาจาก นายอภิชิต อังศุธรางกูร หรือ เล็กสตูล ประธานกลุ่มผู้สื่อข่าว "ฉลามดำ" และเจ้าของบริษัททำนากุ้ง ที่มีนายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังเป็นประธานบริษัท พ.ต.อ.จุมพล จึงนำกำลังเข้าจับกุมนายอภิชิต 

            เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2536 ก็เข้าจับกุมนายรังสรรค์ แล้วนำตัวมาสอบสวนที่กองปราบฯ ซึ่งนายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความแม็กไซไซ เดินทางมาเป็นทนายให้ โดยมีนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคชาติไทย (ขณะนั้น) นายโสภณ เพชรสว่าง ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคชาติพัฒนา (ขณะนั้น) และนายเนวิน ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคชาติไทย (ขณะนั้น) เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องสงสัยด้วย 

            อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.เฉลิมชาติ สิตานนท์ รองผบก.ป.ได้รับหนังสือจากนายรังสรรค์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน อ้างเป็นโรคความดันโลหิตสูงและถุงน้ำดีอักเสบ จึงให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งนายรังสรรค์ได้ออกจากโรงพยาบาลไปในช่วงกลางดึกวันที่ 22 มิถุนายน 2536 โดยพล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ ผบก.ป. เปิดแถลงใหญ่เวลาต่อมาว่า 

            "มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 4 คน มีนายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ นายอภิชิต อังศุธรางกูรหรือ เล็ก สตูล นายสมพรหรือ หมา เดชานุภาพ และนายเณร มหาวิไล ในข้อหาใช้จ้างวาน-ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใดให้ผู้อื่นไปกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยมีสาเหตุมาจาก 6 ประเด็น

            1.คดีฟ้องร้องคอนโดพัทยา 

            2.คดีศูนย์การค้ายักษ์เรื่องค่าจ้างออกแบบ 

            3.คดีฟ้องร้องหมิ่นประมาท 3 คดีโยงมาจากข้อพิพาทต่างๆ 

            4.กรณีสั่งระงับการสร้างศาลฎีกา 

            5.กรณีข้าราชการหญิงคนหนึ่งถูกย้าย 

            6.กรณีวิกฤตตุลาการ

            หลังจากหลายฝ่ายออกตามหานายรังสรรค์ ก็พบว่าเจ้าตัวมาอยู่ที่บริษัทรังสรรค์สถาปัตย์ โดยไม่ได้หลบหนีไปตามที่หลายฝ่ายกังวล 

            คดีดำเนินต่อเนื่องมาจนเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 นายรังสรรค์ ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดขอให้ถอนฟ้องคดีดำหมายเลขที่ 990/2536 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ คำร้องระบุว่า ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่1/2543 ศาลได้วินิจฉัยเพียงว่า ข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2543 และคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2536 มิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ดังนั้น การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อบังคับ ของกระทรวงมหาดไทยและคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งการกระทำของพนักงานสอบสวนไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 โดยสำนักงานอัยการสูงสุดรับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาต่อไป 

            สำหรับประวัติ นายประมาณ ชันซื่อ นั้น เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 5 ,ภาค 9 และ เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม สมัยวิกฤตตุลาการ ยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ครองอำนาจ ก่อนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในปี 2535 - 2539 รวม 4 ปี เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ริเริ่มหลักสูตรวิทยาลัยผู้บริหารงานยุติธรรมระดับสูง หรือ บยส. และริเริ่มการเสนอต่ออายุข้าราชการตุลาการที่ เกษียณอายุราชการ 60 ปี ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสถึงอายุ 65 ปี 

            ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ด้วยโรคปอดติดเชื้อ ในวัย 71 ปี หลังเข้ารับการรักษาตัวที่ห้องไอซียู 8 ชั้น 9 โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2550



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอยปมลอบสังหาร ประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกา อัปเดตล่าสุด 1 ตุลาคม 2551 เวลา 15:17:52 47,855 อ่าน
TOP