ในวันที่ใจเหนือกว่าสังขาร ของ พระครูปลัดวิโรจน์











 

 

 

 

สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มหาลัย'ชีวิต

          "ร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ก็ไม่อาจเป็นอุปสรรคขวางกั้นแรงศรัทธาแห่งแสงธรรมได้" คงเป็นคำนิยามถึง "พระครูปลัดวิโรจน์" แห่งสำนักสงฆ์สุวรรณหงษ์ได้ดีที่สุด

          
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน ชายหนุ่มแห่งเมืองหลวง นาม "วิโรจน์ สีบุญเรือง" พาสังขารที่ไม่สมบูรณ์ เพราะถูกรุมเร้าจากโรคโปลิโอตั้งแต่เด็ก เข้ามาถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาที่วัดธาตุทอง ด้วยแรงใจใฝ่ธรรมะอย่างเปี่ยมล้น ก่อนที่พระครูจะหลีกหนีความสับสนวุ่นวายของเมืองใหญ่มาจำวัดอยู่ที่สำนักสงฆ์สุวรรณหงษ์ (เขาจีนแล2) ในจังหวัดลพบุรี

          "เริ่มต้นอาตมาเริ่มบวชที่วัดธาตุทอง แต่ด้วยความที่ว่าเป็นวัดในเมืองหลวง ก็ไม่สะดวกนักที่จะศึกษาธรรม จึงอยากมาอยู่ในต่างจังหวัดไกลๆ สัปปายะ (สิ่งที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูล ช่วยสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย) มากกว่า ก็มาอยู่ที่สระบุรี ก็มีหลวงตาท่านแนะนำว่า ที่ลพบุรีมีสำนักสงฆ์ที่หนึ่งเป็นเพิงไม้ ไม่ได้เจริญอะไร เป็นพื้นดินที่แห้งแล้ง ก็เลยลองอยู่ดู เงียบสงบดี ก็ค่อยๆ พัฒนากันไปเรื่อยๆ มา จนวันนี้ก็ 7 ปีแล้ว" พระครูปลัดวิโรจน์ กล่าว

          ที่สำนักสงฆ์สุวรรณหงษ์ (เขาจีนแล2) นี้ แทบไม่มีอะไรที่สุขสบายเทียบเท่าวัดในเมืองหลวงเลย ญาติโยมที่เข้ามาก็มีไม่มากนัก เพราะวัดอยู่ไกลเดินทางลำบาก ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องไม่มีน้ำมากว่า 4 ปี แล้ว จะใช้น้ำทีต้องขุดบ่อ หรือต้องให้ทหารนำน้ำมาให้ แต่พระครูก็ยินดีที่จะอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้เพราะเป็นทางที่เลือกแล้ว

          แม้จะเดินเหินลำบากจากสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ทุกวันหลวงพ่อจะออกบิณฑบาตพร้อมกับไม้เท้าคู่ใจสำหรับพยุงกาย วันใดที่คนตักบาตรน้อย หลวงพ่อก็จะฉันเพียงมื้อเช้ามื้อเดียว หรือบางวันมีชาวบ้านมาขอข้าวปลาอาหาร หลวงพ่อก็จะยกให้ชาวบ้านแทนส่วนของตัวเอง 

          หลวงพ่อบอกว่า ที่สำนักสงฆ์สุวรรณหงษ์นี้มีพระจำวัดอยู่เพียง 3 รูป เพราะลำบากมาก ต้องใช้ความอดทนสูง เจ็บป่วยแต่ละทีก็ลำบาก เพราะต้องโทรศัพท์ไปจ้างคนที่อยู่ในเมืองให้มารับไปหาหมอ ซึ่งค่ารถยังแพงกว่าค่าหมอด้วยซ้ำ ทำให้ต้องพยายามดูแลไม่ให้เจ็บป่วย แต่หลวงพ่อก็ไม่ยี่หระกับความลำบากแม้แต่น้อย ถึงกระนั้นหลวงพ่อก็เคยเข้าเมืองไปหาหมออยู่หลายครั้ง เพราะความผิดปกติของร่างกาย ทำให้เดินเหินลำบากจนเกิดอุบัติเหตุ

          "เคยตกเขา 4 ครั้ง เพราะลื่น ยั้งไว้ไม่อยู่ กลิ้งลงจากบันได ข้อมือเดาะ รักษาตัวเองก่อนพอเริ่มดีขึ้น จึงว่าจ้างให้ชาวบ้านพาไปหาหมอ ก็ปรากฏว่ากระดูกร้าว เอ็นฉีก ขาขวาตอนนี้ก็ที่เห็นว่าเป็นโปลิโอ ขาซ้ายก็ข้อเข่าเสื่อมอีก ก็เดินเหินลำบากมากขึ้น แต่ปัญหาจริงๆ ที่กังวลในตอนนี้คือสายตา เพราะเป็นโรคสายตาสั้นไม่หยุดต้องเพิ่มขนาดเลนส์ตลอด กระบอกตามีปัญหา(ปัจจุบันสั้นกว่า 1000 แล้ว) การรักษาก็เสี่ยง ต้องใช้มีดกรีด หมอก็กลัวไม่กล้าผ่า เพราะมีโอกาสครั้งเดียว ถ้าพลาดก็บอด ตาตอนนี้ก็พร่ามัวอยู่ตลอด แต่ก็ต้องอยู่กันไป อาศัยคิดว่า คิดดี ทำดี ปฏิบัติดี ก็พอ"

          แม้ร่างกายจะเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 และช่วงนั้นวงการแพทย์ยังหาวิธีรักษาไม่ได้ ทำให้พระครูน้อยใจในโชคชะตาตัวเองอยู่บ้างตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส และเมื่อเข้ามาในร่มกาสาวพักตร์แล้ว หลวงพ่อก็ไม่ย่อท้อ พยายามคิดดี ทำดี และปฏิบัติกิจเฉกเช่นกับพระปกติทั่วไป ไม่ว่าจะบิณฑบาต กวาดวัด ขัดห้องน้ำ และการปฏิบัติธรรม 

          "ทำวันนี้ดี พรุ่งนี้ก็ดีเอง และอดีตก็จะดีตามไป หน้าที่เราคือสงฆ์ แผ่เมตตาไป ธรรมมะช่วยได้มาก แต่ไม่ได้หวังอะไรจากใคร ใครจะเห็นหรือไม่ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำดีต่อไป ปฏิบัติธรรม ใครมีปัญหาชีวิต เกิดมาหรือที่ได้เกิดก็เพื่อมาสร้างความดี ใครทำร้ายตนเองก็คิดผิด ถ้าไตร่ตรองเสียหน่อย มีครอบครัว รักครอบครัวไว้ ถ้าเราไปซะคนหนึ่งครอบครัวจะทำอย่างไร อย่าตัดช่องน้อยแต่พอตัว นึกถึงผลที่จะตามมา"

          เพราะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า หลวงพ่อเล่าให้ฟังถึงตอนตัดสินใจเข้ามารับใช้พระพุทธศาสนาว่า

          "ก่อนจะบวชก็ได้บอกโยมแม่ว่าจะบวชแล้วนะ โยมแม่ก็ถามว่าจะบวชเมื่อไร ก็บอกว่าพรุ่งนี้ แล้วก็ไปบวช พระที่บวชให้ที่วัดธาตุทองอาตมาท่านก็ถาม ว่าเธอมาบวชนี่ต้องการบวชกายหรือบวชใจ ก็ตอบว่าบวชใจ ท่านก็บอกดีแล้ว ถ้าเธอบวชใจ กายเธอก็บวชด้วย ถ้าบวชกายอย่างเดียวใจไม่บวชก็ไม่ใช่พระ ชีวิตทางโลกถ้าเรากดดันเราก็ระบายออกได้ แต่ถ้าเป็นพระต้องเก็บไว้ อดกลั้น อดทน ใช้อุเบกขา (การวางเฉย) ถ้าเราไปแสดงออกทางอารมณ์ก็ไม่เหมาะสม มีมากก็ละโมบไม่ได้ ถ้าภาวนาว่าจะไปนิพพาน ก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ก้าว 3 ก้าว ก็ต้องถอยสักก้าว เพื่อมาพิจารณาในสิ่งที่ทำไป"

          การอุทิศตัวเพื่อรับใช้พระศาสดาเป็นความใฝ่ฝันอันสูงสุดของพระครูปลัดวิโรจน์ ยิ่งไปกว่านั้นหลวงพ่อยังพร้อมจะอุทิศตนให้กับคนอื่น ด้วยการบริจาคโลหิตถึง 139 ครั้งแล้ว จนได้รับพระราชทานพัดกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 3, 2 และ 1 ตามลำดับ

          "ร่างกายอาตมาหลังจากละสังขารแล้วก็บริจาคทั้งหมดให้โรงพยาบาลศิริราช อวัยวะบางส่วนให้สภากาชาดไทย ชิ้นส่วนไหนใครเอาไปใช้ประโยชน์ได้ก็เอาไปเถอะ ไม่ยึดติด ไม่มีอะไร"

          การไม่ยึดติดทำให้หลวงพ่อปลงตก และใช้ชีวิตอย่างสงบสุข เพราะคิดว่าสังขารเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น วันหนึ่งก็ต้องผุพังลงไป เช่นนั้นแล้วก่อนจะละทิ้งสังขาร สู้ทิ้งสิ่งดีๆ ไว้ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ เพื่อให้คนรุ่นหลังสืบทอดต่อไปไม่ดีกว่าหรือ 

          บัญชีที่สามารถบริจาคได้ 
         
ชื่อบัญชี พระวิโรจน์ สีบุญเรือง ธนาคารกรุงเทพ สาขา สระแก้ว ลพบุรี 
          หมายเลขบัญชี 391-0-55590-7

 

 
 คลิปวีดิโอ เปิดใจพระครูปลัดวิโรจน์ (1)

 
 คลิปวีดิโอ เปิดใจพระครูปลัดวิโรจน์ (2)

 
 คลิปวีดิโอ เปิดใจพระครูปลัดวิโรจน์ (3)




imagesคลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ในวันที่ใจเหนือกว่าสังขาร ของ พระครูปลัดวิโรจน์ อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2551 เวลา 11:30:19 33,254 อ่าน
TOP
x close