วันวชิราวุธ 25 พฤศจิกายน


          เหล่าข้าราชการ และลูกเสือ ย่อมจะไม่ลืมวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เพราะวันดังกล่าวนี้ตรงกับวันวชิราวุธ ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงริเริ่มกิจการลูกเสือในประเทศไทย วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำเกร็ดความรู้ในวันสำคัญนี้มาฝากกันค่ะ

วันวชิราวุธ


ความเป็นมาของวันวชิราวุธ


          วันวชิราวุธ ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี สาเหตุที่กำหนดให้เป็นวันนี้ เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านการคมนาคม การปกครอง กิจการเสือป่าและลูกเสือ รวมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมและด้านวรรณคดี 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ทางการจึงกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันวชิราวุธ เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ทั้งนี้ ภายหลังมีหลักฐานยืนยันว่า วันสวรรคตจริงตรงกับเช้ามืดช่วงตี 1 ของวันที่ 26 พฤศจิกายน แต่ทางราชการยังคงถือว่าวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันวชิราวุธ

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


          พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระมารดารวม 8 พระองค์ ซึ่งมีพระอนุชาองค์เล็กคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

          เมื่อเจริญพระชนมายุครบเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ" ในปี พ.ศ. 2431 เมื่อมีพระชนมายุ 8 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้า "กรมขุนเทพทวาราวดี" ให้ทรงมีพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ 2 รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และได้มีพระราชพิธีโสกันต์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2435

          ขณะทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ทรงศึกษาความรู้จากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) และหม่อมเจ้าประภากร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทั้งในพระบรมมหาราชวัง และโรงเรียนสวนกุหลาบ จนเมื่อมีพระชนมายุ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ

          ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้สวรรคตเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 พระองค์จึงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สืบแทน และได้ประกอบพระราชพิธีขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 ที่ประเทศไทย และที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2437 พระองค์มีพระราชดำรัสอันเป็นพระวาทะอมตะว่า "ข้าพเจ้ากลับไปยังประเทศสยามเมื่อใด ข้าพเจ้าจะเป็นไทยให้ยิ่งกว่าวันที่ออกเดินทางมา"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก : Panya7 / Shutterstock

          พระองค์ทรงศึกษาสรรพวิชาหลายแขนง ทั้งการทหารบก ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิร์สต์, วิชาประวัติศาสตร์และกฎหมาย ที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และทรงพระราชนิพนธ์วิทยานิพนธ์ทางประวัติศาสตร์เรื่อง The War of the Polish Succession แต่ระหว่างที่ศึกษาอยู่ทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ ทำให้ต้องทรงรับการผ่าตัดทันที จึงทรงพลาดโอกาสที่จะได้รับปริญญา

          ปี พ.ศ. 2447 พระองค์เสด็จออกพระผนวชตามราชประเพณี ประทับอยู่ประจำวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยุโรปครั้งที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจในราชกิจไว้แด่พระองค์ในฐานะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ซึ่งตรงกับวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครานั้นพระองค์ยังโทมนัสและไม่มีพระราชประสงค์ที่จะแลกสิริราชสมบัติของพระองค์กับการสูญเสียพระชนม์ชีพของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จนกระทั่งเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ข้าราชการชั้นต่าง ๆ มาเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบถวายบังคมอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แต่หลังจากนั้นเพียง 1 วัน คือวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร รวมพระชนมพรรษาได้ 45 พรรษา รวมเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 ปี


พระราชกรณียกิจที่สำคัญ


          ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะด้านการปกครอง การศึกษา กิจการกองเสือป่า ด้านวรรณกรรม ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่ยังให้เกิดความวัฒนาต่อสยามประเทศ ซึ่งจะยกมาเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านสำคัญ ๆ ดังนี้

ด้านการศึกษา


          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษามากมาย เช่น

          ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นโรงเรียนในพระองค์ แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล ที่เป็นไปตามโบราณราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์จะต้องสร้างวัดประจำรัชกาลไว้เป็นอนุสรณ์ แต่พระองค์ทรงเห็นว่าในสมัยก่อนการสร้างวัดมีขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานศึกษา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสถานศึกษาขึ้นโดยตรง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2469

          พ.ศ. 2459 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย

          พ.ศ. 2464 ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาเป็นครั้งแรก โดยกำหนดการศึกษาภาคบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องเรียนหนังสือในโรงเรียนจนกระทั่งอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์

ด้านเศรษฐกิจ


          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสินพุทธศักราช 2456 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักการออม จนเมื่อปี พ.ศ. 2458 จึงจัดตั้งธนาคารออมสิน นอกจากนั้นแล้วพระองค์ยังทรงเห็นการณ์ไกลว่าในภายภาคหน้าจะต้องมีการสร้างบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศและเป็นไปตามแบบอารยประเทศ ดังนั้น พระองค์จึงทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459

ด้านการคมนาคม


          ในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟที่เคยแยกกัน เป็น "กรมรถไฟหลวง" และเริ่มเปิดการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ อีกทั้งรถด่วนระหว่างประเทศจากธนบุรี เชื่อมไปถึงปีนังและสิงคโปร์ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 เพื่อเชื่อมทางรถไฟไปยังภูมิภาคอื่น

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข


          ในปี พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งวชิรพยาบาลและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้น อีกทั้งทรงเปิดสถานเสาวภา ในปี พ.ศ. 2465 เพื่อรักษาคนที่ถูกสัตว์ร้ายกัด

ด้านการปกครอง

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงคำเรียกชื่อ "เมือง" เป็น "จังหวัด" แทน นอกจากนี้ในด้านการปกครอง เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแม่แบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พระองค์ทรงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเมืองไทยจะต้องมีการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน จึงมีพระราชดำริให้ทำการทดลองระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งเมืองจำลอง "ดุสิตธานี" ขึ้น ภายในพระราชวังดุสิต ในปี พ.ศ. 2461 ก่อนจะย้ายมาที่พระราชวังพญาไทในปีถัดมา

          จุดประสงค์เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยจัดให้มีพรรคการเมือง 2 พรรค มีหนังสือพิมพ์รายวันที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง 3 ฉบับ ได้แก่ ดุสิตสมิตรายปักษ์ ดุสิตสมัย และดุสิตสักขี รวมทั้งได้ทดลองให้มีการเลือกตั้งขึ้น แต่ดุสิตธานีได้สิ้นสุดลงหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพจาก : โครงการจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย พ.ศ. 2560


          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ให้ได้รับการฝึกหัดอย่างทหาร เพื่อให้เป็นราษฎรที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ และส่งเสริมความสามัคคี โดยเหล่าเสือป่าจะมีหน้าที่ในการรักษาความสงบทั่วไปในเมือง

          ขณะเดียวกันก็ได้ทรงก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพื่อฝึกให้เยาวชนมีความเข้มแข็ง อดทน เสียสละ สามัคคี ดังที่ได้พระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" และดังพระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง หัวใจนักรบ และความดีมีไชย ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับบทบาทและหน้าที่ของลูกเสือ

ด้านการต่างประเทศ


          ในสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นในทวีปยุโรป ประเทศไทยได้ประกาศวางตัวเป็นกลาง แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายเยอรมนี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และได้เข้าร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อรักษาสิทธิของประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารไทยอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิในยุโรปด้วย จนเมื่อสงครามสิ้นสุดด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศไทยจึงมีโอกาสเจรจากับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศเพื่อแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จนเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2469 ทำให้ไทยได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกลับคืนมา และสามารถเก็บภาษีอากรได้ตามกฎหมายไทย

          การประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการใช้ธงช้างเดิม เปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์แทนตามลักษณะสีธงชาติของประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรกับประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 ประเทศไทยจึงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ ทั้งนี้ การไปร่วมรบในฐานะฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ทหารหลายนายเสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลก ครั้งที่ 1 ไว้เป็นอนุสรณ์สถานที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือของท้องสนามหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2462 เพื่อสดุดีวีรกรรมของบุคคลเหล่านั้น

ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย


          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในหลาย ๆ สาขา คือ

ด้านนาฏศิลป์ 

 

          เนื่องจากพระองค์โปรดการแสดงโขนละคร จึงได้พระราชนิพนธ์บทละครไว้หลายเรื่อง และยังเคยทรงแสดงละครเวทีด้วยพระองค์เอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมมหรสพขึ้น เพื่อรวมเอากรมต่าง ๆ ในด้านมหรสพมารวมกันไว้ในที่เดียว และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงละครหลวงไว้ในพระราชวังทุกแห่งเพื่อใช้แสดงละคร

ด้านสถาปัตยกรรม 

 

          พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งแบบไทยหลังแรก คือ พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นพระที่นั่งท้องพระโรงสำหรับเสด็จออก ใช้แสดงโขน และเป็นที่อบรมเสือป่า อีกทั้งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้านวัฒนธรรมไทย 

 

          ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยมีนามสกุลใช้สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูล นอกจากนี้พระองค์ได้พระราชทานนามสกุลให้บุคคลต่าง ๆ ไว้ประมาณ 6,432 นามสกุล ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สตรีโสดใช้คำว่า "นางสาว" นำหน้าชื่อ หากแต่งงานแล้วให้ใช้ "นาง" เพื่อสอดคล้องกับ "นาย" ของฝ่ายชาย รวมทั้งคำว่า "เด็กหญิง เด็กชาย" ด้วย

ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์


          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านวรรณกรรมเป็นอย่างมาก พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ชิ้นงานหลายประเภท ทั้งโขน ละคร พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุศาสนีย์ เทศนาปลุกใจเสือป่า นิทานชวนหัว คำประพันธ์ ร้อยกรอง สารคดี และบทความในหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยทรงใช้พระนามแฝงอยู่หลายชื่อ เช่น ศรีอยุธยา รามจิตติ พันแหลม อัศวพาหุ เป็นต้น

          พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริมการแต่งหนังสือเพื่อฟื้นฟูวรรณกรรม โดยให้ตราพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 เพื่อพิจารณายกย่องหนังสือไทยประเภทต่าง ๆ ที่แต่งได้ดีเยี่ยม ซึ่งพระราชนิพนธ์ของพระองค์ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ได้แก่ บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ, บทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา และพระนลคำหลวง นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์ยังได้เกิดนักกวีสำคัญ ๆ หลายคน เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระยาอนุมานราชธน นายชิต บุรทัต เป็นต้น

ด้านการหนังสือพิมพ์ 

 

          พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการพิมพ์ฉบับแรกขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2465 และพระองค์ได้พระราชนิพนธ์บทความสำคัญ ๆ จำนวนมากลงในหนังสือพิมพ์ เช่น ยิวแห่งบูรพทิศ ลงในหนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ และโคลนติดล้อ ลงในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย งานพระราชนิพนธ์ของพระองค์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจนถึงกับมีประชาชนเขียนล้อเลียนโต้ตอบลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ในชื่อ "ล้อติดโคลน" 


พระเกียรติคุณ


          ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงสร้างให้กับประชาชนชาวไทยอย่างมากมายมหาศาล ปวงชนชาวไทยจึงรวมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่า "พระมหาธีรราชเจ้า" อันหมายถึงมหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ เพื่อเป็นการยกย่องและเทิดพระเกียรติคุณแด่พระองค์

          ทั้งนี้ ในวาระครบรอบ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงได้ยกย่องพระองค์ท่านให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก พร้อมกับได้มีพระราชพิธีเปิดอาคารหอวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อเก็บรวบรวมพระราชนิพนธ์เรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านไว้ให้ประชาชนได้ค้นคว้าศึกษา อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่จัดแสดงละครพระราชนิพนธ์

          คุณูปการในหลาย ๆ ด้านที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อประเทศไทย ทำให้เหล่าข้าราชการ ตลอดจนพสกนิกรทั้งหลาย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นบริเวณหน้าสวนลุมพินี โดยเป็นพระบรมรูปยืนขนาดใหญ่ในฉลองพระองค์จอมทัพบก มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ และได้ทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ก่อนที่จะมีการกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันถวายบังคมพระบรมรูปเป็นประจำทุกปี


กิจกรรมในวันวชิราวุธ

 

วันวชิราวุธ
ภาพจาก : aimpol buranet / Shutterstock


          ทุกปีเหล่าผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ลูกเสือ และเนตรนารี จะจัดพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี เพื่อน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้น

          ดังจะเห็นว่าพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพัฒนาไว้ ล้วนแต่เป็นรากฐานที่นำไปสู่ความเจริญของประเทศไทย เราคนไทยจึงควรรำลึกถึงวันวชิราวุธ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ เพื่อเทิดพระเกียรติและตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณสืบไป

เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ


ขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดียpanyathai.or.thwjd.ac.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันวชิราวุธ 25 พฤศจิกายน อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2567 เวลา 21:53:06 293,686 อ่าน
TOP
x close