วันทหารผ่านศึก 3 กุมภาพันธ์


          วันทหารผ่านศึก ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดงานวันทหารผ่านศึก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เพื่อสดุดีวีรกรรมทหารผ่านศึกที่เสียสละรักษาชาติ


วันทหารผ่านศึก

          การรบถือเป็นงานหลักของเหล่า "ทหาร" ที่เป็นแนวหน้าคอยปะทะปกป้องประเทศชาติไม่ให้ศัตรูมารุกราน แต่หลังจากสงครามสิ้นสุดลง การสูญเสียมักจะมาเยือนเสมอ ทั้งบาดเจ็บ ล้มตาย รวมถึงพิการ ซึ่งในช่วงแรกทุกคนต่างให้เกียรติในฐานะวีรบุรุษ แต่นานวันเข้าเหล่าวีรบุรุษก็ถูกสังคมลืมเลือน กลายเป็นความทรงจำสีจาง "ทหารผ่านศึก" ถูกมองเป็นแค่เพียงคนพิการกินเงินบำนาญ ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วพวกเขามีความสามารถและต้องการให้สังคมยอมรับ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปค้นหาที่มาของวันทหารผ่านศึก ที่มีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าที่หลาย ๆ คนคิดไว้


ประวัติวันทหารผ่านศึก


          หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง มีทหารไทยจำนวนมากที่ถูกปลดจากการเป็นทหาร จึงได้มีเสียงเรียกร้องขอให้ทางการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2490 กระทรวงกลาโหม จึงได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารที่กลับจากปฏิบัติการรบ และช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ แต่ก็ยังเป็นหน่วยงานที่ไม่เป็นทางการ

          ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น โดยได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และได้มีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 จึงได้ยึดเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันทหารผ่านศึก" โดยมี พลโท ชมะบูรณ์ ไพรีระย่อเดช เป็นผู้อำนวยการคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2510 องค์การทหารผ่านศึกได้ปรับเปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์กรเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหม และเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราว

 

ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก


         
ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก ได้แก่ การให้การสงเคราะห์แก่ทหารที่ผ่านการปฏิบัติการรบ และครอบครัวของทหารที่ปฏิบัติการรบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ

          1. การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ เป็นการให้การสงเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่อยู่อาศัย การศึกษา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านอวัยวะเทียม

          2. การสงเคราะห์ทางด้านอาชีพ โดยการฝึกอบรมและการฝึกอาชีพ ให้ความช่วยเหลือทางด้านการทำงาน จัดหางานให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          3. การสงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม จัดสรรที่ทำกินในด้านเกษตรกรรมให้ และให้ความช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือและวิชาการ

          4. การสงเคราะห์ด้านกองทุน โดยการจัดหาเงินทุนให้สมาชิกขององค์การทหารผ่านศึกได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ

          5. การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลให้แก่สมาชิกโดยไม่คิดมูลค่า

          6. ให้มีการส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก โดยการขอสิทธิพิเศษในด้านต่าง ๆ ให้แก่ทหารผ่านศึก เช่น การขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น


ดอกป๊อปปี้ สัญลักษณ์วันทหารผ่านศึก


ดอกป๊อปปี้

          ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ทั่วโลกจะได้จัดงานเฉลิมฉลองเพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารผู้เสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยและอธิปไตยของชาติ รวมถึงจำหน่าย "ดอกป๊อปปี้สีแดง" ให้เป็นสัญลักษณ์แทน "ทหารผ่านศึก" ซึ่งสีแดงของดอกป๊อปปี้ คือ เลือดของทหารหาญที่ได้หลั่งชโลมแผ่นดินไว้ด้วยความกล้าหาญ เสียสละอันสูงสุด

          สำหรับประเทศไทยนั้น การจัดทำดอกป๊อปปี้ เพื่อจำหน่ายในวันทหารผ่านศึก เกิดจากดำริของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ประธานสโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก หรือมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในปัจจุบัน ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหารและครอบครัวทหารผ่านศึกที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ จึงได้เลือกเอาดอกป๊อปปี้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ 

          แล้วสงสัยไหมว่าทำไมถึงเป็น "ดอกป๊อปปี้" ที่มาของดอกป๊อปปี้ มาจากในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสมรภูมินี้มากที่สุด จอมพล เอิร์ล ออฟ เฮก ผู้บัญชาการรบ ได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าพิศวงเกิดขึ้นในบริเวณหลุมฝังศพทหาร โดยมีดอกป๊อปปี้ป่าขึ้นอยู่ดารดาษทั่วไป ทำให้เกิดเป็นลานสีแดงฉานสวยงาม ตั้งแต่นั้นมาดอกป๊อปปี้จึงกลายเป็นดอกไม้อนุสรณ์แห่งวีรกรรมของทหารผ่านศึก เตือนใจให้ระลึกถึงเลือดสีแดงของทหารที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ


กิจกรรมในวันทหารผ่านศึก


          
ในวันทหารผ่านศึกของทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจะจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้า พร้อมกับพิธีเทิดไท้องค์ราชัน การเดินแถวของทหารผ่านศึก การเชิญหมู่ธงไตรรงค์ และหมู่ธง 6 กรณีสงคราม เพื่อเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึกดีเด่น    

          นอกจากนั้นแล้วตามสำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะได้ร่วมกันจัดงานในวันทหารผ่านศึกนี้ด้วย เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมและคุณงามความดีของเหล่าทหารกล้าที่พลีชีพเพื่อชาติ และเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึก รวมทั้งการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณของบรรดาทหารผ่านศึกผู้ล่วงลับไปแล้ว

         สำหรับประชาชนทั่วไปก็ขอเชิญร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีของเหล่าทหารกล้า ด้วยการซื้อดอกป๊อปปี้ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะนำไปช่วยเหลือครอบครัวทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัคร ที่ได้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ปกป้องประเทศชาติให้มีความสงบร่มเย็นจวบจนปัจจุบันค่ะ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันทหารผ่านศึก 3 กุมภาพันธ์ อัปเดตล่าสุด 4 ธันวาคม 2567 เวลา 15:35:41 127,238 อ่าน
TOP
x close