เที่ยวเกาะเกร็ด เกาะกลางลำน้ำเจ้าพระยา



เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด


เรียบเรียงข้อมูลและภาพประกอบโดยกระปุกดอทคอม

          คนชอบ "เกาะ" ยกมือขึ้น... อุ้ย! ไม่ใช่สิ ต้องพูดว่า "คนชอบเที่ยวเกาะยกมือขึ้น" เพราะว่าวันนี้เราจะขอเอาใจคนชอบ "เที่ยวเกาะ" พาไปเที่ยว "เกาะเกร็ด" เกาะกลางลำน้ำเจ้าพระยา ใครจะรู้บ้างว่า... ภาคกลางของประเทศไทยเราก็มี "เกาะ" เหมือนกัน 

          "เกาะเกร็ด" เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในจังหวัดนนทบุรี รู้จักกันดีในฐานะแหล่งชุมชนคนมอญที่มีชื่อเสียงในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผา และประเพณีวัฒนธรรมแบบพื้นบ้านดั้งเดิม ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการจุดลูกหนู งานตักบาตรทางน้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลายปีให้หลังมานี่ การท่องเที่ยวเกาะเกร็ดดูเหมือนจะเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ปกติถ้าไปเที่ยวในวันเสาร์ – อาทิตย์ รวมถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์ บนเกาะจะคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย ร้านค้า ร้านอาหารก็ดูจะคึกคักสุดๆ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวบนเกาะเกร็ด ก็จะมีทั้งมาเดินเที่ยว ช้อปปิ้ง หาของอร่อยๆ กิน บ้างก็เลือกนั่งเรือชมรอบเกาะ ทำเอาเพลิดเพลินใจไปอีกแบบ ทั้งนี้ เกาะเกร็ดจะเปิดเวลาประมาณ 9.00 - 17.30 น.

          แต่ก่อนจะไปเที่ยว เรามาทำความรู้จักกับ "เกาะเกร็ด" กันให้มากขึ้นกว่านี้หน่อยดีกว่า... เกาะเกร็ด เกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2265 เรียกว่า "คลองลัดเกร็ดน้อย" ในจังหวัดนนทบุรี (คลองลัดเกร็ดใหญ่อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนท้ายอำเภอสามโคกมาทางใต้ถึงคลองขวางเชียงราก) ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้น เซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ ชื่อเดิมเรียกว่า "เกาะศาลากุน"

          "เกาะเกร็ด" มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากวัดวาอารามต่างๆ บนเกาะส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะในสมัยศรีอยุธยา แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยา หลังจากกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ โดยชาวมอญบนเกาะเกร็ดนั้น มีทั้งที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้ว "เกาะศาลากุน" จึงมีฐานะเป็นตำบล และเรียกว่า ตำบลเกาะเกร็ด เกาะนี้จึงมีชื่อว่า "เกาะเกร็ด" 

          ฮั่นแน่... เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ประวัติของที่นี่น่าสนใจไม่เบาเลยใช่ไหมล่ะ แต่ขอบอกว่า นอกจากประวัติความเป็นมาจะน่าสนใจแล้วเนี่ย ที่ "เกาะเกร็ด" ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอีกเพียบ ถ้าอยากรู้ว่ามีที่ไหนบ้าง เราไปดูพร้อมๆ กันเลย...

          เริ่มกันที่วัดซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดไปแล้ว นั่นคือ "วัดปรมัยยิกาวาส" (วัดปากอ่าว) ในวัดนี้มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอด ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาส ตั้งตระหง่านอยู่ ส่วนพระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มการสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบัน ที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยฝีพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง ด้านหลังพระอุโบสถ มีพระมหารามัญเจดีย์ จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า     

เกาะเกร็ด



          พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดยาว 9.50 เมตร ภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหารประดับตราพระเกี้ยว เป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี 

          พระนนทมุนินท์ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ (จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างที่นี่ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่ง ซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ 5 พระวิหารเปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00 - 16.00 น.

          อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์ของมอญอีกอย่างหนึ่งในวัดนี้ คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องจากเจดีย์อยู่ติดแม่น้ำ กระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง ดูแปลกตา นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเกาะเกร็ด    

          ส่วนที่ "พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาสและหอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา" จะจัดแสดงวัตถุต่างๆ ที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง "เหม" ที่ พ.อ. ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้น จนนับว่าเป็นงานศิลป์ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง การต่อลาย การตอกไข่ปลาเพื่อต่อลายบนกระดาษอลูมิเนียม ทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นเหมนี้ ล้วนแต่ต้องทำอย่างละเอียด ประณีต เชื่อว่าชาวมอญคงดัดแปลงลักษณะของเหมมาจากโลงของพระพุทธเจ้า ซึ่งก้นสอบปากบานข้างแคบเช่นกัน (ในพิพิธภัณฑ์แสดงภาพไว้) โลงเหมใช้กับศพแห้ง เหมพระ จะมีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่เจาะหน้าต่างมองเห็นศพด้านในได้ ทั้งนี้ ในวันจันทร์ – ศุกร์ เปิดเวลา 13.00 - 16.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ เปิดเวลา 9.00 - 16.30 น.

วัดเสาธงทอง

วัดเสาธงทอง


          "วัดเสาธงทอง" เป็นวัดเก่า เดิมชื่อ "วัดสวนหมาก" นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานเจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ส่วนด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา อีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงมะเฟือง ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมาก เขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะอาล๊าต” หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์ รูปทรงคล้ายมะเฟือง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น 
          
          "วัดไผ่ล้อม" สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า "เพี๊ยะโต้" 

          "วัดฉิมพลีสุทธาวาส" มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมาก และยังมีสภาพสมบูรณ์แบบดั้งเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถ ล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงเห็นความงามอยู่ และฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา   

เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด  เกาะเกร็ด


          "กวานอาม่าน" พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวมอญ จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผามอญลายโบราณ การปั้นเครื่องปั้นดินเผานั้นเป็นอาชีพชาวมอญมาตั้งแต่ครั้งตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี นับเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ลวดลายประณีตสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และยังเป็นสัญลักษณ์ตราประจำจังหวัดนนทบุรี สองข้างทางเดินบนเกาะมีบางบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ภาชนะของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระถาง ครก โอ่งน้ำ ฯลฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น. ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2584-5086   

เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด


          "คลองขนมหวาน" บริเวณคลองขนมหวานและคลองอื่นๆ รอบเกาะเกร็ด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลองจะทำขนมหวาน จำพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมหวานอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมสาธิตวิธีการทำให้นักท่องเที่ยวได้ชม พร้อมซื้อกลับไปเป็นของฝากได้อีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม แรงดึงดูดอย่างหนึ่งบนเกาะเกร็ดที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวที่นี่ คงหนีไม่พ้นเรื่องของอาหารการกินที่ดูจะหลากหลายมากมายกันจนลายตา (แหม... เห็นแล้วมันน่าหม่ำนักล่ะ) ไม่ว่าจะเป็น "ข้าวแช่" อาหารของชาวมอญ ที่สืบทอดสูตรกันมายาวนาน รับประทานพร้อมเครื่องเคียงครบรสที่มีให้เลือกเพียบ คือ ลูกกะปิทอด, หมูกับปลาเค็มปั้นทอด, ไชโป๊หวาน, ปลาหวาน, พริกหยวกสอดไส้, หัวหอมทอดสอดไส้ และผักชนิดต่างๆ 

          ส่วนใครที่ไปเกาะเกร็ดแล้วไม่ได้รับประทาน "ทอดมันหน่อกะลา" ก็เหมือนไปไม่ถึง เพราะ "ทอดมันหน่อกะลา" ถือเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่เลยก็ว่าได้ แถมยังมีให้เลือกซื้อเลือกชิมหลายร้าน ทั้งเจ้าเก่าเจ้าใหม่ เรื่องของรสชาตินั้นไม่ต้องพูดถึง เรียกได้ว่า อร่อยไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ ตามร้านค้าสองข้างทางยังมีอาหารอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น รวมถึงของคาวอย่าง ห่อหมกปลาช่อน ห่อหมกปลากราย ไข่ปลาทอด ผักทอด พร้อมร้านขายน้ำเก๋ๆ ที่ขายน้ำพร้อมแก้วน้ำกระถาง ปั้นโดยฝีมือคนท้องถิ่นนั่นเอง และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ร้ายจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผา โอ่ง กระถาง เซรามิกรูปร่างต่างๆ ก็มีให้เลือกซื้อเลือกชมกันอย่างละลานตา... แล้วอย่างนี้จะพลาดได้ไง (อิอิ)

          ทั้งนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการล่องเรือรอบเกาะเกร็ดเพื่อชมทัศนียภาพรอบเกาะ สามารถติดต่อได้ที่ท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาส โดยเรือจะพาเที่ยวชมวิถีชีวิตริมน้ำ แวะสถานที่ท่องเที่ยวและวัดวาอาราม ได้แก่ วัดใหญ่สว่างอารมณ์ วัดศาลากุน ชมการสาธิตการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เข้าคลองบางบัวทองชมการทำขนมหวานที่ขึ้นชื่อของเกาะเกร็ด ซึ่งจะมีเรือออกทุกๆ ชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. ค่าเรือท่านละ 50 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2584-5012, 08-1845-3800, 08-9033-5599, 08-1584-1900 หรือหากต้องการเช่าเรือ มีตั้งแต่ราคา 350 - 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและขนาดของเรือ ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง


เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด

เกาะเกร็ด


การเดินทาง 

          รถยนต์  

          เดินทางโดยรถยนต์มาที่ห้าแยกปากเกร็ด ตรงไปตามถนนแจ้งวัฒนะ ทางไปเทศบาลปากเกร็ด จากห้าแยกประมาณ 20 เมตร ก่อนถึงโรงหนังเมเจอร์ฮอลลีวู้ด เลี้ยวซ้ายเข้าถนนภูมิเวท ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงวัดสนามเหนือจอดรถทิ้งไว้ที่วัด แล้วนั่งเรือข้ามไปเกาะเกร็ด ไปขึ้นเกาะเกร็ดที่วัดปรมัยยิกาวาส หรือไปที่วัดกลางเกร็ด นั่งเรือข้ามฟากไปขึ้นเกาะเกร็ดที่วัดป่าฝ้าย (เรือข้ามฟากบริการเวลา 05.00 - 21.30 น. ค่าโดยสารคนละ 2 บาท ที่วัดสนามเหนือ มีบริการจัดที่จอดรถรถยนต์สำหรับนักท่องเที่ยว ค่าจอดรถคันละ 30 บาท 

          สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทาง ให้ลงรถที่ป้ายโรงหนังเมเจอร์ฮอลลีวูด แล้วนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปที่ท่าเรือวัดสนามเหนือหรือวัดกลางเกร็ด ค่าโดยสารประมาณ 10 บาท

          เรือ  

          เดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเรือด่วนเจ้าพระยาออกจากท่าวัดสิงขร ลงที่ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี ค่าโดยสารคนละ  22 บาท (เรือทัวร์) จากนั้นเช่าเหมาเรือหางยาวที่ท่าน้ำนนทบุรี ไปที่เกาะเกร็ด หรือนั่งเรือรถประจำทางจากท่านน้ำนนทบุรีไปที่อำเภอปากเกร็ด แล้วลงเรือที่วัดสนามเหนือหรือวัดกลาง เรือบริการระหว่างเวลา 08.30 - 18.30 น. 

          อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด โทร.0-2583-9544...แล้วเจอกันที่ "เกาะเกร็ด" นะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวเกาะเกร็ด เกาะกลางลำน้ำเจ้าพระยา อัปเดตล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2559 เวลา 17:53:04 540,482 อ่าน
TOP
x close