x close

แนะน้องใหม่สู่รั้วมหาลัย เรียนอย่างไร?...ให้มีความสุข








แนะน้องใหม่สู่รั้วมหาลัย เรียนอย่างไร?...ให้มีความสุข (เดลินิวส์)

           ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเรียนหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอผลสอบเอนทรานซ์ เพื่อก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยในฝัน เชื่อว่าถ้าผลสอบปรากฏ หลายคนคงสมหวังและอีกหลายคนต้องผิดหวัง แต่ยังมีมหาวิทยาลัยของรัฐบาล และเอกชนพร้อมเปิดรับนักเรียนที่พลาดหวังอีกหลายแห่ง ดังนั้นการสอบเอนทรานซ์จึงไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในชีวิต แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น การศึกษาหาความรู้และการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างไร ให้มีความสุขต่างหากคือ เป้าหมายที่สำคัญของเรา

           อาจารย์ศศิธร อหิงสโก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แนะนำว่า เด็กนักเรียนที่พลาดหวังจากการสอบเอนทรานซ์อย่าเพิ่งหมดหวังเสียทีเดียว เพราะยังมีมหาวิทยาลัยของรัฐบาล และเอกชนอีกหลายแห่ง ที่พร้อมจะเปิดรับเพียงแค่เราเข้าไปดูตามเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ จะมีรายละเอียดระบุว่า รับสมัครเมื่อใด สอบวันไหน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะใช้เกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกันออกไป

           "ถ้าเรารักเรียนและประสงค์จะเรียนเชื่อว่าทุกคนจะมีที่เรียน ไม่จำเป็นต้องเรียนในมหาวิทยาลัยในฝันที่มีชื่อเสียง เพียงแค่เลือกเรียนในคณะที่เราถนัดและชื่นชอบ อย่าเลือกเรียนตามเพื่อน พยายามค้นหาตัวเองให้เจอเพื่อมีความหวังอีกครั้งในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่รองรับนักเรียนที่พลาดหวังจากการเอนทรานซ์"

           การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นสำคัญกว่า เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่แตกต่าง จากชีวิตเด็กนักเรียนมากมาย ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เช่น เครื่องแบบนักศึกษาใหม่ เพื่อนใหม่ ตารางการเรียนการสอนแบบใหม่ การใช้ชีวิตแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม จากที่มีครูคอยจัดตารางสอนให้ มีกฎระเบียบมากมาย ต่อไปต้องเลือกวิชาเรียนของเราเองและจัดแบ่งเวลาเอง   

           สิ่งสำคัญที่สุดของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของนักศึกษาคือ การปฐมนิเทศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนใหม่ในคณะที่เรียนและต่างคณะ นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับอาจารย์และรุ่นพี่อย่างใกล้ชิด เพื่อแนะนำแนวทางการเรียนและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุข นอกจากนี้นักศึกษาต้องเข้าชมรมหรือร่วมกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อคลายเครียดจากการเรียน เชื่อว่าชมรมแต่ละชมรมที่ทางมหาวิทยาลัยคัดเลือกมาให้นั้นเป็นชมรมที่ดีมีประโยชน์ นักศึกษาสามารถเลือกเข้าชมรมที่ตัวเองสนใจ และชื่นชอบได้ ซึ่งจะทำให้เราได้รู้จักการแสดงออกและคบเพื่อนต่างคณะมากขึ้น 

           แต่สิ่งที่เราไม่ควรทำนั่นคือ การเก็บตัวเงียบ เรียนคนเดียวไม่คบเพื่อนฝูงและจริงจังกับการเรียนมากเกินไปเพราะจะทำให้เคร่งเครียด หรือบางคนอาจจะเคยชินกับการเรียนเก่งเป็นที่หนึ่งมาตลอดจากโรงเรียนเก่าสมัยเป็นนักเรียน แต่พอมาอยู่ในมหาวิทยาลัย กลับมีผลการเรียนที่แย่กว่าคนอื่น อาจทำใจไม่ได้และคิดสั้นจนเป็นข่าวให้เห็นอยู่นั้นเป็นสิ่งที่เราคิดผิดและไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา เพราะการเรียนระดับมหาวิทยาลัยนั้น ยากกว่าการเรียนระดับมัธยม มาก ถ้าหากเราทราบผลสอบแล้วรู้สึกว่ามันแย่กว่าคนอื่นนั่น คือสัญญาณที่บ่งบอกว่า เราควรปรับตัวเองอย่างไร ควรขยันมากขึ้นกว่าเดิมขนาดไหน และเตรียมตัวสอบครั้งต่อไปเพื่อแก้ตัวและเผื่อความผิดหวังเอาไว้ด้วย พ่อแม่ก็มีส่วนช่วยให้กำลังใจลูกได้ด้วยการไม่กดดันลูกหรือตำหนิ เพราะที่ผ่านมาลูกเสียใจมากแล้วกับการผิดหวังในเรื่องเรียนหากถูกซ้ำเติมอีกจะทำให้ยิ่งเสียใจจนคิดสั้นฆ่าตัวตายในที่สุด  

           หากว่าเราพยายามแล้วแต่ผล การเรียนยังไม่ดีขึ้นและคิดว่าเรียนไม่ไหว ในคณะที่เราเลือกได้แล้ว จริง ๆ คงต้องยอมเสียเวลา 1 ปี ในการหยุดเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบใหม่ดีกว่าเสียเวลาเรียนไปจนถึง 4 ปี ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นน้อยมากเพราะในปัจจุบันเราได้จัดแนะแนวการตัดสินใจยื่นคะแนนเพื่อเลือกคณะเข้าสู่มหาวิทยาลัย เช่น “โครงการแนะน้อง ม.ไหนดี” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-11 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการแนะนำการเลือกคณะและอันดับเข้ามหาวิทยาลัยของ สกอ.ทำให้นักเรียนตัดสินใจและเลือกคณะที่ตนเองอยากจะเรียนได้อย่างถูกต้อง 

           ถ้าเราตั้งใจจะเรียนซะอย่าง ยังไงก็ต้องมีที่เรียนอยู่วันยังค่ำ เกษรา บุญเพิ่ม หรือน้องแป้ง นักเรียนจากโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ บอกอย่างมั่นใจพร้อมคุยว่า ผลคะแนนสอบที่เช็กมานั้นได้ 4,700 คะแนน สามารถเลือกเรียนคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ตัวเองถนัดได้ เมื่อเรียนจบแล้วจะเป็นครู แต่เผื่อใจไว้อยู่แล้วว่าอาจมีคนอื่นที่คะแนนมากกว่าทำให้เราพลาดหวังได้ แต่ก็ปรึกษาพ่อแม่ไว้แล้วว่าหากเอนทรานซ์ไม่ติดจะเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ในคณะที่เราถนัดจะได้เรียนอย่างมีความสุข ปกติจะเป็นคนไม่เครียดกับการเรียน แต่การสอบเอน ทรานซ์ที่ผ่านมายอมรับว่าเครียดมากเพราะต้องสอบแข่งขันกับนักเรียนอื่นจากทั่วประเทศในการเข้ามหาวิทยาลัย 

           สุรีรัตน์ ไกรเพ็ชรพจน์ หรือน้องนุช เพื่อนสาวโรงเรียนเดียวกับน้องแป้งที่จูงมือกันมาจากบ้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อร่วมงานโครงการ "แนะน้อง ม.ไหนดี" เล่าถึงการสอบที่ผ่านมาและบอกถึงความฝันของตัวเองว่า อยากสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเป็นมหาวิทยาลัยในฝัน แต่ในโลกของความจริงผลคะแนนสอบ 5,000 คะแนน ไม่สามารถเลือกเรียนได้จึงเลือกเรียนคณะวิศวะไฟฟ้าที่ตัวเองถนัดและถ้าสอบติดต้องปรับตัวมากทีเดียวเพราะคณะที่ตนเลือกนั้นผู้ชายเรียนกันเยอะ แต่คงไม่เกินความสามารถของเราไปได้ ทราบว่าการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยยากกว่ามัธยม ถ้าเครียดมากจะพยายามหาอะไรทำ เช่น ดูละครซีรีส์เกาหลีหรือไม่ก็ฟังเพลงและพยายาม ค่อยๆ ปรับตัวเอง ถ้าเรียนไป แล้วสอบไม่ผ่านจะพยายามอีกครั้งให้ดีขึ้น ไม่คิดฆ่าตัวตายแน่นอนเพราะเรายังมีพ่อแม่ อาจารย์ และเพื่อนๆ คอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้อยู่      

           อภิรักษ์ อภัยแสน หรือน้องเก่ง นักเรียนโรงเรียนโกสินทร์สมโภชลาดกระบัง วาดฝันอยากเป็นนักบริหารการตลาดและมีธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ เป็นของตัวเอง บอกว่าเตรียมพร้อมกับการเป็นนักศึกษาใหม่ที่ต้องอยู่ในสังคมใหม่กับการพึ่งพาตนเองและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยจะต้องมีการรวมกลุ่มของเพื่อนๆ ช่วยกันติวช่วยกันท่องหนังสือจึงจะสอบผ่าน แต่ถ้าเพื่อนคนไหนสอบไม่ผ่านหรือท้อถอยจะช่วยให้กำลังใจเพื่อนเสมอ อย่างตอนเรียนมัธยมตนจะช่วยติวหนังสือให้เพื่อนตลอด ถ้าหากรู้ตัวว่าเริ่มเคร่งเครียด จะหยุดพักและดูหนังฟังเพลงเพื่อเป็นการผ่อนคลาย จึงเชื่อว่าตนจะเป็นนักศึกษาที่มีความสุขในการเรียนได้ 

           เราเชื่อว่าจะต้องเรียนอย่างมีความสุขในระดับมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน เพราะได้วางแผนให้กับชีวิตเอาไว้แล้ว หลังจากทราบผลคะแนนสอบเอนทรานซ์ที่ผ่านมา น้องมัจและน้องวี 2 นักเรียนสาวจากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ พูดคุยด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และยอมรับว่าคะแนนสอบที่ออกมาไม่ค่อยสวยหรูอย่างที่คาดไว้จึงรู้สึกผิดหวัง นิดๆ แต่ก็ทำให้เราทราบว่าตัวเรามีความสามารถแค่ไหน จึงเลือกเรียนในระดับความสามารถของตัวเอง เชื่อว่าจะไม่ทำให้เราเรียนเหนื่อยหรือลำบากรวมทั้งกดดันมากเกินไป แต่ที่ผ่านมาก็มีพ่อแม่คอยให้กำลังใจตลอดอยู่แล้ว

           น้องมัจ บอกว่า ปรึกษาพ่อแม่แล้วหากสอบไม่ติดก็จะเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน ในวิชาที่เราถนัดและจะทำให้เราเรียนอย่างไม่เคร่งเครียดด้วย ส่วนน้องวี ให้ความสำคัญของการเรียนว่าอยู่ที่ตัวเราว่ามีความตั้งใจเรียนมากน้อยเพียงใด โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ตั้งใจอะไรแล้วต้องพยายามทำให้สำเร็จ แต่ไม่จริงจังถึงขั้นถ้าผิดหวังแล้วต้องฆ่าตัวตาย 

           จากเด็กนักเรียนวัยใสต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวิตนักศึกษาวัยเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงและเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่อาจมีสะดุดล้มบ้างนั่นคืออุปสรรคที่เราต้องฟันฝ่า เพราะไม่มีสิ่งใดที่เราจะได้มาง่ายๆ ต้องใช้ความพยายามด้วยกันทั้งสิ้นเพื่อให้ได้มา ซึ่งความภาคภูมิใจต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย กรวิกา  คงเดชศักดา
 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนะน้องใหม่สู่รั้วมหาลัย เรียนอย่างไร?...ให้มีความสุข อัปเดตล่าสุด 23 เมษายน 2552 เวลา 13:44:38 24,455 อ่าน
TOP