เครื่องบินพับกระดาษ จุดเริ่มต้นเรียนรู้วิทยาศาสตร์


"เครื่องบินพับกระดาษ" จุดเริ่มต้นเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ข่าวสด)

          คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถึง ความสำเร็จของคณะผู้เข้าแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับตัวแทนประเทศไทยจาก "เอ็ม เทค" ที่มี ด.ช.หม่อง ทองดี อายุ 11 ขวบ นักเรียนชั้นป.4 โรงเรียนบ้านห้วยทราย จ.เชียงใหม่ ร่วมทีมอยู่ด้วย ว่า เรื่องเครื่องบินกระดาษพับที่ใครๆ เคยคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากตั้งใจศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เครื่องบินกระดาษพับก็ให้ประโยชน์มากมายกับผู้พับได้ โดยเฉพาะการสร้างทักษะ กระบวน การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาฟิสิกส์ รวมไปถึงทักษะอื่นๆ เช่น การสังเกตรายละเอียด กระบวนการคิดต่างๆ 

          จากความสำเร็จครั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยินดีสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนหันมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์เหล่านี้มากขึ้น และหากจะบรรจุกิจกรรมการพับเครื่องบินกระดาษให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้วยก็ยิ่งดี และรัฐบาลจะสนับสนุนเต็มที่ เพราะนอกจากจะให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประ โยชน์และสร้างความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้นแล้ว อาจจะยังสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง ครอบครัว สถาบัน และประเทศชาติได้อีกด้วย

          "การพับเครื่องบินกระดาษ เป็นการเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีต้นทุนต่ำที่สุด แต่ให้ความรู้หลายอย่าง ทั้งเรื่องของการสังเกต หลักการทางด้านพลศาสตร์ ฟิสิกส์ ทักษะการศึกษาวิจัยด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายใกล้ตัวที่ใครๆ ก็ทำได้ และที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่านักพับเครื่องบินกระดาษชาวญี่ปุ่นเขาก็สามารถนำความรู้เหล่านี้มาใช้เป็นอาชีพ จนได้รับชื่อเสียง เขียนหนังสือออกมาขายเป็นที่นิยมไปทั่วโลกด้วย ซึ่งหากคนไทยเราทำได้ และให้ความสนใจมากกว่านี้ก็คิดว่า เราจะได้อะไรจากกิจกรรมนี้อีกมากมายทีเดียว" คุณหญิงกัลยา กล่าว 



          ด้าน ดร.ประเสริฐ เฉลิมการนนท์ หัวหน้าโครงการสร้างความตระหนักและแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ด้วยกิจกรรมเครื่องบินกระดาษ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยี กล่าวว่า วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย แท้จริงแล้วคือการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ไม่ว่าสัญชาติใดก็ตามได้เรียนรู้ถึงเรื่องการเรียนวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาค้นคว้าวิธีการ และเทคนิคของการพับกระดาษด้วยตัวเอง เป็นการสร้างความตระหนักและสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้น จากสิ่งรอบๆ ตัว และอาจจะพัฒนาไปสู่การศึกษาเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นได้ด้วย ซึ่งน่าดีใจว่าจากกรณีของ ด.ช.หม่อง ทองดี ทำให้เกิดกระแสเรื่องเครื่องบินกระดาษพับเพิ่มมากขึ้น ทำให้เด็กหันมาสนใจมากขึ้น และด้วยแนวความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นนี่เองอาจทำให้ในอนาคตประเทศไทยจะมีนักวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

          "สำหรับผู้ที่สนใจในการพับเครื่องบินกระดาษเพื่อให้บินในอากาศได้นานๆ นั้น อยากแนะนำเทคนิคเล็กน้อยว่า เบื้องต้นสำคัญที่สุดคืออย่าทำให้กระดาษยับเพราะจะทำให้อากาศที่ผ่านเครื่องบินมีความแปรปรวนได้ ซึ่งมีผลต่อการอยู่ในอากาศของเครื่องบิน จากนั้นผู้พับอาจจะต้องทดลองเอาเครื่องบินขึ้นบิน และศึกษาดูว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน ซึ่งนั่นจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้ผู้พับได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างเป็นขั้นเป็นตอนไปด้วย" ดร.ประเสริฐ กล่าว


images  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เครื่องบินพับกระดาษ จุดเริ่มต้นเรียนรู้วิทยาศาสตร์ อัปเดตล่าสุด 24 กันยายน 2552 เวลา 11:04:19 20,576 อ่าน
TOP
x close