ยอดผู้เสียชีวิต เฮติ พุ่ง 1.5 แสนรายแล้ว










สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์, ข่าวสด, ไทยรัฐ , เดลินิวส์ , คมชัดลึก 

          สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ ขณะนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คนแล้ว ซึ่งยังไม่รวมศพที่อยู่ใต้ซากปรักหักพักในเมืองหลวงและที่อื่น ๆ ขณะที่การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้ยุติลงแล้วอย่างเป็นทางการ แต่ได้เน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือแทน

          ก่อนหน้านี้ทีมกู้ภัยนานาชาติจากกรีซกับฝรั่งเศส สามารถช่วยกันนำตัวนายริชมอนด์ อีซานทัส วัย 24 ปี ขึ้นมาจากใต้ซากคอนกรีตและไม้ ของร้านค้าในโรงแรมนาโปลีของกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมื่อวันเสาร์ หรือ 11 วันหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริคเตอร์ โดยเจ้าตัวอยู่ในสภาพดี และบอกว่าที่รอดชีวิต เพราะมุดหลบเข้าไปอยู่ใต้โต๊ะตัวหนึ่ง ตอนที่สิ่งต่าง ๆ พังถล่มลงมารอบตัว เขาติดอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ และนอนหงายอยู่ตลอดเวลา รอดมาด้วยการดื่มโค๊กกับเบียร์และกินคุ้กกี้

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


          ขณะที่เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นางสุทธินี หรือ มุก อินกะโผะ ซึ่งเป็นคนไทยอยู่ในเฮติ และเป็นคนไทยคนแรกที่เดินทางถึงประเทศไทย โดยสวัสดิภาพ เมื่อเวลา 06.10น. ด้วยสายการบินการบินไทย ทีจี 911 จากกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้แวะเปลี่ยนเครื่องที่จาไมก้าและไมอามี่ สหรัฐอเมริกา โดยเตรียมจะเดินทางต่อไปยังสนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อที่จะกลับไปหาครอบครัว

          นางสุทธินี เผยว่า ไปอยู่ที่เฮติประมาณ 2 ปี กับ นายสุขคล สามี ที่เป็นวิศวกรบริษัทโทรศัพท์มือถือ ขณะนี้กำลังตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือน โดยเล่าว่านาทีที่เกิดแผ่นดินไหว กำลังอยู่ในอพาร์ตเมนต์บนภูเขา ขณะที่สามีทำงานอยู่ในเมือง ภายหลังเหตุสงบดีใจมากที่ตามหาสามีจนพบว่าปลอดภัย ทั้ง 2 คน อย่างไรก็ตาม รู้สึกหดหู่อย่างมาก กับภาพที่พบหลังจากแผ่นดินไหว ทั้งการปล้นสะดม และเห็นผู้เสียชีวิตนอนเรียงราย


แผ่นดินไหวเฮติ


          ด้านรองผู้อำนวยการ กองดูแลคุ้มครองผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ  เดินทางมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อขอบคุณนางสุทธินี และสามี ที่ประสานงานติดต่อกับคนไทยในเฮติ ขณะนี้ยังเหลืออยู่ที่นั่นอีก 6 คน โดยปลอดภัยทุกคนและยังไม่ต้องการเดินทงกลับประเทศไทยขณะนี้

          ทั้งนี้สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อ 21 ม.ค. ว่า หน่วยกู้ภัยในเฮติ ในบริเวณพื้นที่รกร้างทางเหนือของกรุงปอร์โตแปรงซ์ ที่พังพินาศ เร่งทำงานทั้งวันทั้งคืน ใช้รถตักขุดหลุมขนาดมหึมาเพื่อเป็นสถานที่ฝังร่างของผู้เสียชีวิตนับหมื่น ๆ ศพและกำลังส่งกลิ่นโชยไปทั่วบริเวณ จากผู้เสียชีวิตที่เชื่อว่าถึง 2 แสนราย

          เจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าวว่า ฝังศพไปแล้วถึงหมื่น เห็นศพของเด็กมากมายนับไม่ถ้วน แทบไม่เป็นอันนอน หากเมื่อใดที่ผล็อยหลับไปก็จะฝันร้ายตลอด ซึ่งจำนวนของศพนั้นมีปริมาณมากเสียจนไม่สามารถทำพิธีฝังตามหลักศาสนา หรือข้อเรียกร้องของนานาชาติให้แยกฝังหลุมละศพได้ เผื่อว่าวันหนึ่งญาติผู้ตายจะมาขุดไปทำพิธี ที่ทำได้ตอนนี้คือรีบขุดหลุม เทศพ และกลบฝังทันที

          ด้าน ดร.เกรก เอลเดอร์ ผู้อำนวยการการบริหารปฏิบัติการช่วยเหลือในเฮติ กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวต่อไป คือ ความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด อย่างเช่น ท้องร่วง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ ในค่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีระบบทางสุขอนามัยย่ำแย่ ทั้งยังแออัดยัดเยียดไปด้วยชาวเฮติผู้เคราะห์ร้ายหลายพันคน



แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวเฮติ
แผ่นดินไหวที่เฮติ


          ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือน เฮติ เสี่ยงเจอบิ๊กอาฟเตอร์ช็อคอีก หลังเจอขนาด 5.9 ริกเตอร์เมื่อวันพุธ และอาจเกิดที่สาธารณรัฐโดมินิกันที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน

          บรรดานักวิทยาศาสตร์พากันออกมาเตือนว่า เฮติ อาจประสบกับอาฟเตอร์ช็อครุนแรงเพิ่มเติมอีกภายในช่วงหลายสัปดาห์ต่อจากนี้ และแม้รูปแบบของอาฟเตอร์ช็อคตามปกติจะบ่งชี้ว่ามักจะมีความรุนแรงน้อยลง และเกิดขึ้นถี่น้อยลง แต่ก็จะเกิดอาฟเตอร์ช็อคอีกหนึ่งครั้งที่รุนแรงพอ ๆ กับเหตุอาฟเตอร์ช็อคที่เกิดขึ้นเมื่อวันพุธ (20 ม.ค.) ที่มีขนาดรุนแรงถึง 5.9 ริกเตอร์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

          บรู๊ซ เพรสเกรฟ นักธรณีฟิสิกส์ของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ หรือ USGS กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่าแผ่นดินกำลังปรับตัวต่อสภาพใหม่ที่เป็นจริงของชั้นหิน ขณะที่ อีริค กาเลส์ แห่งมหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าวว่า จะเกิดอาฟเตอร์ช็อคอีกหลายสัปดาห์ รวมทั้งครั้งหนึ่งที่จะรุนแรงเท่าเมื่อวันพุธ อาคารต่าง ๆ จึงยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อ่อนแออยู่แล้ว ซึ่งความเห็นของเขาได้รับการยืนยันโดย จูลี่ ดัตตัน นักธรณีวิทยาของ USGS
 
          กาเลส์ กล่าวด้วยว่า แผ่นดินไหวครั้งก่อนกินบริเวณในประเทศเพื่อนบ้านคือ สาธารณรัฐโดมินิกัน  จึงกำลังสร้างความวิตกว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหม่ที่โดมินิกัน เพราะทั้งสองประเทศต่างตั้งอยู่บนเกาะฮิสปานิโอล่าด้วยกัน แต่ยังไม่มีข้อมูลพอที่จะคาดการณ์อะไรได้แน่ชัด 

          ด้าน สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพี รายงานว่า สหประชาชาติแถลงสรุปยอดช่วยเหลือเหยื่อผู้รอดชีวิตจากใต้ซากอาคารถล่มของเฮติ รวม 121 ราย หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวผ่านพ้นมาครบหนึ่งสัปดาห์ นับจากวันที่ 12 ม.ค. ส่วนยอดผู้เสียชีวิตยังประเมินไว้ที่ 200,000 ราย บาดเจ็บ 250,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย 1.5 ล้านคน ขณะที่ความหวังในการช่วยเหลือเหยื่อจากซากอาคารริบหรี่ลงทุกขณะ เนื่องจากหากขาดน้ำนานเกิน 3 วัน คนส่วนใหญ่ก็จะเสียชีวิต แต่ทีมกู้ภัยยังได้ทึ่งกับปาฏิหาริย์เมื่อพบผู้รอดชีวิตอีกหลายคนตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองหลวง โดยเหยื่อที่รอดเป็นผู้หญิงทั้งหมด

         

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ



          อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวสารชวนสลดใจ ชาวเฮติฆ่ากันตายเพื่อแย่งอาหารประทังชีวิตรอด ก็มีข่าวช่วยเพิ่มกำลังใจให้ผู้คน เมื่อนายแพทย์คล้อด เซอรีนา เปิดบ้านส่วนตัวบนเนินเขาให้ผู้บาดเจ็บเข้ามารักษาและอาศัยฟรี แม้ขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์การแพทย์ แต่ช่วยให้ประชาชนนับร้อยคนไม่ต้องนอนรอความตายข้างถนน  ส่วนความช่วยเหลือ คนดังวงการบันเทิง-กีฬา ร่วมระดมทุนกันอย่างล้นหลาม แม้แต่ "เจ้าเสือ" ไทเกอร์ วูดส์ มีข่าวควักเงินช่วยกว่า 100 ล้านบาทช่วยเหลือชาวเฮติ

          ด้านประธานาธิบดีเรอเน พรีวาล ผู้นำเฮติ รีบออกแถลงการณ์ขอบคุณนานาชาติและองค์กรสากลต่าง ๆ ที่ส่งความช่วยเหลือมาให้ผู้ประสบภัยในเฮติอย่างทันท่วงที และให้คำมั่นชาวเฮติว่า แม้รัฐบาลสูญเสียศักยภาพการบริหารประเทศไปบ้าง แต่รัฐบาลยังไม่ล่มสลาย เจ้าหน้าที่ยังพร้อมปกป้องชาวบ้านให้รอดพ้นภัยอันตรายจากเหล่านักโทษที่แหกคุกหนีไปกว่า 4,000 คน

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


          แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ

 

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


         โดยก่อนหน้านี้สำนักข่าวเอพี เอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นที่สาธารณรัฐเฮติ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะฮิสปันโยลา ในทะเลแคริบเบียน ส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกา เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 12 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น หรือเกือบตี 5 ของวันที่ 13 มกราคม ตามเวลาในไทย โดยวัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 7 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 16 กิโลเมตร และลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร

         แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ส่งผลให้ทำเนียบประธานาธิบดี ที่ทำการกระทรวงต่าง ๆ ตลอดจนที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ พังถล่ม รวมทั้งอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนมาก และยังไม่ทราบชะตากรรมของเจ้าหน้าที่ ที่เชื่อว่าติดอยู่ภายใต้ซากอาคารเหล่านี้ โดยคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน และอาจจะมีผู้เสียชีวิตมากถึงแสนคน ทั้งนี้แผ่นดินไหวครั้งนี้ ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 200 ปีของเฮติ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2313 และยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกอย่างรุนแรงตามมาอีกถึง 24 ครั้ง วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.9, 5.5 และ 5.1 ริกเตอร์


แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ

 

         ขณะที่ นายฌอง ลุค มาร์ตินาจ โฆษกขององค์การกาชาดสากลและสมาคมเสี้ยววงเดือนแดง หรือ ICRC แถลงที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันพฤหัสบดี คาดว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ประเทศเฮติ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา น่าจะอยู่ที่ระหว่าง 45,000-50,000 คน

         ทางด้านนางโบแลตต์ อาซอร์ ชาร์ล เอกอัครราชฑูตเฮติ ประจำสเปน กล่าวต่อที่ประชุม เพื่อแสดงการสนับสนุนผู้ประสบภัยชาวเฮติที่กรุงมาดริดในวันเดียวกันว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 วันกว่าประเมินยอดผู้เสียชีวิตแท้จริงได้ เพราะพบศพเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เธอกล่าวด้วยว่า การประเมินยอดผู้เสียชีวิตว่าอาจสูงกว่าแสนคนของนายกรัฐมนตรีฌอง แม็ก เยลเลอรีฟ เป็นการประเมินจากสภาพความเสียหายและจำนวนความหนาแน่นของประชากร ในกรุงปอร์โตแปรงซ์

         ทางด้านนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถช่วยชีวิต ยามรักษาการณ์คนหนึ่งออกมาจากซากอาคารกองบัญชาการใหญ่สูง 5 ชั้นของสหประชาชาติในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ที่พังทลาย ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์เล็ก ๆ


แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ

 

         ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 16.53 น. ของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น และสั่นสะเทือนต่อเนื่องนานกว่า 1 นาที หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มควันสีขาวซึ่งเกิดจากผงฝุ่นจากอาคารที่พังถล่มลงมา ได้ปกคลุมท้องถนนในกรุงปอร์โตแปรงซ์จนมืด เพราะแรงแผ่นดินไหวทำให้สายไฟขาด จึงไม่มีไฟฟ้าตามถนน ตึกรามบ้านช่อง ทำให้การกู้ภัยเป็นไปอย่างลำบาก ขณะที่สถานการณ์ในเมืองเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ผู้ที่รอดชีวิตต่างวิ่งวุ่นตามหาญาติ ๆ ของตัวเอง และมีเสียงไซเรนดังไปทั่วเมือง

 

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


         โดยนายกรัฐมนตรี ฌอง-แมกซ์ เบลเลอรีฟ ของเฮติ ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีซีเอ็นเอ็นว่า อาจมีประชากรกว่า100,000 คนเสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ 

         "ผมเชื่อว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จะมีมากกว่า 100,000 คน แต่ผมก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นจริง และได้แต่หวังว่าประชาชนจะหนีออกมาทัน ในระหว่างเกิดแผ่นดินไหวและมีตึกหลายแห่งถล่มลงมานั้น เราคาดว่ามีประชาชน อยู่ตามท้องถนนจำนวนมาก" นายกรัฐมนตรีเฮติ กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวในเฮติ

 

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


         ขณะที่ประธานาธิบดี เรเน พรีวาล ของเฮติ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตมีจำนวนหลายพันคน ขณะที่สภาพเมืองหลวงถูกทำลายย่อยยับ อาคารรัฐสภา สำนักงานสรรพากร โรงเรียน และโรงพยาบาลพังถล่มลงมา ในโรงเรียนหลายแห่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีรายงานหลายกระแสว่า เรือนจำแห่งสำคัญ ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ได้รับความเสียหาย และมีนักโทษหลบหนีออกไปได้

         รายงานข่าวระบุอีกว่า แรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้รับรู้ได้ถึงสาธารณรัฐโดมินิกัน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเฮติ และอยู่บนเกาะฮิสปันโลยาเช่นกัน แต่ไม่มีรายงานความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้น เช่นเดียวกับฝั่งตะวันออกของคิวบาที่รับรู้ได้แรงสั่นสะเทือน แต่ไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้นเช่นกัน

 

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


         อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ขณะนี้นานาประเทศต่างประกาศให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยเยอรมนีให้เงินช่วยเหลือ 1 ล้านยูโร (กว่า 47 ล้านบาท) ในทันที ขณะที่อังกฤษ ฝรั่งเศส ไต้หวัน ส่งคณะเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือแล้ว เช่นเดียวกับบราซิลที่จัดส่งอาหารหลายตันไปให้ รวมทั้งส่งรัฐมนตรีกลาโหมลงพื้นที่ด้วย เนื่องจากพบเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพบราซิล อย่างน้อย 11 คนเสียชีวิต ขณะที่แคนาดาส่งทีมไปสำรวจความต้องการของผู้รอดชีวิตแล้ว และจะส่งทีมกู้ภัยและสิ่งของบรรเทาทุกข์ตามไปภายหลัง ส่วนคิวบาได้ส่งแพทย์ไปช่วยเหลือแล้ว 30 คน

         ด้าน นายบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้หน่วยบรรเทาทุกข์ของสหรัฐฯ เข้าช่วยเหลือในทันที พร้อมกับเรือลำหนึ่งของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ได้เดินทางถึงนอกชายฝั่งเฮติแล้ว เพื่ออพยพผู้คนบางส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ โดยล่าสุด  สหรัฐฯ ได้ส่งกองกำลัง 10,000 นาย เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งคาดว่าจะเดินทางไปถึงวันจันทร์ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 50,000 - 100,000 คน

         ขณะที่ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ยกเลิกกำหนดการเยือนประเทศที่เหลือในเอเชีย และเดินทางกลับกรุงวอชิงตัน เพื่อบัญชาการความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยในเฮติแล้ว

         ทางด้านสหประชาชาติ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า แผ่นดินไหวได้สร้างความหายนะครั้งใหญ่ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติเร่งให้ความช่วยเหลือเฮติ และสหประชาชาติประกาศให้เงินช่วยเหลือในการบรรเทาทุกข์ขั้นต้น มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 330 ล้านบาท) โดยเงินจำนวนนี้มาจากกองทุนฉุกเฉินของสหประชาชาติเอง

 

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


         สำหรับธนาคารโลก (เวิลด์แบงค์) ระบุจะให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินกับเฮติ มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,300 ล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูสภาพบ้านเมือง และยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญการทำงานเข้าไปประเมินความเสียหาย และช่วยลำดับความสำคัญในสิ่งที่ต้องทำก่อนและหลัง เช่นเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ระบุว่า พร้อมจะให้การช่วยเหลือกับเฮติอย่างเร็วที่สุด

         ขณะที่เจ้าหน้าที่องค์การกาชาดสากล ซึ่งไปถึงที่เกิดเหตุแล้วบอกว่า ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งโทรศัพท์ ไฟฟ้า น้ำประปา ตลอดจนการรักษาพยาบาลในเมืองหลวงของเฮติตอนนี้ใช้การไม่ได้เลย พร้อมกับประเมินว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบร่วม 3 ล้านคน

 

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


         ทางด้าน นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อธิบายถึงสัญญาณผิดปกติจากเกิดแผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐเฮติว่า เคยมีนักวิทยาศาสตร์ที่คิดแตกต่างกัน มองว่าการเกิดแผ่นดินไหวบนโลกทุกวันนี้เกิดจากการสะสมพลังงานจากใจกลางโลก และนอกโลก ซึ่งเป็นพลังงานที่ปลดปล่อยมาจากระบบสุริยะ คล้ายกับปรากฏการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง "2012 วันสิ้นโลก" ที่เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากความผิดปกติของการเคลื่อนตัวของระบบสุริยะ ที่สร้างแรงกระตุ้นให้ดาวเคราะห์ต่าง ๆ รวมถึงโลก โดยการปลดปล่อยพลังงานแสง พลังงานสนามแม่เหล็ก มายังดาวเคราะห์หลายดวง กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ แสงสว่าง ทำให้โลกได้รับสนามแม่เหล็กจากการเกิด "พายุสุริยะ" หรือ "จุดดับ" ก็ส่งพลังงานจากภายนอกเข้ามามีผลต่อการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกได้

         "ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ ที่โลกได้รับพลังงานจากระบบสุริยะ หรือจักรวาลอื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก อย่างกรณีที่เฮติก็เชื่อว่า เกิดจากการเรียงตัวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล ที่กระตุ้นให้ดวงอาทิตย์เกิดสันดาป ปลดปล่อยสนามแม่เหล็กมาสู่โลก" นายสมิทธ กล่าว

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


         สำหรับประเทศเฮติ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเฮติ (Republic of Haiti) เป็นประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งอยู่บนเกาะฮิสปันโยลา ในทะเลแคริบเบียน โดยประเทศเฮติ แบ่งครึ่งเกาะฮิสปันโยลากับสาธารณรัฐโดมินิกัน มีพื้นที่ 27,750 ตารางกิโลเมตร มีกรุงปอร์โตแปรงซ์ เป็นเมืองหลวง และมีประชากรราว 9 ล้านคน มีภาษาฝรั่งเศส และภาษาครีโอลเฮติ เป็นภาษาราชการ และใช้เงินสกุล กูร์ด (HTG) ปัจจุบันมีนายเรเน พรีวาล เป็นประธานาธิบดี และมีนายกรัฐมนตรี ชื่อฌอง-แมกซ์ เบลเลอรีฟ

         ทั้งนี้ ประเทศเฮติ เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ก่อนได้รับเอกราชในปี พ.ศ.2347 และใช้ชื่อว่าประเทศเฮติ ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 2 ในทวีปอเมริกา ที่ได้รับเอกราช รองจากสหรัฐอเมริกา และประเทศเฮติ ยังเป็นสาธารณรัฐเอกราชของคนผิวดำแห่งแรกของโลกอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศเฮติ ถือเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ 

         นอกจากนี้ ประเทศเฮติ ต้องเผชิญกับภัยครั้งรุนแรงหลายครั้งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้เกิดเฮอริเคน 3 ลูก และพายุโซนร้อนอีก 1 ลูกถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 793 คน สูญหายอีกกว่า 300 คน และในปีเดียวกันนั้นยังเกิดการจลาจล เนื่องจากประชาชนลุกฮือที่ไม่พอใจกับราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จนล่าสุดได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 200 ปีของเฮติ เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น)

 

แผ่นดินไหว สึนามิ

แผ่นดินไหวที่เฮติ


         นอกจากนี้ เว็บไซต์ ไทม์ส ออนไลน์ ได้สรุปเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ทั้งแผ่นดินไหว และสึนามิ ที่เกิดขึ้นหลายครั้งทั่วโลก ตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ดังลำดับเหตุการณ์ต่อไปนี้


 26 มกราคม ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544)

         เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในรัฐกุจราชทางตะวันตกของประเทศอินเดีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 25,000 คน บาดเจ็บ 166,000 คน

 26 ธันวาคม ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546)

         เกิดแผ่นดินไหว 6.7 ริกเตอร์ ที่เมืองบาม ประเทศอิหร่าน มีผู้เสียชีวิต 31,884 คน บาดเจ็บ 18,000 คน

 26 ธันวาคม ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547)

         แผ่นดินไหว 9.1 ริกเตอร์ใต้ท้องทะเลบริเวณเกาะสุมาตรา ส่งผลให้เกิดสึนามิใหญ่ขึ้นกับหลายประเทศบริเวณมหาสมุทรอินเดีย (รวมทั้งประเทศไทย) จนคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 220,000 คน และเฉพาะประเทศอินโดนีเซียแห่งเดียวก็มีผู้เสียชีวิต 168,000 คน

 28 มีนาคม ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548)

         เกิดแผ่นดินไหว 8.6 ริกเตอร์ที่เกาะเนียส ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 900 คน

 8 ตุลาคม ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548)

         เหตุการณ์แผ่นดินไหว 7.6 ริกเตอร์บริเวณพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน และเขตการปกครองของปากีสถานในรัฐแคชเมียร์ คร่าชีวิตผู้คนไป 75,000 คน และมีคน 3.5 ล้านรายไร้ที่อยู่อาศัย

 27 พฤษภาคม ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)

         เกิดแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ในเขตยอกยาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิต 6,000 ราย และอีก 1.5 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย

 17 กรกฎาคม ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)

         แผ่นดินไหว 7.7 ริกเตอร์ใต้ท้องทะเลบริเวณเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนไป 596 ราย บาดเจ็บมากกว่า 9,500 คน และประมาณ 74,000 คนไร้ที่อยู่

 6 มีนาคม ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550)

         เกิดแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนเสียหายพังทลาย และมีผู้เสียชีวิต 70 คน

 26 เมษายน ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550)

         แผ่นดินไหว 8.0 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะโซโลมอนตะวันตก ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิผลาญชีวิตผู้คนไปมากกว่า 50 คน และอีกหลายพันรายต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน

 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) 

         เกิดแผ่นดินไหว 6.1 ริกเตอร์ บริเวณตะวันออกของประเทศคองโก และตะวันตกของประเทศรวันดา ทวีปแอฟริกา มีผู้เสียชีวิต 45 คน และอีกหลายพันรายต้องไร้ที่อยู่อาศัย

 12 พฤษภาคม ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551)

         เกิดแผ่นดินไหว 8.0 ริกเตอร์ ที่มณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหาย 87,000 ราย

 29 ตุลาคม ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551)

         เกิดแผ่นดินไหว 6.4 ริกเตอร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ผู้คนมากกว่า 300 รายเสียชีวิต และอีกนับหมื่นคนไร้บ้าน

 6 เมษายน ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552)

         เกิดแผ่นดินไหว 5.8 ริกเตอร์ที่เมืองลากวีลา และบริเวณใกล้เคียง ในประเทศอิตาลี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 300 คน

 2 กันยายน ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552)

         แผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ ที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินถล่มและมีผู้เสียชีวิต 123 ราย

 29 กันยายน ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552)

         คลื่นยักษ์สึนามิจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 8.0 ริกเตอร์ ได้ซัดทำลายหมู่บ้านและรีสอร์ตหลายแห่งบนเกาะซามัว รวมทั้งหมู่เกาะอเมริกัน ซามัว และตอนเหนือของประเทศตองกา ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 186 คน

 30 กันยายน ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552)

         เกิดแผ่นดินไหว 7.6 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 ราย

 

แผ่นดินไหวเฮติ

แผ่นดินไหวที่เฮติ




  หลากช่องทาง บริจาคเงินช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย แผ่นดินไหวเฮติ คลิกที่นี่ค่ะ

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
       

      

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยอดผู้เสียชีวิต เฮติ พุ่ง 1.5 แสนรายแล้ว อัปเดตล่าสุด 26 มกราคม 2553 เวลา 18:01:11 376,964 อ่าน
TOP
x close