x close

นักวิชาการชี้ อาจารย์สักยันต์ ใช้ตัวอักขระผิด



นักวิชาการชี้อาจารย์สักยันต์ ใช้ตัวอักขระผิด (ไทยโพสต์)

        นักวิชาการอักษรศาสตร์ชี้เกจิอาจารย์สักยันต์นอกลู่คัมภีร์ ใช้ตัวอักขระผิดเพี้ยน เน้นสวยงามและโก้เก๋ มุ่งประโยชน์เชิงพาณิชย์ ปลุกเสกวัตถุมงคลผิดหลักวัตถุประสงค์ดั้งเดิมที่ให้ฝึกจิตเพื่อความว่างและหลุดพ้น ระดมผู้รู้ระบบเลขยันต์ประมวลองค์ความรู้ให้เป็นระบบและสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ

        รศ.สุกัญญา สุจฉายา ผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคมนี้ ศูนย์คติชนวิทยาฯ จัดสัมมนาเรื่องเครื่องรางของขลัง วัฒนธรรมชาวพุทธในสุวรรณภูมิ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เรื่องเครื่องรางของขลังของคนไทยในมิติวิชาการ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องระบบเลขยันต์ของไทย ซึ่งเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับการฝึกจิตตามแนวทางของพระพุทธศาสนา แต่ในปัจจุบันกลับถูกนำมาใช้นอกลู่นอกทาง โดยมีบรรดาเกจิอาจารย์ คนทรงเจ้า ครูเทพ ฤาษี และพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีกรรม เน้นหนักในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมจากผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ความจริงแล้วการเขียนยันต์เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวพุทธในสมัยโบราณ ไม่ใช่ไสยศาสตร์หรือความเชื่องมงายอย่างที่เป็นทุกวันนี้

        รศ.สุกัญญากล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานที่ยืนยันถึงศาสตร์การฝึกเขียนยันต์แบบต่างๆ เป็นคัมภีร์ 5 เล่ม ได้แก่ คัมภีร์ปถมัง คัมภีร์อิธะเจ คัมภีร์ตรีนิสิงเห คัมภีร์มหาราช และคัมภีร์พุทธคุณ เลขยันต์ต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในคัมภีร์ดังกล่าวถือเป็นต้นแบบของยันต์ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย แต่กลับถูกนำมาใช้ผิดทั้งวัตถุประสงค์และวิธีการลงยันต์ การเขียนอักขระตัว "นะ" ก็คลาดเคลื่อนจากคัมภีร์ เกิดยันต์รูปแบบใหม่ที่เน้นความสวยงามและความโก้เก๋เพียงอย่างเดียว เมื่อสำรวจยันต์ต่างๆ ของเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ดารานักแสดงและวัยรุ่นนิยมไปสักยันต์ ก็พบว่าเขียนไม่ถูกต้องตามคัมภีร์ โดยนำอักขระแต่ละตัวมาจับแพะชนแกะ ผสมปนเปกันจนเพี้ยนไปหมด

        "คัมภีร์การเขียนยันต์เป็นตัวอักษรขอม อักขระเหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์ คนภาคกลางของไทยสมัยโบราณไม่นิยมเขียนหรือสักยันต์บนผิวหนัง แต่จะเขียนบนแผ่นผ้าติดตัวไว้ใช้ในการทำศึกสงคราม เป็นที่นิยมของทหารและนักรบเพื่อเตือนสติและไม่ประมาท ผู้เขียนยันต์เป็นพระสงฆ์ มีเป้าหมายสูงสุดคือ สุญญตาหรือความว่างและหลุดพ้น แต่น่าเสียดายว่าภูมิปัญญาไทยด้านนี้ขาดผู้สืบทอดได้ตรงตามแก่นแท้ ทำให้มีกลุ่มผู้ที่อ้างอำนาจของเทพเจ้าหรือลัทธิไสยศาสตร์เข้ามาสืบทอด โดยนำระบบยันต์มาใช้เป็นธุรกิจการค้า การสักผิวหนังและปลุกเสกวัตถุมงคลเทวรูป ตะกรุด ผ้ายันต์ ซึ่งเป็นสินค้าด้านความเชื่อที่ได้รับความนิยมสูงมากจากผู้บริโภค" ผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยาฯ กล่าว

        นักวิชาการด้านอักษรศาสตร์กล่าวว่า ระบบเลขยันต์เป็นศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธศาสนายุคโบราณ แต่ไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนได้ โดยมีรากฐานมาจากความเชื่อแบบวิญญาณนิยมผสมผสานกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ชาวพุทธในสุวรรณภูมิไม่ว่าจะเป็นจาม มอญ ขอม เขมร พม่า ไทยใหญ่ ไทยเขิน ลาว มลายู และชาวสยาม มีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเวทมนตร์คาถา โดยเฉพาะพระภิกษุเป็นกลุ่มที่เชี่ยวชาญเรื่องเลขยันต์มากที่สุด ได้ย่อพระสูตรต่างๆ เป็นอักขระจัดเรียงในรูปแบบตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข รูปภาพ แล้วแกะหรือสักลงบนแผ่นผ้า ไม้ โลหะ ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีอานุภาพในการปกป้องคุ้มครอง

        ที่น่าทึ่งก็คือ ความรู้เรื่องยันต์ในคัมภีร์มีความสอดคล้องกับทฤษฎีฟิสิกส์สมัยใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังสนใจ มีเรื่องทางดาราศาสตร์และระบบแผนผังจักรวาลเข้าไปผสมผสานอยู่ด้วย แต่คนในสมัยนี้กลับนำองค์ความรู้เรื่องเลขยันต์ไปใช้สักผิวหนังในเชิงพาณิชย์ มีการนำรูปแบบยันต์ของชนชาวหมู่เกาะมาผสมกับยันต์ชาวพุทธจนเลอะเทอะ บ้างก็สักรูปหนุมาน เสือ จิ้งจก ลงนะเมตตา ซึ่งในคัมภีร์นั้นไม่มีเขียนไว้เลย ถือว่าเรานำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไปใช้ในทางเสื่อม และกลายเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระและมอมเมา ทั้งๆ ที่เป็นศาสตร์โบราณ และเมื่อเร็วๆ นี้ คัมภีร์เรื่องระบบเลขยันต์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี 2553 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.)

        "โครงการเสวนาเรื่องเครื่องรางของขลังเป็นการระดมผู้รู้ในศาสตร์ของการเขียนยันต์ เช่น ยันต์ไทย อินเดีย จีน เขมร ลาว และแขกมุสลิม เพื่อประมวลองค์ความรู้เป็นระบบระเบียบ ไม่ควรปล่อยให้มีเกจิอาจารย์เขียนยันต์แบบมั่วๆ ทำให้สังคมไทยเข้าใจผิด และเตรียมที่จะจัดเสวนาเรื่องนี้ให้ครบทุกภาคอีกด้วย" รศ.สุกัญญากล่าว

        ผู้สนใจร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ท่าเตียน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก sak-yant.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการชี้ อาจารย์สักยันต์ ใช้ตัวอักขระผิด อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2553 เวลา 14:14:24 82,052 อ่าน
TOP