x close

พบปลาหมึก 3 ชนิดใหม่ ครั้งแรกในน่านน้ำไทย

ทะเล

ปลาหมึก 3 ชนิดใหม่ครั้งแรกในน่านน้ำไทย (ไอเอ็นเอ็น)

           คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับทีมงานจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจพบปลาหมึก 3 ชนิดใหม่ครั้งแรกในน่านน้ำไทย

           ความน่าประหลาดใจการจากทายผลฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด ที่ผ่านมาของโปรพอล หรือ ปลาหมึกพอล ทำให้เป็นที่น่าสนใจที่จะทำความรู้จักกับสัตว์ชนิดนี้ โดยฉบับนี้เราได้รับเกียรติจาก ดร.จารุวัฒน์ นภีตะภัฏ อาจารย์ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพ แห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลาหมึกมากกว่า 30 ปี มาให้ความรู้เกี่ยวกับปลาหมึกกันค่ะ

           "ปลาหมึกเป็นสัตว์กินเนื้อ อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม ในประเทศไทยขณะนี้สำรวจพบสายพันธุ์ปลาหมึกประมาณ 80 ชนิด ในทางวิชาการถือว่าปลาหมึกเป็นสัตว์กลุ่มหอยโดยทางสรีระวิทยา แต่ในส่วนของพฤติกรรมจะคล้ายกับสัตว์จำพวกปลา ด้วยมีความว่องไว สามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว ในทางวิชาการถือว่าปลาหมึกเป็น Climax of invertebrate evolution หมายถึงสัตว์ที่เป็นสุดยอดของวิวัฒนาการในสัตว์ ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เพราะว่าสติปัญญาของปลาหมึก มีการพัฒนาเทียบเท่าได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อเทียบแล้วก็มีความฉลาดเท่ากับสุนัข ปลาหมึกทั่วไปจะไม่มีพิษร้ายแรง แต่จะมีเพียงกลุ่มเดียวที่มีพิษถึงตาย คือ ปลาหมึกสายวงฟ้า ซึ่งพบในน่านน้ำไทยด้วย" ดร.จารุวัฒน์ กล่าว

           ดร.จารุวัฒน์ ได้สำรวจศึกษาปลาหมึกในแถบคาบสมุทรไทย โดยทำการรวบรวมตัวอย่างสายพันธุ์ปลาหมึก เพื่อเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษาสยามบรมราชกุมารี และเมื่อปี 2550-2551 ดร.จารุวัฒน์ ในนามของสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพ แห่งคาบสมุทรไทยและภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับทีมงานจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจพบปลาหมึก 3 ชนิดใหม่ครั้งแรกในน่านน้ำไทย ได้แก่

           ปลาหมึกลายเสือ mimic octopus, Thaumoctopus cf. mimicus Norman and Hochberg, 2005 เป็นการรายงานจากภาพถ่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งพบบริเวณเกาะสาก จ.ชลบุรี 

           ปลาหมึกสายลายเสือมีขนาดความยาวลำตัวสูงสุด 58 มม. และความกว้างเมื่อเหยียดหนวดทั้งสองออก 600 มม.  ลำตัวเป็นกล้ามเนื้อบาง มีช่องเปิดของลำตัวกว้าง สีของลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขีดสีขาวประทั่วตัว มีลายสีขาวรูปตัว U บนด้านหลังค่อนไปทางท้ายตัว มีวงแหวนรูปหยดน้ำสีขาวบริเวณกลางหลัง หนวดสีน้ำตาลเข้มมีแถบสีขาวตามขวาง มีลักษณะผอมบาง และยาวมากเมื่อเทียบกับลำตัว ไม่มี ocelli หรือตาปลอมสำหรับหลอกศัตรู และมีติ่งเนื้อ (papilla) อยู่เหนือตาทั้งสองข้าง ทั้งยังมีความสามารถในการแปลงกาย (Mimicry) ให้คล้ายคลึงกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ เป็นการปรับตัวให้อยู่รอดได้ในถิ่นอาศัยที่เป็นหน้าดินเปิดโล่ง ถูกถ่ายภาพได้ในอ่าวไทยเป็นบันทึกครั้งแรกของทั้งสกุลและชนิด และด้วยเป็นปลาหมึกหายาก ทำให้ปลาหมึกสายลายเสือ กลายเป็นเป้าหมายยอดนิยมในการเสาะหาของนักดำน้ำทัศนาจร กิจกรรมดังกล่าว อาจเป็นการคุกคามต่อการดำรงชีวิต และการอยู่รอด เป็นผลให้ปลาหมึกสายลายเสือตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ต่อการสูญพันธุ์ได้ในอนาคต

           และจัดอยู่ในกลุ่มปลาหมึกสายจัดรวมอยู่ใน Order Octopodida เช่นกันแต่เป็นปลาหมึกกลางน้ำ การแพร่กระจายอยู่ในทะเลเปิดเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก หนวดคู่แรกของหอยงวงช้างกระดาษแผ่ออกเป็นแผ่น ซึ่งมีต่อมที่จะหลั่งสารเคมีออกมา สร้างเป็นเปลือกที่เป็นสารพวกแคลเซียมบาง ๆ เรียกว่าเป็น secondary shell ซึ่งแผ่นเนื้อดังกล่าว ยังทำหน้าที่ห่อหุ้มและพยุงเปลือกไว้ และยังทำหน้าที่ดักจับแพลงก์ตอนไว้เป็นอาหารอีกด้วย ส่วนเปลือกจะทำหน้าที่เหมือนกล่องที่ขนย้ายได้สะดวก ใช้เก็บ ห่อหุ้ม ปกป้องแพไข่ไว้จนกระทั่งไข่ฟัก 

           ลักษณะเด่น คือ มีรูเปิด (cephalic water pore) ที่ส่วนบนและส่วนล่างของหัวด้านละ 1 คู่ รูที่อยู่ด้านบนจะมีขนาดใหญ่กว่าด้านล่างเล็กน้อย และมีแผ่นเนื้อบาง ๆ (web) ที่เชื่อมระหว่างหนวดคู่แรก(คู่ที่อยู่กลางด้านบนของหัว, dorsal arms)และระหว่างหนวดคู่แรกกับคู่ที่สอง (dorso-lateral arms) จะแผ่ออกเป็นแผ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่อยู่สองข้างของหนวดคู่แรก ทั้งสองเส้นจะยาวมาก อาจยาวเป็นสองถึงสามเท่าของความยาวลำตัว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสามัญ 

           นอกจากนั้น ส่วนปลายของหนวดคู่แรกนี้ยังมีลักษณะเป็นเส้นยื่นยาวเลยส่วนที่เป็น "ผ้าห่ม" ออกไปอีกสองถึงสามเท่า รวมแล้วหนวดคู่แรกนั้นยาวกว่าลำตัวห้าถึงหกเท่าเลยที่เดียว ความยาวรวมของปลาหมึกผ้าห่มจึงอาจจะยาวได้ถึง 2 เมตร ตัวอย่างที่พบในน่านน้ำไทยครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรก โดยหอยงวงช้างกระดาษใหญ่ได้มาจากผลจับของเรืออวนล้อม ที่ทำการประมงในทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต ที่บริเวณน้ำลึกประมาณ 4,000 เมตร และตัวอย่างปลาหมึกผ้าห่มเป็นตัวอย่างที่เก็บได้จากเรืออวนล้อม ที่ท่าเรือรัษฎา จ. ภูเก็ต ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็นเพศเมียทั้งหมด ตัวอย่างที่พบมีส่วน "ผ้าห่ม" ที่ไม่สมบูรณ์ขาดแหว่งอาจจะเพราะความบอบบางประกอบกับวิธีการจับที่มุ่งหมายสัตว์อื่นมากกว่า

           ขณะนี้ ดร.จารุวัฒน์ ได้ทำการสำรวจศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของปลาหมึก ในโครงการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในหมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล "โครงการนี้เป็นชุดโครงการวิจัยที่ทำการสำรวจรอบด้าน โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยวิจัยในสถานวิจัยความเป็นเลิศ ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เนื่องด้วยหมู่เกาะตะรุเตา เป็นบริเวณที่ยังไม่มีการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพรอบด้านพร้อมกัน จึงเป็นโอกาสอันดีเพื่อให้ได้ข้อมูลและองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินมาเป็นปีที่ 2 แล้ว คาดว่าสามารถสรุปผลได้ประมาณสิ้นปีนี้" และอีกหนึ่งโครงการ เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของกลุ่มปลาหมึกกระดอง ในบริเวณคาบสมุทรไทย โดยศึกษาจากดีเอ็นเอ ผลการศึกษาเบื้องต้น ยังไม่สามารถจำแนกความแตกต่างของสายพันธุ์ปลาหมึก ของทะเลฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทยได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเอาข้อมูลจากการศึกษาดีเอ็นเอ และสัณฐานวิทยามาผนวกกันเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

           สุดท้าย ดร.จารุวัฒน์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบนิเวศของปลาหมึกไว้ว่า "ส่วนของระบบนิเวศของปลาหมึกในประเทศไทย ซึ่งเคยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันด้วยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป น้ำเสื่อมสภาพ ผนวกกับมีการจับเพื่อการบริโภคมากขึ้น ด้วยปริมาณของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ทรัพยากรปลาหมึกลดน้อยลง ทั้งนี้ทั้งนั้น การรักษาทรัพยากรนี้ให้ยั่งยืนขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของทุกคน ในการร่วมกันอนุรักษ์"






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พบปลาหมึก 3 ชนิดใหม่ ครั้งแรกในน่านน้ำไทย อัปเดตล่าสุด 16 กันยายน 2553 เวลา 15:46:43 36,842 อ่าน
TOP