x close

โค้ชเช ประวัติผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของน้องเทนนิส และกีฬาเทควันโดไทย

          โค้ชเช ประวัติของผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมาคมเทควันโดไทย และมีส่วนสำคัญในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกครั้งล่าสุด ใครที่อยากรูัจักเขาให้ดีขึ้น เรามีเรื่องราวของโค้ชคนนี้มาฝาก

โค้ชเช

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เบื้องหลังความสำเร็จในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก จากกีฬาเทควันโดของ น้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากผู้ฝึกสอนอย่าง โค้ชเช ที่เข้ามามีส่วนในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงกีฬาเทควันโดในประเทศไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งนี้ หลายคนคงจะอยากรู้ว่าทำไมชายชาวเกาหลีคนนี้ถึงเลือกใช้ชีวิตและฝึกสอนให้กับนักกีฬาชาวไทยมานานเกือบ 20 ปี วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก โค้ชเช ประวัติและเรื่องราวที่น่าสนใจของเขาให้มากขึ้นกัน

ประวัติโค้ชเช

          โค้ชเช มีชื่อจริงในภาษาเกาหลีว่า ชเว ยอง ซอก มีชื่อภาษาไทยคือ ชัยศักดิ์ ส่วน เช เป็นชื่อที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนใช้เรียกจนติดปาก ซึ่งเพี้ยนมาจาก ชเว นั่นเอง โดยเขาเป็นคนสัญชาติเกาหลีโดยกำเนิด ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2517 

          ด้านการศึกษา โค้ชเช เรียนจบจากโรงเรียนมัธยมพุงแซง ก่อนเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท ด้านพลศึกษา จากมหาวิทยาลัยคยองวอน ขณะเดียวกันด้วยความสามารถด้านเทควันโดอันโดดเด่น ทำให้เขากลายเป็นนักกีฬาตัวแทนทีมชาติเกาหลีในเวลาต่อมา จนกระทั่งเลิกเล่นและเบนเข็มตัวเองมาเป็นโค้ชฝึกสอน ก่อนเลือกเข้าเรียนระดับปริญญาเอก ในสาขาเทควันโด มหาวิทยาลัยดงอา ทั้งนี้ เขาเริ่มต้นเส้นทางการเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาเทควันโดครั้งแรกให้กับทีมชาติบาห์เรน ในปี พ.ศ. 2543 และปัจจุบัน โค้ชเช กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก ที่สาขาจัดการกีฬา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกด้วย

โค้ชเช

โค้ชเช ผลงานและความสำเร็จกับวงการเทควันโดไทย

          เมื่อปี พ.ศ. 2545 สมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทยได้ติดต่อให้สหพันธ์เทควันโดสากล หาโค้ชคนใหม่มาทดแทนคนเดิมที่ลาออกไป โค้ชเชจึงถูกคัดเลือกเข้ามาแทนที่ โดยเริ่มงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเขาไม่เพียงเข้ามามีบทบาทกับการฝึกสอนนักกีฬาในระดับทีมชาติเพียงอย่างเดียว แต่กลับมีส่วนในการวางแผนและพัฒนานักกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชน จนช่วยวางรากฐานให้วงการเทควันโดไทยแข็งแรง และมีนักกีฬาฝีมือดีเพิ่มขึ้นทุกปี

          ผลงานของเขาเริ่มแสดงให้เห็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 กับโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ โดยสามารถพาทีมเทควันโดไทยคว้าเหรียญทองแดงเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ได้สำเร็จจาก วิว เยาวภา บุรผลชัย ในรุ่น 47-51 กิโลกรัม หญิง ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ทำให้คนไทยเริ่มหันมาสนใจเทควันโดกันมากขึ้น

          ต่อมา โอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ปี พ.ศ. 2551 โค้ชเชและสมาคมเทควันโดก็สร้างผลงานยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง คราวนี้เป็นเหรียญเงินจาก บุตรตรี เผือดผ่อง ในรุ่นน้ำหนัก 49 กิโลกรัม หญิง ที่ขึ้นรับรางวัลด้วยวัยเพียง 17 ปี เท่านั้น ในปีเดียวกันเขาและทีมเทควันโดระดับเยาวชนของไทย ก็สามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันรายการ โคเรีย โอเพ่น ได้ถึง 11 เหรียญทอง กับ 1 เหรียญเงิน และในปี พ.ศ. 2553 กับการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน นักกีฬาภายใต้การฝึกสอนของเขายังสามารถคว้ารางวัลได้ถึง 8 เหรียญ โดยแบ่งเป็นเหรียญทอง 2 เหรียญ เหรียญเงิน 2 เหรียญ และเหรียญทองแดง 4 เหรียญ



โค้ชเช

          ในตอนนั้นความสำเร็จของสมาคมเทควันโดและโค้ชเชดูเหมือนเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น เพราะเยาวชนที่ถูกปูพื้นฐานเอาไว้เริ่มพัฒนาและก้าวขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่ และแสดงให้เห็นในโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับเหรียญทองแดงของ ชนาธิป ซ้อนขำ จากรุ่นน้ำหนัก 49 กิโลกรัม หญิง รวมถึงโอลิมปิกเกมส์ ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล กับผลงานเหรียญเงินของ เทวินทร์ หาญปราบ ในรุ่นน้ำหนัก 58 กิโลกรัม ชาย และเหรียญทองแดงจาก พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในรุ่น 49 กิโลกรัม หญิง โดยในปีนั้น น้องเทนนิส แพ้ตกรอบรองชนะเลิศไปอย่างน่าเสียดาย

          อย่างไรก็ตาม ในโอลิมปิกเกมส์ ปี พ.ศ. 2564 ที่ประเทศญี่ปุ่น โค้ชเช และน้องเทนนิส ก็สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกจากกีฬาเทควันโดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย จากรุ่น 49 กิโลกรัม หญิง ถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของทั้งตัวเขา นักกีฬา รวมถึงสมาคมเทควันโดไทย ให้ชัดเจนอีกครั้ง

โค้ชเช

โค้ชเช ชีวิตครอบครัว และการขอโอนสัญชาติเป็นคนไทย

          ด้านชีวิตส่วนตัว ปัจจุบัน โค้ชเช แต่งงานเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับ จิน อุน ซุก ภรรยาชาวเกาหลีใต้ และมีลูกด้วยกัน 1  คน คือ เซ ซุน มิน โดยที่ผ่านมาโค้ชเชก็พยายามยื่นเรื่องขอโอนสัญชาติเป็นคนไทย โดยให้เหตุผลว่าเขารักเมืองไทย รวมถึงนักกีฬาไทย และรู้สึกทำใจไม่ได้ถ้าต้องฝึกฝนคนชาติอื่นให้มาแข่งกับลูกศิษย์ของตัวเอง

          หลังการคว้าเหรียญทองล่าสุด โค้ชเช ยังให้สัมภาษณ์ว่า ที่จริงแล้วเขาอยากขึ้นชื่อว่าเป็นโค้ชคนไทยที่พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองมากกว่า แต่เนื่องจากเอกสารในการยื่นเรื่องโอนสัญชาติของเขามีปัญหาล่าช้า จึงยังไม่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติ แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่เจ้าตัวยังคงยืนยันว่าจะรอสัญชาติไทยและอยู่เป็นผู้ฝึกสอนให้กับนักกีฬาเทควันโดไทยต่อไป รวมถึงบอกว่าเมืองไทยอาจเป็นที่สุดท้ายสำหรับการเป็นโค้ชเทควันโดของเขาอีกด้วย

โค้ชเช

          ตลอดระยะเวลา 19 ปี ที่อยู่เมืองไทย คงทำให้โค้ชเชผูกพันกับประเทศไทยจนรู้สึกเหมือนบ้านไปแล้ว ขณะเดียวกันผลงานที่เขาได้ร่วมสร้างเอาไว้ก็น่าชื่นชมมาก ๆ จนเรียกได้ว่าเป็นสุดยอดโค้ชแห่งประวัติศาสตร์วงการเทควันโดไทยเลยก็ว่าได้

โค้ชเช

โค้ชเช

โค้ชเช

โค้ชเช

โค้ชเช

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก โค้ชเช แฟนคลับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : taekwondothai.com, เฟซบุ๊ก 1 กำลังใจให้ "โค้ชเช"


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โค้ชเช ประวัติผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของน้องเทนนิส และกีฬาเทควันโดไทย อัปเดตล่าสุด 27 กรกฎาคม 2564 เวลา 23:08:50 134,340 อ่าน
TOP