วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคม ของทุกปี


           วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้ไทย

วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ประวัติวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


          วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกวันหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้แก่ประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว ด้วยเหตุนี้ กระปุกดอทคอม จึงขอนำพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่มาบอกเล่า เพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและความกล้าหาญของพระองค์ ที่ช่วยให้คนไทยได้มีชาติไทยอาศัยอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


          สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรืออีกพระนามคือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ทรงมีพระนามเดิมว่า "สิน" พระบิดาเป็นพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว นามว่า "นายไหฮอง แซ่แต้" พระมารดาเป็นหญิงไทยนามว่า "นกเอี้ยง" สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดของพระองค์น่าจะอยู่แถบภาคกลางในกรุงศรีอยุธยามากกว่าเมืองตาก

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 
ภาพจาก : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
 
         ในวัยเยาว์ พระยาจักรีได้รับเด็กชายสินเป็นบุตรบุญธรรม และนำไปฝากให้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส (วัดคลัง) จนศึกษาพระไตรปิฎกได้แตกฉาน จากนั้นเมื่อเล่าเรียนจบ พระยาจักรีได้พาเด็กชายสินไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยความเฉลียวฉลาด รอบรู้ และพูดได้ถึง 3 ภาษา พระองค์จึงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นมหาดเล็กรายงานราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทยและกรมวังศาลหลวง

          กระทั่งปี พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ต่อได้เพียง 3 เดือนเศษ จึงถวายราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นายสิน มหาดเล็ก รายงาน เชิญท้องตราราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ นายสิน มหาดเล็ก สร้างผลงานได้รับความดีความชอบ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสิน มหาดเล็ก รายงานเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก จนกระทั่งพระยาตากถึงแก่กรรม หลวงยกกระบัตรเมืองตากจึงได้เลื่อนเป็นพระยาตากปกครองเมืองตากสืบต่อไป

          ครั้นเมื่อพม่ายกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาทางตอนใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2307 โดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ พระยาตากยกทัพไปช่วยรักษาเมืองเพชรบุรี และตีทัพพม่ากลับไปอย่างง่ายดาย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2308 พม่าได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง พระยาตากก็สามารถช่วยรักษาพระนครไว้ได้อีก ความดีความชอบนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาตากเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันที่พระยาวชิรปราการจะได้ครองเมืองกำแพงเพชร พม่าก็ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง พระยาวชิรปราการจึงต้องเข้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อป้องกันพระนคร

          ระหว่างทำการสู้รบอยู่นั้น พระยาวชิรปราการเกิดท้อแท้ใจที่แม้จะตีค่ายพม่าได้แต่พระนครไม่ส่งกำลังไปหนุน จนทำให้พม่ายึดค่ายกลับคืนได้ อีกทั้งยังเห็นว่าทัพพม่ามีกำลังมากกว่า หากออกไปรบคงพ่ายแพ้อย่างหมดทางสู้ และตนเองยังถูกภาคทัณฑ์ที่ยิงปืนใหญ่ใส่ทัพพม่าโดยไม่ได้ขออนุญาตจากศาลาลูกขุนขึ้น ด้วยเหตุนี้ พระยาวชิรปราการจึงเห็นว่าคงไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ป้องกันพระนคร และเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาคงจะต้องเสียกรุงเสียครานี้ เพราะผู้นำอ่อนแอ ไม่สนใจบ้านเมือง พระยาวชิรปราการจึงนำไพร่พล 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากค่ายพิชัยไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และยึดเมืองระยองได้สำเร็จ ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์ พายุหมุนอย่างรุนแรงจนบิดต้นตาลเป็นเกลียวโดยไม่คลายตัว ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ตาลขด" ขณะที่เหล่าเสนาบดี ทหารทั้งหลาย ก็ยกย่องพระยาวชิรปราการเป็น "เจ้าตาก"

          หลังจากนั้นพระเจ้าตากวางแผนจะเข้ายึดเมืองจันทบูร จึงสั่งให้ทหารทำลายหม้อข้าวให้หมด เพื่อปลุกขวัญกำลังใจทหารให้ฮึดสู้ตีเมืองจันทบูรให้แตก จะได้เข้าไปกินข้าวในเมือง จนสุดท้ายกองทัพพระเจ้าตากสามารถตีเมืองจันทบูรได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นได้มีผู้คนมาเข้าร่วมกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองจันทบูรและเมืองตราดไม่มีพม่าเข้ายึดครอง

          กระทั่ง 3 เดือนผ่านไป พระองค์รวบรวมเสบียงและกำลังคนได้ราว 5,000 คน จึงได้ยกทัพเรือล่องมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และยึดเมืองธนบุรีจากพม่าได้สำเร็จ จากนั้นพระองค์ได้ยกทัพเรือต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะสามารถเข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น และขับไล่ทหารพม่าออกไปจากราชอาณาจักร สามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จภายในเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่เสียกรุงเมื่อปี พ.ศ. 2310

          หลังจากนั้นพระองค์ได้ยกทัพกลับมาที่ธนบุรี ตั้งราชธานีใหม่ ณ ที่แห่งนี้ ขนานนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" และทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ด้วยพระชนมพรรษา 34 พรรษา ทรงเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 และพระราชกรณียกิจหลังจากนั้นของพระองค์คือการปราบปรามก๊กต่าง ๆ ที่แตกแยกเป็นฝ่าย เพื่อรวบรวมให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน และฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากทำสงครามกับพม่า

สมเด็จพระเจ้าตากสินสวรรคต


          สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงครองราชย์ได้ 15 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สิริพระชนมพรรษาได้ 48 พรรษา โดยเหตุแห่งการสวรรคตปรากฏในเอกสารหลาย ๆ ฉบับและสาเหตุแตกต่างกัน แต่เหตุส่วนใหญ่ที่ปรากฏคือ ในช่วงปลายรัชสมัยได้เกิดกบฏขึ้นที่อยุธยา เจ้าเมืองจึงหนีมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าพวกกบฏ และยกพวกมาปล้นพระราชวังกรุงธนบุรี พร้อมบังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินออกผนวช เพื่อควบคุมพระองค์ไว้ในวัดอรุณราชวราราม

          ต่อมา สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ซึ่งกำลังยกทัพไปเขมร ได้ยกทัพมายังกรุงธนบุรีก่อน และได้เข้าปราบปรามพระยาสรรค์และขุนนางที่ก่อกบฏ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกล่าวโทษว่าพระองค์ทรงเสียพระสติ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์และเสด็จสวรรคต จากนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ปราบดาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สืบต่อมา ส่วนพระยาสรรค์ก็ถูกนำตัวไปประหารชีวิต

วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
แผนที่แสดงอาณาเขตประเทศไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ภาพจาก : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

          ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์ได้ทำสงครามกับพม่าถึง 9 ครั้ง และทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง รวมทั้งทรงทำศึกกับเขมร 3 ครั้ง ส่วนพระราชกรณียกิจด้านอื่น ๆ นอกจากการเมืองและการศึกสงครามแล้ว พระองค์ทรงฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม การบำรุงการศึกษาตามวัด การรวบรวมพระไตรปิฎก อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางจากเวียงจันทน์กลับมายังกรุงธนบุรี บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมทั้งยังพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ไว้ 4 ตอน

          พระราชกรณียกิจเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถรอบด้านของพระองค์ ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย และได้สร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ประดิษฐานบนแท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

          ทั้งนี้ ในทุกวันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ทางกรุงเทพมหานครจะได้จัดงาน "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" ขึ้น ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) และถนนลาดหญ้าตลอดสายถึงแยกคลองสาน ซึ่งมีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และให้ประชาชนชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์สืบต่อไป

อ่านบทความวันสำคัญอื่น ๆ



ขอบคุณข้อมูลจาก : wikipedia, 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 28 ธันวาคม ของทุกปี อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2567 เวลา 23:10:03 371,899 อ่าน
TOP
x close