x close

เตือนเปิบไม่ยั้ง แมงดาทะเล เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์


เตือนเปิบไม่ยั้ง แมงดาทะเล เสี่ยงใกล้สูญ

เตือนเปิบไม่ยั้ง แมงดาทะเล เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ (ไทยโพสต์)

          ผู้เชี่ยวชาญทะเลไทยเผยจำนวนประชากรแมงดาทะเลลดลงจนน่าห่วง ชี้สาเหตุจับแมงดาฤดูวางไข่ เรืออวนลากลักลอบจับสัตว์น้ำผิดกฎหมาย ป่าชายเลนถูกทำลายใกล้หมด เสี่ยงสถานะใกล้สูญพันธุ์ พร้อมเตือนกินไข่แมงดาระวังเจอพิษ เรือประมง-พ่อค้ามักง่ายจับแมงดาถ้วยส่งร้านอาหาร    

          ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้อยู่ในฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ของแมงดาทะเลฝั่งอ่าวไทยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน โดยจะพบแมงดาทะเลมีจำนวนชุกชุมและมีไข่ ซึ่งมีคนนิยมนำไปทำเป็นอาหาร อย่างไรก็ตาม ได้สำรวจพบว่าทุกวันนี้จำนวนประชากรแมงดาทะเลอ่าวไทยเหลือน้อยและมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วงว่าอนาคตอาจจะสูญพันธุ์ได้ 

          ผู้เชี่ยวชาญทะเลไทยกล่าวอีกว่า สาเหตุที่จำนวนแมงดาทะเลลดลง เกิดจากการจับแมงดาในฤดูวางไข่มาบริโภคมากเกินความจำเป็น การใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการใช้เรือประมงอวนลากลักลอบจับปลาชายฝั่งและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลหรือบริเวณหน้าดินในอ่าวไทย แม้จะมีกฎหมายห้าม แต่ก็ยังคงลักลอบอยู่ อีกสาเหตุคือ ป่าชายเลนถูกทำลายจนสูญหายไปมาก ทำให้แมงดาทะเลขาดแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ถ้าจำนวนแมงดาทะเลมีน้อยก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากไข่แมงดาทะเลเป็นอาหารของสัตว์น้ำหลายชนิดเพื่อความสมดุลของธรรมชาติ แม้แมงดาทะเลจะเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ แต่ก็มีโอกาสอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์และหมดไปจากทะเลไทยในที่สุด 

          "ทุกวันนี้แมงดาทะเลในอ่าวไทยมีไม่เพียงพอจนต้องสั่งซื้อแมงดาทะเลจากเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา อย่างไรก็ตาม มักจะพบว่ามีผู้ที่กินไข่แมงดามีพิษทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ทั้งๆ ที่แมงดาทะเลมี 2 ชนิด คือ แมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลมมีพิษ และแมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม ไม่มีพิษ ซึ่งสามารถสังเกตรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันได้ แต่บางครั้งเรือประมงกับพ่อค้ามีความมักง่ายและเห็นแก่เงิน จึงนำแมงดาถ้วยที่จับได้มาขายปะปนพร้อมกับแมงดาจาน แล้วส่งต่อมาถึงร้านอาหารในที่สุด" ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว

          ทั้งนี้ ชนิดของแมงดาทะเลแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 

          1.แมงดาถ้วยมีพิษ ลักษณะกระดองมีสีน้ำตาลอมแดง หางมีหน้าตัดเป็นรูปครึ่งวงกลม สันหางเรียบ ไม่มีหนาม ขนาดความยาวรวมหาง 25-30 เซนติเมตร ตัวที่มีพิษจะมีตาสีแดงก่ำและมีขนปกคลุมทั้งตัว บางครั้งเรียกว่าเหรา (เห-รา) 

          2.แมงดาจาน ลักษณะกระดองมีสีน้ำตาลอมเขียว หางมีหน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านบนมีสันและหนามเรียงกันเป็นแถวคล้ายฟันเลื่อย ขนาดความยาวรวมหาง 40-50 เซนติเมตร ไม่มีพิษ สามารถบริโภคได้ 

          ส่วนการบริโภคไข่ของแมงดาถ้วยอาจมีพิษถึงตาย โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน หลังจากรับประทานเข้าไปภายใน 30-60 นาที จะมีอาการท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการชาที่ปาก ลิ้น ใบหน้า และแขน-ขา กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ช็อกหมดสติ หากกินมาก็จะได้รับพิษมากมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว โดยเป็นพิษกลุ่มเทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งพิษกลุ่มนี้จะไม่สลายตัวหรือถูกทำลาย แม้จะทำให้สุกก่อนบริโภค หากได้รับพิษต้องปฐมพยาบาลด้วยการล้างท้อง ทำให้อาเจียน และควรใช้เครื่องช่วยหายใจ แล้วรีบนำคนป่วยส่งโรงพยาบาล 

          ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษแมงดาทะเล แต่เคยมีข่าวว่าสมุนไพรรางจืดสามารถช่วยล้างพิษแมงดาทะเลได้ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ 

          ล่าสุด พบผู้ป่วยรายแรกที่ได้รายงานเป็นชายไทยอายุ 55 ปี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 หลังรับประทานยำไข่แมงดาไม่ทราบชนิด 2-3 ช้อนแล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม ใจสั่น เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนเปิบไม่ยั้ง แมงดาทะเล เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ อัปเดตล่าสุด 3 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 09:51:04 7,327 อ่าน
TOP