21 มีนาคม วันป่าไม้โลก


          วันป่าไม้โลก ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี และเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ ทรัพยากรที่สำคัญต่อมนุษย์โลกทั้งทางตรงและทางอ้อม เราจึงมีประวัติความเป็นมา พร้อมคุณค่าของป่าไม้มาฝาก

วันป่าไม้โลก

          ป่าไม้ นับได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อมนุษย์โลกทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ให้มนุษย์ได้บริโภคใช้สอยและประกอบอาชีพด้านการทำไม้ การเก็บหาของป่า การผลิตไม้แปรรูป ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนจำนวนมาก และที่สำคัญ ป่าไม้ ยังช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ รักษาต้นน้ำลำธาร และเป็นที่อยู่ให้กับสัตว์นานาชนิดอีกด้วย

          แต่ในปัจจุบันการขยายตัวของประชากรโลกอย่างรวดเร็วเป็นแรงผลักดันให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกินและลักลอบตัดไม้ทำลายป่ามากมาย ทำให้ป่าไม้ลดลงอย่างน่าใจหาย ส่งผลให้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในแต่ละปีทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ความสำคัญของวันป่าไม้


          เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ และช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลายมากไปกว่านี้ จึงมีการกำหนดให้ทุก ๆ วันที่ 21 มีนาคม เป็น วันป่าไม้โลก (World forestry day) ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการปลูกป่าในวันนี้ด้วย

          สำหรับในประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติในขณะนั้น ขอน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 เกี่ยวกับการปลูกป่าเพื่อการรักษาต้นน้ำ การปลูกต้นไม้ผสมผสานระหว่างไม้โตเร็วและไม้โตช้า เพื่อช่วยในการรักษาสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการบุกรุกทำลายป่า นอกจากนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กรมป่าไม้ได้จัดทำบานประตูที่ทำมาจากไม้ของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดิน มอบให้กับผู้พิการและประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 7,666 บาน อีกด้วย


          ทั้งนี้ กรมป่าไม้ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารจัดการป่าไม้ด้วยการสร้างแนวร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาป่าไม้ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมหาข้อมูล ร่วมวางแผน ร่วมติดตามผล ร่วมกันบำรุงรักษา และร่วมกันรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งภาคส่วนต่าง ๆ จึงได้จัดกิจกรรมในงานวันสำคัญต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี

          ขณะที่ นายบรรพต คันธเสน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น กล่าวถึงการจัดกิจกรรมวันป่าไม้โลก จังหวัดเชียงใหม่ ว่าในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในวันป่าไม้โลก ทางเราไม่มีการจัดกิจกรรมอะไรมาก จะมีเพียงการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้ แจกจ่ายกล้าไม้ชนิดต่าง ๆ และสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของป่าไม้ และเล็งเห็นถึงคุณค่า ประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่จำกัด

          ทั้งนี้ สำหรับ ป่าไม้ หมายถึง บริเวณที่มีต้นไม้หลายชนิด ขนาดต่าง ๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และกว้างใหญ่พอที่จะมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของทั้งคนและสัตว์ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ปัจจุบันนี้ป่าไม้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ทั้งมนุษย์และสัตว์ เช่น ภัยธรรมชาติและภาวะเรือนกระจก

ชนิดของป่าไม้


ป่าไม้

           บนพื้นโลกมีป่าไม้ต่าง ๆ มากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ สามารถแบ่งป่าในโลกออกไปหลายชนิด คือ


1. ป่าศูนย์สูตร (Equatorial Rainforest) 


          เป็นป่าที่มีต้นไม้สูงขึ้นเบียดกันหนาแน่น แสงแดดไม่สามารถส่องลงมาถึงพื้นดินได้ เป็นป่าไม้ที่มีใบกว้างไม่ผลัดใบ และจะพบไม้เลื้อย หรือไม้เถา พันหรือเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้เต็มไปหมด

2. ป่าร้อนชื้น (Tropical Rain Forest) 


          มีลักษณะคล้ายป่าศูนย์สูตร จะปรากฏอยู่ด้านหน้าของภูเขา ซึ่งตั้งรับลมประจำที่พัดจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง จึงทำให้สภาพเป็นป่าดงดิบ ซึ่งมีต้นไม้น้อยกว่าป่าศูนย์สูตร

3. ป่ามรสุม (Monsoon Forest) 


          เป็นป่าไม้ที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่าง ๆ บริเวณพื้นดินจะมีไม้เล็ก ๆ ขึ้น แสงแดดสามารถส่องผ่านทะลุไปถึงพื้นดินได้ ซึ่งมักจะเป็นไม้ที่ผลัดใบ

4. ป่าไม้อบอุ่นไม่ผลัดใบ (Temperate Rainforest) 


          เป็นป่าไม้ในเขตอบอุ่นที่มีใบเขียวตลอดปี มีพรรณไม้น้อยชนิด แต่ละชนิดจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ขนาดและความสูงของต้นไม้เท่ากับป่าศูนย์สูตร

5. ป่าไม้อบอุ่นผลัดใบ (Temperate Deciduous Forest) 


          เป็นป่าไม้ที่มีใบเขียวชอุ่มในฤดูร้อน แต่จะผลัดใบในฤดูหนาว ต้นไม้มีลำต้นสูงและมีใบขนาดใหญ่

6. ป่าสน (Needle Leaf Forest) 


          เป็นป่าที่มีต้นไม้ลักษณะลำต้นตรง กิ่งสั้น ใบเล็กกลมคล้ายเข็มเย็บผ้า มีต้นไม้ขึ้นเบียดเสียดกันหนาแน่น และมีใบเขียวชอุ่มตลอดปี บริเวณพื้นดินแทบจะไม่มีต้นไม้เตี้ย ๆ ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ตระกูลสนทั้งสิ้น

7. ป่าไม้เนื้อแข็งไม่ผลัดใบ (Evergreen Hardwood Forest) 


          จะมีเป็นต้นไม้เตี้ย ๆ ลำต้นขนาดเล็ก ใบแข็ง และต้นมีกิ่งตั้งแต่ใกล้พื้นดินจนถึงยอด ลักษณะคล้ายกับป่าไม้ผสมกับป่าละเมาะ (Scrub Forest)

8. ป่าสะวันนา (Savanna Woodland) 


          จะเป็นป่าไม้ที่มีไม้ขึ้นอยู่ห่าง ๆ บริเวณช่องว่างระหว่างต้นไม้ใหญ่ ๆ จะมีไม้พุ่มขึ้นอย่างหนาแน่น มีสภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง จึงทำให้ต้นไม้ขึ้นไม่หนาแน่น

9. ป่าหนามและป่าพุ่มเขตร้อน (Thornbush and Tropical Scrubs) 


          เป็นป่าที่มีต้นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งและไม้พุ่ม ซึ่งพืชเหล่านี้สามารถทนต่อสภาพความแห้งแล้งที่ยาวนานและมีฤดูฝนสั้น ๆ ได้ดี ส่วนป่าหนามนั้นจะเป็นไม้พุ่มที่มีหนาม และจะผลัดใบในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ

10. ป่ากึ่งทะเลทราย (Semi-desert Woodland) 


          ป็นพืชพรรณที่ทนต่อความแห้งแล้ง ส่วนมากเป็นพวกไม้พุ่ม ตามพื้นดินของป่าชนิดนี้จะมีวัชพืชหรือพืชต้นเล็ก ๆ ขึ้นอยู่น้อยมาก

11. พืชพรรณในทะเลทราย (Desert Vegetation) 


          มักจะพบพืชที่มีใบเล็ก ๆ พืชที่มีหนาม ซึ่งเป็นพืชที่มีลำต้น สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ เช่น กระบองเพชร รวมทั้งมีพวกหญ้าแข็ง ๆ ขึ้นปะปนอยู่เป็นหย่อม ๆ
 

12. ป่าในเขตอากาศหนาว (Cold Woodland) 


          เป็นพืชพรรณที่พบได้ในอากาศแถบขั้วโลกหรือเขตอากาศแบบทุนดรา ต้นไม้ที่ขึ้นมีขนาดเล็กมาก ต้นเตี้ยขึ้นอยู่ห่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม้พุ่มเตี้ย ๆ พื้นดินเบื้องล่างปกคลุมด้วยมอสส์ 

          อย่างไรก็ดี ป่าไม้ของแต่ละพื้นที่ทั่วโลกมีความแตกต่างกันสูง จึงทำให้มีการอนุรักษ์ที่แตกต่างกันไป ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกยังคงเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่โลกทั้งหมดที่เป็นพื้นดิน และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นเราจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ และสอดส่องดูแลไม่ให้ต้นไม้ถูกตัดโค่นทำลายมากกว่านี้ เพื่อให้มีทรัพยากรป่าไม้อยู่คู่กับโลกตราบชั่วลูกชั่วหลาน

ขอบคุณข้อมูลจาก : thaigoodview.com, un.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
21 มีนาคม วันป่าไม้โลก อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2567 เวลา 15:04:19 48,328 อ่าน
TOP
x close