x close

ประวัติลีลาศ กีฬาของคนรักการเต้น

          ลีลาศ กีฬาของคนรักการเต้น ที่ได้ทั้งความสนุกและการออกกำลังกาย เพราะมีหลากหลายจังหวะด้วยกัน ซึ่งจะมีจังหวะอะไรบ้าง และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลมาฝาก
ประวัติลีลาศ

          การเล่นกีฬาไม่ได้มีเพียงแค่การใช้พละกำลังหนัก ๆ เท่านั้น ความพริ้วไหว อ่อนช้อย ที่เกิดจากการขยับร่างกายให้เข้าจังหวะ ก็ถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งเช่นกัน วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาคุณไปรู้จักกับอีกหนึ่งประเภทกีฬาที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลอย่าง กีฬาลีลาศ กันว่ากีฬาชนิดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร...

ลีลาศ

ประวัติลีลาศ


          กีฬาลีลาศ (Ballroom Dance) คือ กีฬาชนิดหนึ่งที่เน้นความสวยงามพริ้วไหวของผู้เต้น ตามจังหวะต่าง ๆ โดยถือกำเนิดขึ้นในหมู่ชนชั้นสูงฝั่งตะวันตก ที่นิยมใช้การเต้นรำเป็นกิจกรรมในงานสังคม โดยการเต้นรำแต่ละจังหวะมีต้นกำเนิดแตกต่างกัน ดังนี้

ประเภทสแตนดาร์ด


จังหวะแทงโก้ (Tango)


          แต่เดิมคือจังหวะ มิลองก้า (Milonga) ที่ใช้เต้นกันในโรงละครเล็ก ๆ แต่เมื่อชนชั้นสูงจากประเทศบราซิลไปพบเข้า จึงเริ่มมีการนำมาเต้นรำกันมากขึ้นและชื่อของจังหวะมิลองก้า (Milinga) ก็ถูกเปลี่ยนเป็นจังหวะแทงโก้ (Tango) ในที่สุด

จังหวะวอลซ์ (Waltz)


          กำเนิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1910 (พ.ศ. 2453) – ค.ศ.1914 (พ.ศ. 2457) ที่บอสตันคลับ ในโรงแรมซาวอย ประเทศอังกฤษ มีชื่อเรียกว่า บอสตัน วอลซ์ (Boston Waltz) ก่อนที่จะเสื่อมสลายลงไป และกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยถูกดัดแปลงท่าเต้นให้เข้ากับยุคสมัย

จังหวะควิกซ์วอลซ์ (Waltz) หรือ เวียนนีสวอลซ์ (Viennese Waltz)


           ถือกำเนิดขึ้นในตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ในช่วงยุค 60’s ซึ่งเป็นจังหวะที่ต้องใช้พลังสูง เนื่องจากเป็นจังหวะที่มีความเร็ว ถึง 60 บาร์ต่อนาที โดยเน้นที่การรักษาจังหวะให้ต่อเนื่อง เน้นการเต้นแบบอิสระ

จังหวะฟอกซ์ทรอต (Foxtrot)


            เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป โดยนักเต้นประกอบจังหวะคนหนึ่งชื่อ แฮรี่ ฟอกซ์ (Harry Fox) และถูกนำมาดัดแปลงขัดเกลาโดย แฟรงค์ ฟอร์ด (Frank Ford) ประมาณปี ค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) ถึง ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) จนเริ่มแพร่หลาย

จังหวะควิกซ์สเตป (Quick Step)


           เป็นจังหวะที่ถูกแตกแขนงมาจากจังหวะฟอกซ์ทรอต เนื่องจากจังหวะฟอกซ์ทรอตมีความเร็วค่อนข้างสูงถึง 50 บาร์ต่อนาที ทำให้นักดนตรีเล่นได้ยาก จึงถูกปรับลดจังหวะลงมาและนำมาผสมผสานกันจนเกิดเป็นจังหวะควิกสเตปขึ้น และเริ่มแพร่หลายประมาณปี ค.ศ.1928 (พ.ศ.2471) เป็นต้นมา

ประเภทลาตินอเมริกัน

 

จังหวะแซมบ้า (Samba)


          มีต้นแบบมาจากแถบแอฟริกา แต่ถูกพัฒนาจนเป็นที่นิยมในประเทศบราซิล ซึ่งจังหวะแซมบ้าได้ถูกยอมรับให้เป็นจังหวะที่สามารถเข้าแข่งขันในมหกรรมการแสดงระดับโลกที่นิวยอร์คได้ เมื่อปี ค.ศ.1939 (พ.ศ. 2482) และอีกสิบปีต่อมาจังหวะแซมบ้าก็ถูกยอมรับกันอย่างแพร่หลายในปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) – ค.ศ.1949 (พ.ศ. 2492)

จังหวะรุมบ้า (Rumba)


          ถูกนำเข้าไปยังประเทศอเมริกาโดยทาสชาวแอฟริกัน และถูกพัฒนาต่อจนกระทั่งมีตำราการเต้นรำเกิดขึ้น ซึ่งตำราเล่มนั้นเป็นที่แพร่หลายทำให้จังหวะรุมบ้าได้รับการยอมรับในที่สุด

จังหวะแมมโบ้ (Mambo)


          เป็นจังหวะที่ตั้งขึ้นจากชื่อของหมอผีในประเทศเฮติ เป็นการผสมผสานการเต้นในแบบ แอฟริกัน-คิวบัน และนิยมเต้นกันในคิวบา โดยเริ่มแพร่หลายเมื่อ เปเรซ ปราโด (Perez Prado) นักดนตรีชาวคิวบา นำเอาจังหวะนี้มาเล่นในประเทศเม็กซิโก และได้รับการบันทึกเป็นแผ่นเสียง ในปี ค.ศ.1951 (พ.ศ. 2494) จนถูกเรียกว่าเป็น ราชาแห่งแมมโบ้ (Mambo King)

จังหวะ ชะ ชะ ช่า (Cha Cha Cha)


          ถูกพัฒนามาจากจังหวะแมมโบ้ (Mambo) ซึ่งตั้งขึ้นจากการเลียนเสียงรองเท้ากระทบพื้นขณะเต้นรำ โดยถูกพบเห็นครั้งแรกที่ประเทศอเมริกา และแพร่หลายไปยังแถบยุโรป จากนั้นก็ได้รับความนิยมอย่างจริงจังในช่วงปี ค.ศ.1956 (พ.ศ. 2499) ก่อนที่จะถูกตัดทอนชื่อลงเป็น ชาช่า (Cha Cha) แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเคยชินกับ ชะ ชะ ช่า (Cha Cha Cha) มากกว่า

จังหวะไจว์ฟ (Jive)


          กำเนิดขึ้นในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ราวปี ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) เป็นจังหวะเต้นรำในแบบที่เน้นจังหวะจะโคน และการสวิง โดยถูกดัดแปลงมาจากดนตรีในหลายจังหวะ ทั้ง ร็อกแอนด์โรล แอฟริกัน และ อเมริกันสวิง เป็นต้น ซึ่งในการเต้นนั้นจะเน้นการดีด สะบัด และเตะปลายเท้า ซึ่งต้องใช้ความสนุกสนานในการเต้นและใช้พลังสูง

จังหวะปาโซโดเบล (Pasodoble)


          เป็นดนตรีที่มีจังหวะ 2/4 คล้ายเพลงมาร์ชของสเปน ใช้ในช่วงพิธีกรรมที่นักสู้วัวกระทิงกำลังเดินลงสู่สนาม และขณะกำลังจะฆ่ากระทิง ก่อนจะพัฒนามาเป็นจังหวะเต้นรำ โดยฝ่ายชายจะเปรียบเสมือนนักสู้วัวกระทิงที่จะบังคับร่างของคู่เต้น ซึ่งเป็นเสมือนผ้าสีแดง ให้แกว่งไปมาในลักษณะเดียวกับกำลังสะบัดผ้า เพื่อยั่ววัวกระทิง และจะเต้นโดยการย้ำส้นเท้านำเป็นจังหวะอย่างเร็ว ไม่ค่อยใช้สะโพกเคลื่อนไหวเท่าไหร่นัก

ลีลาศ

ประวัติลีลาศในประเทศไทย


          แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ว่ากีฬาลีลาศแพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จากการสันนิษฐานเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยมีบันทึกของหม่อมแอนนา ว่าได้ลองแนะนำให้ท่านรู้จักกับการเต้นของชนชั้นสูง แต่ท่านกลับรู้จักการเต้นชนิดนั้นได้ดีอยู่แล้ว จึงคาดว่าน่าจะทรงศึกษาจากตำราต่างประเทศด้วยพระองค์เอง

          ต่อมาลีลาศค่อย ๆ เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ ในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และมีการจัดตั้ง สมาคมสมัครเล่นเต้นรำ ขึ้นใน พ.ศ. 2475 โดยมี หม่อมเจ้าไวทยากร วรวรรณ เป็นประธาน และจัดการแข่งขันเต้นรำขึ้นที่ วังสราญรมย์ โดยมี พลเรือตรี เฉียบ แสงชูโต และ คุณประนอม สุขุม เป็นผู้ชนะในครั้งนั้น และคำว่า "ลีลาศ" ก็ได้ถูกบัญญัติขึ้นในปี พ.ศ. 2476 และเกิด สมาคมครูลีลาศแห่งประเทศไทย ขึ้นมาแทน สมาคมสมัครเล่นเต้นรำ

          หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การเต้นลีลาศก็ซบเซาลงไป และกลับมาคึกคักอีกครั้งในปี พ.ศ. 2488 จนกระทั่งยื่นจดทะเบียนสมาคมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และใช้ชื่อว่า สมาคมลีลาศแห่งประเทศไทย ตั้งแต่นั้นมา

กติกาลีลาศ


ผู้แข่งขัน


          - เป็นคู่เต้น ชาย 1 คน หญิง 1 คน

การให้คะแนน


          - การเต้นให้ลงจังหวะกับดนตรี และ ดูพื้นฐานของการเต้นว่าถูกต้องหรือไม่

          - ดูการทรงตัวของลำตัว มีความสัมพันธกับคู่เต้น

          - ดูการเคลื่อนไหวให้พริ้วไหว สวยงาม

          - การออกแบบการแสดง การเลือกดนตรีประกอบ และการเปลี่ยนท่าในช่วงต่อจังหวะ

          - การใช้เท้าในการเคลื่อนไหว จะต้องถูกต้องตามหลักเกณฑ์

          - การใช้พื้นที่ฟลอร์ในการเต้น จะต้องหลบหลีกคู่เต้นอื่น และไม่ไปรบกวนการเต้นของผู้อื่นด้วย

          - ซึ่งส่วนประกอบต่าง ๆ ในการให้คะแนน มีสัดส่วนเท่ากัน

          รู้จักกับการเต้นอย่างพริ้วไหว ที่ถูกพัฒนามาเป็นกีฬาอย่างลีลาศแล้ว ก็ขอให้เต้นรำอย่างมีความสุขไปท่ามกลางเสียงดนตรีอย่างมีลีลานะจ๊ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- สมาคมกีฬาลีลาศแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติลีลาศ กีฬาของคนรักการเต้น อัปเดตล่าสุด 10 เมษายน 2567 เวลา 16:27:06 796,367 อ่าน
TOP