ประวัติแชร์บอล กติกาแชร์บอล

           แชร์บอล นับได้ว่าเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการออกกำลังกายได้อย่างดี เนื่องจากสามารถเล่นบนพื้นที่จำกัดและเล่นได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง อีกทั้งกติกาการแข่งก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย อุปกรณ์ก็มีราคาถูกและหาได้ง่าย และที่สำคัญยังสามารถเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่ากีฬาแชร์บอลนิยมเล่นและจัดแข่งขันกันในระดับโรงเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย และวันนี้กระปุุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ ประวัติแชร์บอล มาฝากกันค่ะ

ประวัติแชร์บอล
ภาพจาก Namart Pieamsuwan / Shutterstock.com

ประวัติแชร์บอล


          กีฬาแชร์บอลไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีกำเนิดหรือเล่นกันมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ทั้งนี้ ตั้งแต่ในอดีต กีฬาแชร์บอลเป็นเกมกีฬาที่มุ่งเน้นการปลูกฝัง หรือเป็นการปูพื้นฐานการเล่นกีฬาจำพวกบาสเกตบอล แฮนด์บอล หรือกีฬาประเภทอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะด้านการเคลื่อนไหว รวมถึงทักษะการฝึกฝนเบื้องต้นด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการฝึกความพร้อมของร่างกายและจิตใจ

          ส่วนระเบียบการเล่น หรือ กติกาแชร์บอล ในตอนแรกยังไม่มีระบุขึ้นมาตายตัว เพียงแต่ยึดถือกติกาบาสเกตบอลในบางส่วนมาใช้ โดยการอนุโลมให้เหมาะสมเท่านั้น จากหลักฐานที่ปรากฏผู้ที่คิดค้นกีฬาแชร์บอลขึ้นมาเล่นคือ พันเอกมงคล พรหมสาขา ณ สกลนคร และได้มีการพัฒนาอย่างแพร่หลาย เนื่องจากแชร์บอลเป็นกีฬาที่เล่นง่าย เพราะไม่จำกัดเพศของผู้เล่น คือ อาจจะเล่นรวมทั้งชายและหญิงผสมกัน และสถานที่ สามารถเล่นได้กับทุกสนามไม่ว่าจะเป็น สนามหญ้า พื้นดิน พื้นซีเมนต์ พื้นไม้ ฯลฯ ส่วนลูกบอลที่ใช้จะใช้ลูกเนตบอล หรือลูกวอลเลย์บอล ถ้าไม่มีก็ใช้วัสดุอื่นแทนได้ เช่น ม้วนผ้าเป็นลักษณะกลม ๆ ก็สามารถเล่นได้ ส่วนภาชนะที่ใช่รับลูกบอลนอกจากตะกร้ายังสามารถใช้อย่างอื่นที่ใส่ลูกได้

แชร์บอล

          โดยจุดประสงค์ของกีฬาแชร์บอล คือ ผู้เล่นแต่ละฝ่ายช่วยกันรับส่งลูกบอลให้ผู้เล่นฝ่ายเดียวกัน นำลูกบอลผ่านฝ่ายตรงข้ามโยนลงไปในตะกร้าของฝ่ายตนเองที่ยืนรอรับอยู่ข้างหน้า(ด้านหลังของฝ่ายตรงข้าม) โดยโยนให้เข้าตะกร้าให้มากที่สุด และในทางตรงกันข้ามอีกฝ่ายก็จะต้องป้องกันไม่ให้ลูกบอลส่งข้ามไปเข้าตะกร้าเช่นกัน

          ปัจจุบันกีฬาแชร์บอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย ไม่เพียงแต่เล่นหรือแข่งขันภายในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเท่านั้น หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนต่างก็ให้ความสนใจนิยมเล่นกัน และมีการแข่งขันทั้งภายในหน่วยงานหรือระหว่างหน่วยงาน เนื่องจากกีฬาแชร์บอลเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เชื่อมความสามัคคีระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

กติกา แชร์บอล

กติกาแชร์บอล


สนาม แชร์บอล

1. สนามแชร์บอล


1.1 สนามเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 16 เมตร (เส้นหลัง) ยาว 32 เมตร (เส้นข้าง) สนามแบ่งเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ด้วยเส้นแบ่งแดน ขนาดสนามนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยมีบริเวณเขตรอบสนามอย่างน้อย 1 เมตร ถ้าเป็นสนามในร่มความสูงจากพื้นสนามขึ้นไปไม่ควรน้อยกว่า 6 เมตร
1.2 วงกลมกลางสนาม ที่จุดกึ่งกลางของเส้นแบ่งแดน ให้เขียนวงกลมรัศมี 1.80 เมตร
1.3 เขตผู้ป้องกันตะกร้า ที่จุดกึ่งกลางของเส้นหลังทั้งสองด้าน เขียนครึ่งวงกลม รัศมี 3.00 เมตร ในสนามเล่น เขตนี้เรียกว่า เขตผู้ป้องกันตะกร้า
1.4 เส้นโทษ ถัดจากจุดกึ่งกลางเส้นหลังเข้าไปในสนาม 8.00 เมตร ลากเส้นให้ขนานกับเส้นหลังยาว 50 เซนติเมตร (โดยลากให้กึ่งกลางของเส้นอยู่ที่กึ่งกลางของความกว้าง)
1.5 เส้นทุกเส้นกว้าง 5 เซนติเมตร (สีขาว) และเป็นส่วนหนึ่งของเขตนั้น





2. อุปกรณ์การแข่งขัน


เก้าอี้สำหรับเล่น กีฬาแชร์บอล

2.1 เก้าอี้ เป็นเก้าอี้ชนิด 4 ขา มีความแข็งแรงมั่นคง ไม่มีพนักพิง สูง 35-40 เซนติเมตร ขนาดของที่นั่ง กว้าง 30-35 เซนติเมตร หรือเป็นเก้าอี้ที่มีขนาดใกล้เคียงและเป็นชนิดเดียวกันทั้งสองตัว เก้าอี้นี้วางไว้ที่จุดกึ่งกลางของเส้นหลัง โดยให้ขาหน้าของเก้าอี้ทั้งสองขาวางอยู่บนเส้นสนาม

ตะกร้าสำหรับเล่น กีฬาแชร์บอล

2.2 ตะกร้า ขนาดสูง 30-35 เซนติเมตร ปากตะกร้าเป็นรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 30-35 เซนติเมตร ทำด้วยหวายที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้เล่น หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่เกิดอันตราย มีน้ำหนักเบาเท่ากัน

ลูกบอลสำหรับเล่น กีฬาแชร์บอล

2.3 ลูกบอล ใช้ลูกแชร์บอล หรือลูกฟุตบอลขนาดเบอร์ 4-5 หรือลูกที่ฝ่ายจัดการแข่งขันรับรอง ซึ่งฝ่ายจัดการแข่งขัน จะต้องแจ้งให้ผู้แข่งขันทราบก่อนในระเบียบการแข่งขัน
2.4 นาฬิกาจับเวลา 2 เรือน ใช้สำหรับจับเวลานอก และเวลาแข่งขัน
2.5 ใบบันทึกการเข่งขัน
2.6 ป้ายคะแนน
2.7 สัญญาณหมดเวลาการแข่งขัน (นกหวีด ระฆัง กริ่ง ฯลฯ)
2.8 ป้ายบอกจำนวนครั้งของการฟาวล์ (ถ้ามี)

3. เวลาการแข่งขัน


3.1 เวลาการแข่งขัน แบ่งออกเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 20 นาที พักระหว่างครึ่ง 5 นาที (เวลาการแข่งขันนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมกับนักกีฬา โดยต้องแจ้งไว้ในระเบียบการแข่งขันก่อน)
3.2 เวลาการแข่งขันเริ่มขึ้นเมื่อ ผู้ตัดสินได้โยนลูกบอลขึ้นระหว่างผู้เล่นสองคนของแต่ละฝ่ายที่อยู่ในวงกลม และลูกบอลได้ถูกผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว
3.3 เมื่อเริ่มแข่งขันครึ่งเวลาหลัง และเวลาเพิ่มพิเศษแต่ละช่วงให้เปลี่ยนแดนกัน
3.4 เวลานอก ให้แต่ละทีมขอเวลานอกได้ครึ่งเวลาละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 นาที
3.5 การต่อเวลาการแข่งขัน เมื่อผลการแข่งขันเสมอกัน ให้ต่อเวลาเพิ่มพิเศษอีกช่วงละ 5 นาที จนกว่าจะมีผลแพ้ชนะกันหรือจะมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น
3.6 การขอเวลานอกในเวลาเพิ่มพิเศษ ให้ขอเวลานอกได้ช่วงละ 1 ครั้ง
3.7 ชุดใดที่มาแข่งขันช้ากว่ากำหนดเวลาการแข่งขัน 15 นาทีให้ปรับเป็นแพ้

4. ผู้เล่น


4.1 ชุดหนึ่งประกอบไปด้วยผู้เล่น 12 คน เป็นผู้เล่นในสนาม 7 คน ผู้เล่นสำรอง 5 คน ผู้เล่นสำรองและเจ้าหน้าที่ประจำทีม ต้องนั่งที่ที่คณะกรรมการจัดไว้ให้
4.2 เมื่อเริ่มทำการแข่งขัน ต้องมีผู้เล่นในสนามฝ่ายละ 7 คนและในระหว่างการแข่งขันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีผู้เล่นน้อยกว่า 5 คน ให้ปรับแพ้
4.3 ผู้เล่นสำรองจะเข้าเล่นได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสินและต้องทำการเปลี่ยนตัวที่บริเวณเส้นแบ่งแดนด้านเดียวกับโต๊ะเจ้าที่จัดการแข่งขัน (เขตเปลี่ยนตัว)
4.4 ผู้เล่นแต่ละชุดต้องสวมเสื้อที่มี่สีเดียวกัน และติดหมายเลขที่ด้านหน้า ขนาดสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร ที่ด้านหลังขนาดสูงไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร ใช้หมายเลข 1 – 12 สีของหมายเลขต้องแตกต่างจากสีเสื้ออย่างชัดเจน
4.5 ห้ามผู้เล่นสวมเครื่องประดับที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น

5. ผู้ป้องกันตะกร้า


5.1 ผู้ป้องกันตะกร้าเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่มีสิทธิ์เข้าไปในเขตป้องกันตะกร้าได้
5.2 ผู้ป้องกันตะกร้าสามารถเคลื่อนที่ไปในเขตป้องกันตะกร้าพร้อมกับลูกบอลได้ โดยปราศจากข้อจำกัด ภายในเวลา 3 วินาที
5.3 ผู้ป้องกันตะกร้าสามารคออกมาร่วมเล่นในสนามเล่นได้แต่ต้องปฏิบัติตนเหมือนผู้เล่นในสนามทั่ว ๆ ไป
5.4 การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้ป้องกันตะกร้าโดยไม่แจ้งและละเมิดกติกาอย่างร้ายแรง ผู้ตัดสินจะให้ออกจากการแข่งขัน (ไล่ออก)

6. ผู้ถือตะกร้า


6.1 ต้องอยู่บนเก้าอี้พร้อมกับตะกร้า
6.2 ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมเล่นกับผู้เล่นในสนามขณะกำลังแข่งขัน (ส่งข้าง)
6.3 ห้ามใช้ตะกร้าหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย กีดกันการป้องกันของผู้ป้องกันตะกร้า (ส่งข้าง)
6.4 สามารถเคลื่อนไหวตะกร้าได้ทุกลักษณะ
6.5 ผู้ถือตะกร้า ต้องใช้ตะกร้ารับลูกบอลจากการยิงประตูทุกลักษณะทิศทาง และต้องทรงตัวอยู่บนเก้าอี้ได้อย่างมั่นคง

7. เขตผู้ป้องกันตะกร้า


7.1 เขตป้องกันตะกร้าเป็นพื้นที่ของป้องกันตะกร้าเพียงคนเดียวเท่านั้น
7.2 ผู้เล่นในสนามเข้าไปในเขตป้องกันตะกร้า จะถูกลงโทษดังนี้
     7.2.1 ฝ่ายป้องกัน เข้าไปในขณะที่มีการยิงประตู ถ้าลูกบอลลงตะกร้าให้ได้คะแนน ถ้าลูกบอลไม่ลงตะกร้าให้ยิงลูกโทษ
     7.2.2 ฝ่ายป้องกันเข้าไปในขณะที่ไม่มีการยิงประตู (ส่งข้าง)
     7.2.3 ฝ่ายรุก เข้าไปในเขตป้องกันตะกร้าของฝ่ายตรงข้าม (ส่งข้าง)
7.3 ลูกบอลที่วาง หรือกลิ้งอยู่ในเขตป้อกันตะกร้าเป็นผู้ป้องกันตะกร้า และจะต้องเล่นอย่างทันที

8. การเล่นลูกบอล


อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำ ดังนี้

8.1 จับ ตี ปัด กลิ้ง ส่ง หรือขว้างลูกบอลด้วยมือ แขน ศีรษะ หรือลำตัวบริเวณเหนือสะเอวขึ้นไป
8.2 ครอบครองลูกบอลด้วยมือเดียวหรือสองมือ หรือกดลูกบอลที่อยู่บนพื้นสนาม หรือโยนลูกบอลขึ้นในอากาศได้ภายในเวลาไม่เกิน 3 วินาที
8.3 ถือลูกบอลและเคลื่อนไหวไปมาได้ด้วยการหมุนตัวโดยมีเท้าหลัก
8.4 กระโดดรับ ส่ง หรือยิงประตู
8.5 ใช้ลำตัวบังคู่ต่อสู้ ในขณะที่กำลังครอบครองลูกบอลอยู่

ไม่อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำ ดังนี้

8.6 ห้ามเลี้ยงลูกบอล (ส่งข้าง) ยกเว้นกรณีการรับลูกไม่ได้ (FUMBLE) หรือการตัดลูกบอล
8.7 เจตนาพุ่งตัวลงเพื่อครอบครองลูกบอล (ส่งข้าง)
8.8 เล่นลูกบอลด้วยส่วนหนึ่งส่วนใด ตั้งแต่สะเอวลงไป (ส่งข้าง)
8.9 ยื่นลูกบอลให้เพื่อนร่วมทีมด้วยมือต่อมือ (บันทึกการฟาวล์)
8.10 ทำให้คู่ต่อสู้ได้รับอันตรายโดยใช้ลูกบอล (ยิงโทษ)
8.11 ทุบ ตบ ตี ลูกบอลจากมือคู่ต่อสู้ (ส่งข้าง)
8.12 กีดขวางคู่ต่อสู้ด้วยมือ แขน ขา หรือลำตัวในลักษณะที่เป็นอันตรายกับคู่ต่อสู้ (ขัดขวาง)
8.13 ดึง ดัน ผลัก ชก ชน เตะ คู่ต่อสู้ทุกลักษณะ (ส่งข้างหรือยิงโทษ หรือตัดสิทธิ์ให้ออกจากการแข่งขัน)
8.14 ทำผิดกติกาอย่างร้ายแรงกับคู่ต่อสู้ (ยิงโทษ และตัดสิทธิ์ให้ออกจากการ

9. การได้คะแนน


9.1 จะนับคะแนนเมื่อลูกบอลได้ลงตะกร้าจากการยิงประตูโดยตรง โดยผู้ถือตะกร้าต้องทรงตัวอยู่บนเก้าอี้อย่างมั่นคง และผู้ตัดสินในสนามได้ให้สัญญาณนกหวีดแล้ว
9.2 ผู้เล่นฝ่ายป้องกันพยายามป้องกันโดยผิดกติกา ถ้าลูกบอลลงตะกร้า ให้นับว่าได้คะแนน
9.3 ถ้าผู้จับ เวลาให้สัญญาณหมดเวลาการแข่งขันก่อนที่ลูกบอลจะหลุดจากมือผู้ยิงประตูถือว่าไม่ได้คะแนน
9.4 หลังจากลูกบอลลงตะกร้าจาการยิงประตูธรรมดาหรือหลังจากการยิงโทษได้ผล ผู้ป้องกันตะกร้าต้องนำลูกบอลส่งเข้าเล่นจากเขตป้องกันตะกร้า
9.5 คะแนนที่ได้จากการยิงประตู มีค่า 2 คะแนน คะแนนที่ได้จากการยิงโทษมีค่าครั้งละ 1 คะแนน
9.6 ฝ่ายที่ทำคะแนนได้มากกว่าเป็นฝ่ายชนะในการแข่งขัน

10. การเริ่มเล่นและการโยนลูกกระโดด


10.1 การเริ่มเล่นในครึ่งเวลาแรก และครึ่งเวลาหลัง เวลาเพิ่มพิเศษ และการหยุดเล่นอื่น ๆ ที่ต้องทำลูกกระโดด จะเริ่มโดยผู้ตัดสินเป็นผู้โยนลูกกระโดดที่วงกลมกลางสนาม ระหว่างผู้กระโดด
10.2 ตัดสินเป็นผู้โยนลูกกระโดดขึ้นไปบนอากาศ ในแนวดิ่งระหว่างผู้กระโดดทั้งสองฝ่าย
10.3 ผู้เล่นอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้กระโดดต้องอยู่นอกวงกลม ณ ที่ใด ๆ ก็ได้ในเขตสนามแข่งขัน
10.4 จะโยนลูกกระโดดเมื่อ
     10.4.1 เริ่มการแข่งขันครึ่งเวลาแรก ครึ่งเวลาหลังและเวลาเพิ่มพิเศษ
     10.4.2 เมื่อมีการหยุดเล่นโดยที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำผิดกติกา
     10.4.3 เมื่อเกิดลูกยึดของผู้เล่นทั้งสองฝ่าย (ผู้ทำลูกยึดต้องมาเป็นผู้กระโดด)
     10.4.4 เมื่อทั้งสองฝ่ายทำผิดกติกาพร้อมกัน ให้ฝ่ายที่ครอบครองบอลส่งบอลเข้าเล่นต่อ หลังจากบันทึกฟาวล์ทั้ง 2 คน
10.5 ผู้กระโดดต้องปัดลูกบอลในขณะที่ลูกบอลลอยอยู่ในจุดสูงสุดได้คนละไม่เกิน 2 ครั้ง จากนั้นผู้กระโดดจะถูกลูกบอลอีกไม่ได้ จนกว่าลูกบอลจะได้ถูกผู้เล่นคนอื่น ๆ

11. การส่งลูกเข้าเล่นจากเส้นข้าง


11.1 จะส่งลูกเข้าเล่น เมื่อลูกบอลทั้งลูกได้ผ่านเส้นข้างหรือเส้นหลังและถูกพื้นที่นอกสนามแข่งขัน (ลุกลอยในอากาศยังไม่ถือว่าเป็นลูกออก)
11.2 ผู้เล่นฝ่ายรับทำลูกบอลออกเส้นหลัง ให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามส่งลูกเข้าเล่นจากมุมสนามด้านที่ลูกบอลออก
11.3 ผู้เล่นฝ่ายรุกทำให้ลูกบอลออกเส้นหลัง ให้ฝ่ายตรงข้ามนำลูกมาส่งเข้าเล่นจากเส้นข้างมุมสนามด้านที่ลูกออก
11.4 ผู้ส่งลุกเข้าเล่นจะส่งด้วยวิธีใดก็ได้ภายในกำหนด 5 วินาที หลังจากผู้ตัดสินส่งลูกบอลให้ผู้เล่นแล้ว
11.5 ผู้ตัดสินจะส่งลูกบอลให้ผู้เล่นส่งเข้าเล่น ในกรณีที่มีการส่งบอลเข้าเล่นทุกครั้ง
11.6 จะให้ส่งลุกเข้าเล่นเมื่อผู้ป้องกันตะกร้าและผู้เล่นฝ่ายรุกมีความพร้อมที่จะเล่น จะต้องส่งลูกบอลเข้าเล่น เมื่อผู้ตัดสินส่งบอลให้หรือผู้ตัดสินเป่านกหวีดให้ส่ง ภายในเวลา 5 วินาที

12. การยิงโทษ


จะให้ยิงโทษเมื่อ

12.1 ผู้ป้องกันตะกร้า
     12.1.1 ทำการป้องกันในลักษณะที่เป็นอันตรายกับคู่ต่อสู้ (ข้อ 5.5)
     12.1.2 นำลูกบอลจาสนามเล่นเข้าไปในเขตป้องกันตะกร้า (ข้อ 5.7)
     12.1.3 เจตนาปัดตะกร้าถูกตัวผู้ถือตะกร้าใช้เก้าอี้หรือส่วนอื่น ๆ ของเก้าอี้เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน (ข้อ 5.9 )
12.2 ผู้เล่นอื่น ๆ ในสนาม
     12.2.1 ฝ่ายป้องกันเข้าไปในเขตประตูคณะมีการยิงประตู (ข้อ 7.2.1)
     12.2.2 เจตนาทำให้คู่ต่อสู้ได้รับอันตรายโดยใช้ลูกบอล (ข้อ 8.10)
     12.2.3 ดึง ดัน ผลัก ชน ชก เตะคู่ต่อสู้ (ข้อ 8.13)
     12.2.4 ทำผิดกติการอย่างร้ายแรงกับคู่ต่อสู้ และผู้ตัดสิน (ข้อ 8.14 )
     12.2.5 การฟาวล์โดยเจตนา (ข้อ 14.1.2)
12.3 ผู้ยิงโทษต้องเป็นผู้เล่นที่กำลังอยู่ในสนาม
12.4 ต้องยิงโทษภายใน 3 วินาที หลังจากผู้ตัดสินได้ส่งบอลให้
12.5 ผู้ยิงโทษต้องไม่ให้เท้าสัมผัสเส้นโทษ
12.6 จะยิงโทษด้วยวิธีใด ๆ ก็ได้
12.7 ผู้ป้องกันตะกร้าและผู้เล่นอื่น ๆ ทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ห่างจากผู้ยิงโทษอย่างน้อย 3 เมตร
12.8 ผู้ถือตะกร้าอยู่ขนเก้าอี้พร้อมตะกร้า จะถือตะกร้าอยู่ในลักษณะ

13. การเปลี่ยนตัวผู้เล่น


13.1 จะทำการเปลี่ยนตัว ผู้ล่นได้เมื่อลูกตาย และฝ่ายที่ขอเปลี่ยนตัวเป็นครอบครองลูกบอลอยู่ หรือเมื่อมีการยิงโทษ
13.2 ผู้เล่นที่จะเปลี่ยนตัวเข้าเล่นต้องเปลี่ยนตัวที่บริเวณเขตการเปลี่ยนตัวเท่านั้น
13.3 จะเปลี่ยนหน้าที่การเล่นได้เมื่อได้แจ้งให้ผู้ตัดสินทราบขณะที่ลูกตาย
13.4 ผู้เล่นที่กระทำฟาวล์ครบ 5 ครั้ง ต้องออกจากการแข่งขัน แต่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นอื่น ๆ เข้าแทนได้
13.5 ผู้เล่นที่ถูกให้ออกจากการแข่งขัน สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นอื่น ๆ เข้าแทนได้

14. การทำฟาวล์


          การบันทึกฟาวล์ การทำผิดมารยาท และการลงโทษของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ประจำทีม

14.1 การทำฟาวล์ต้องบันทึกทุกครั้ง
     14.1.1 ผู้เล่นที่กระทำการฟาวล์ครบ 5 ครั้ง ต้องออกจากการแข่งขัน
     14.1.2 การฟาวล์โดยเจตนา จะถูกลงโทษโดยการยิงโทษ
     14.1.3 การฟาวล์ขณะยิงประตู ให้บันทึกเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง (ยิงโบนัส)
14.2 การทำผิดมารยาทของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ประจำทีม
     14.2.1 การทำผิดซ้ำ ๆ
     14.2.2 การแสดงที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา
     14.2.3 การใช้วาจาไม่สุภาพให้บันทึกการฟาวล์ผู้ฝึกสอน ถ้าผู้ฝึกสอนฟาวล์ 3 ครั้งให้ออกจากการเป็นผู้ฝึกสอน และให้ลงโทษยิงประตู 1 ครั้ง และส่งบอลเข้าเล่นที่กลางสนาม
14.3 การลงโทษ 3 ขั้นตอน
     14.3.1 เตือนและบันทึก
     14.3.2 ยิงโทษและบันทึก
     14.3.3 ให้ออกจากการแข่งและบันทึก

15. ผู้ตัดสิน


15.1 การแข่งขันครั้งหนึ่งประกอบด้วยผู้ตัดสิน 2 คน
15.2 ผู้ตัดสินมีหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน ตั้งแต่เริ่มเล่นจนถึงสิ้นสุดการแข่งขัน
15.3 ผู้ตัดสินต้องทำการเสี่ยงเพื่อเลือกแดนต่อหน้า หัวหน้าชุดทั้งสองทีม
15.4 ขณะทำการแข่งขัน ถ้าผู้ตัดสินไม่สามารถทำการตัดสินได้ตลอดการแข่งขัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันสามารถจัดหาผู้ตัดสินสำรองเข้าทำหน้าที่แทนได้ หรืออาจปฏิบัติหน้าที่เพียงคนเดียวถ้าไม่สามารถหาผู้อื่นแทนได้
15.5 ผู้ตัดสินเป่านกหวีดเมื่อ
     15.5.1 ลูกออก
     15.5.2 มีการทำผิดกติกาทุกชนิด
     15.5.3 มีการยิงประตูโทษได้ผล
     15.5.4 มีการให้เวลานอก
     15.5.5 หมดเวลานอก
     15.5.6 เกิดการบาดเจ็บ
     15.5.7 เกิดลูกยึด
     15.5.8 ผู้ตัดสินขอเวลานอก
     15.5.9 หมดเวลาการแข่งขัน
     15.5.10 การเตือนและอื่น

16. เจ้าหน้าที่


          เจ้าหน้าที่ประกอบด้วย

16.1 ผู้บันทึก 1 คน
16.2 ผู้จับเวลา 1 คน
16.3 ผู้ใส่ป้ายคะแนน 1 คน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
การกีฬาแห่งประเทศไทย
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สมาคมแชร์บอลประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติแชร์บอล กติกาแชร์บอล อัปเดตล่าสุด 11 มิถุนายน 2567 เวลา 16:30:29 1,647,545 อ่าน
TOP
x close