มองการเมืองไทย ในสายตานักกวี ... วัฒน์ วรรลยางกูร



มองการเมืองไทย ในสายตานักกวี ... วัฒน์ วรรลยางกูร

มองการเมืองไทย ในสายตานักกวี ... วัฒน์ วรรลยางกูร
 

          หลังจากฟังแนวคิดของนักการเมือง และแกนนำกลุ่มต่าง ๆ ไปมากแล้ว เราลองไปฟังมุมมองทางการเมืองจากสายตาของนักเขียน ซึ่งถูกเรียกว่า "ปัญญาชน" กันดูบ้าง โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา รายการที่นี่ตอบโจทย์ ทางช่องไทยพีบีเอส ได้เชิญ "วัฒน์ วรรลยางกูร" นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา มาพูดถึงมุมมองทางการเมือง ซึ่งน่าสนใจทีเดียว

          เริ่มต้น พิธีกรได้ยกคำกลอนของ "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" ศิลปินแห่งชาติ ขึ้นมาถามว่า "อะไรคือศัตรูหลักในการเมืองขณะนี้?" ซึ่ง วัฒน์ บอกว่า ศัตรูหลักของระบอบประชาธิปไตยก็คือ อำนาจนอกระบบ ที่ไม่เคารพกติกา มารยาท เช่น การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 หากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยก็เห็นเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ และก็กลายมาเป็นอำนาจผูกขาด 

มองการเมืองไทย ในสายตานักกวี ... วัฒน์ วรรลยางกูร

          ทั้งนี้ จะสังเกตเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ก็ส่งผลกระทบทำให้วงการนักเขียนเกิดความขัดแย้งกันหนักไม่แพ้กัน ซึ่ง วัฒน์ มองว่า เรื่องนี้มันมีรายละเอียดมาก อย่างประเด็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นประเด็นที่เรียกแขกมาก เพราะเขาเป็นนายทุน ทำโครงการอาจจะคิดในแง่การตลาด แตกต่างกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำสมุดปกเหลือง ด้วยความเป็นนักอุดมคติทางประชาธิปไตยที่ต้องการสร้างสวัสดิการสังคม เพราะจุดยืนต่างกันก็อาจทำให้อีกฝ่ายไม่มีอะไรมาโจมตีนายปรีดีมากนัก

          "ผมเข้าใจนะ ทำไมคนถึงไม่พอใจคุณทักษิณ อย่างผมเดินไปในตลาด เห็นชาวบ้านที่ดูข่าวเสื้อเหลืองต่อว่าคุณทักษิณ ที่ขายหุ้นโดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจริง ๆ มันก็ถูกต้องตามกฎหมายการขายหุ้น ผมก็เข้าใจ คือ เรื่องการเมืองมันไม่ใช่เรื่องว่าใครโง่ ใครฉลาด มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มชน ของชนชั้น อย่างเช่น ชาวบ้านต่างจังหวัดที่มีรายได้ไม่มาก เจ็บป่วยใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค เขาก็ชอบทักษิณ แต่ถ้าคนในเมืองไม่สนใจ เวลาเจ็บป่วยก็ไปคลินิก เขายอมจ่ายมากกว่าโดยไม่ต้องสะดุ้งสะเทือนอะไร เพื่อให้ได้การบริการที่ดีและมั่นใจ" นักกวีคนดังกล่าว

มองการเมืองไทย ในสายตานักกวี ... วัฒน์ วรรลยางกูร

          อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะมองว่า คนที่เป็น "นักเขียน" ต้องรู้ดี รู้ชั่ว แม้กระทั่งนักเขียนเสื้อแดง ก็ต้องรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีปัญหาอะไรบ้าง แต่แกล้งมองไม่เห็นหรือไม่...เรื่องนี้ วัฒน์ หัวเราะแล้วบอกว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ดี รู้ชั่ว แม้ตนจะไม่ได้เรียนสูง แต่ก็ผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองมามากมาย โดยประสบการณ์ก็ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา มันมีโจทย์ที่เมื่อก่อนเรามองไม่ออก แต่เราก็สงสัยว่า เหตุการณ์เหล่านั้นมันเกิดขึ้นอย่างไร ก็ต้องหาคำตอบ เวลาไปเจอหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้ก็จะซื้อมาอ่านเสมอ ผลจากการอ่านหนังสือทำให้เรามองเห็นโครงสร้างของการเมืองไทย

มองการเมืองไทย ในสายตานักกวี ... วัฒน์ วรรลยางกูร

          "ถ้าคุณมองเฉพาะช่วงม็อบปัจจุบัน คุณจะปวดเศียรเวียนเกล้ามาก ฝ่ายนั้นว่าทักษิณไม่ดีอย่างนี้ อย่างนั้น เมื่อคุณวน ก็เหมือนน้ำ กระแสน้ำจะดูดเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปตามกระแส เพราะฉะนั้นเราต้องมีหลัก หลักของผมในทางการเมืองคือต้องเป็นประชาธิปไตย ในทางเศรษฐกิจ ประชาชนต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในการเลือกตั้งทุกครั้ง ผมเลือกพรรคของคุณทักษิณตลอด เพราะเห็นว่าชาวบ้านได้ประโยชน์" วัฒน์ แสดงความเห็น

          ทั้งนี้ อาจจะมีคนมองไปว่า กลุ่มเสื้อแดงคือพวกที่รับใช้นายเหนือหัว แต่ วัฒน์ ได้สวนกลับว่า นี่เป็นคำกล่าวหาพล่อย ๆ ตนยืนยันว่าตัวเองไม่มีเรื่องพวกนี้ ไม่จำเป็นต้องไปทำตัวประจบสอพลอใคร สามารถอยู่ได้อย่างเสรีชน เหมือนอย่างบทกวีของ "รวี โดมพระจันทร์" ที่ว่า "ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน หอกดาบกระบอกปืน ฤๅทนคลื่นกระแสเรา แผ่นดินมีหินชาติ ที่ดาดาษความโฉดเขลา ปลิ้นปล้อนตะลอนเอา ประโยชน์เข้าเฉพาะตน"

          วัฒน์ บอกอีกว่า ได้ฟังคำกลอนเรื่องการเมืองของพี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ทำให้ตนเองอยากคุยกับพี่เนาวรัตน์ ถ้าได้เจอกัน ตนก็จะยกมือไหว้ แต่ในทางความคิดความเห็น หากเปิดโอกาสให้เถียง ตนก็จะเถียงแน่ แต่ถ้าไม่ให้พูดก็ไม่พูด ขึ้นอยู่กับวาระ บางทีตนไปงาน มีคนมาห้ามไม่ให้พูดเรื่องการเมือง ตนก็รู้สึกเจ็บปวดที่ถูกห้ามไม่ให้พูดความจริง

          "ผมไม่ต้องการเป็นรัฐมนตรี แต่ผมต้องการเป็นนายวัฒน์ วรรลยางกูร ที่สามารถพูดความจริงได้อย่างเสรีชนเท่านั้นเอง ในประเทศนี้นะครับ" วัฒน์ กล่าวอย่างมีอารมณ์

มองการเมืองไทย ในสายตานักกวี ... วัฒน์ วรรลยางกูร

          แน่นอนว่า แต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งในวงการนักเขียนที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยบอกไว้ว่า ในวงการนักเขียนล้วนเป็นมิตรกันทั้งนั้น แต่เมื่อมีเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกเข้ามา กลับทำให้คนในวงการนักเขียนใช้ท่าทีของศัตรูต่อหมู่มวลมิตรนักเขียนของเราเสียมากกว่า...เกี่ยวกับเรื่องนี้ วัฒน์ ชี้แจงว่า ถ้าสำหรับตน จะไม่ได้ใช้ท่าทีของศัตรู แต่ตนจะแยกแยะว่าอะไรคือมิตร อะไรคือศัตรู 

          "สำหรับพี่เนาวรัตน์ถือว่าเป็นมิตร เป็นรุ่นพี่ในแวดวงนักเขียน เคยได้นั่งคุยกัน ผมไม่ได้เกลียดพี่เนาวรัตน์ ถ้าจะคุยกันเรื่องการเมืองก็คุยได้ แต่บางทีความคิดมันต่างกัน พี่ก็คือพี่ เรื่องการเมืองก็คือการเมือง อาจเป็นเพราะเราไม่มีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันโดยมีความคิดที่แตกต่าง ทำให้พอไม่ได้คุยกัน อาจมีลักษณะของการใส่ร้ายป้ายสีเข้ามาโดยไม่รู้ตัว พอเราฟังคนอื่นว่า ถ้าเราไม่มีสติ เราก็โกรธ พอเจอหน้ากันก็ชกกันได้ แต่ผมไม่ถึงขนาดนั้นนะ (หัวเราะ)..." นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ชี้แจง

          ทั้งนี้ วัฒน์ ยืนยันว่า ในวงการนักเขียน เขาสามารถคุยได้กับทุกคน แต่อย่ามาปิดปากว่า ถ้าคิดไม่เหมือนกันก็ห้ามพูด เรื่องนี้ตนรับไม่ได้ เพราะประชาชนมีสิทธิในการพูด การคิด การเขียน คิดต่างก็ขอคิด แม้วงการนักเขียนจะมองว่าตนเป็นหมาหัวเน่า ตนก็ไม่กลัว อย่างไรก็ตาม ในบทกวีของพี่เนาวรัตน์มีการใช้คำว่า "ซ้ายไร้เดียงสา" ต่อว่าคนที่คิดต่าง ตนมองว่า ตัวเองกำลังถูกพาดพิง แต่ก็เข้าใจว่า ในบทกวีไม่ได้หมายถึงตนคนเดียว จริง ๆ ก็ต้องมาคุยกันว่า ตนไร้เดียงสาตรงไหน อะไรคือไร้เดียงสา

          เห็นได้ชัดว่า วงการนักเขียนถือเป็นเครื่องสะท้อนความขัดแย้งของประเทศไทย ถ้าเช่นนั้น ประเทศของเราจะอยู่อย่างไรกันต่อไป... วัฒน์ วรรลยางกูร แสดงความเห็นว่า ก็ต้องอยู่อย่างนี้ต่อไป แต่อย่ามาไล่ว่า ถ้าคิดแบบนี้ ต้องไปอยู่ต่างประเทศสิ ถ้าใครเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 ให้ไปอยู่ประเทศอื่นแทนสิ แบบนี้มันไม่ได้ 

มองการเมืองไทย ในสายตานักกวี ... วัฒน์ วรรลยางกูร

          "คนที่คิดอย่างนี้มันมีหลายคน เป็นสิบ ๆ ล้านคน แล้วคุณจะไล่เขาไปอยู่ที่ไหน เลือกตั้งทีไรก็ชนะทุกที แล้วคุณจะอยู่กันอย่างไรโดยที่ไม่ต้องมาฆ่ากัน เรามีประวัติศาสตร์ที่เห็นอยู่แล้วว่ามันไม่ดี แล้วเราจะเป็นแบบนั้นทำไม" นักเขียนรางวัลศรีบูรพา แสดงความเห็น

          ในช่วงท้าย วัฒน์ ได้แนะนำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างผู้เจริญ คือ อยู่ร่วมกันได้แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง และมีกฎกติกา อย่างเลือกตั้งมาก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่มาต่อต้านกันเป็นขบวนแบบนี้ เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน 

          "ไม่ใช่ไปบอกว่า เสียงส่วนใหญ่มันเลว ถ้าเสียงส่วนใหญ่เป็นโจร มันก็ต้องพากันไปปล้น อันนั้นมันเป็นแค่ตรรกะ เป็นการโต้วาที แต่มันไม่ใช่ความเป็นจริง..." วัฒน์ สรุปทิ้งท้าย
 






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มองการเมืองไทย ในสายตานักกวี ... วัฒน์ วรรลยางกูร โพสต์เมื่อ 16 สิงหาคม 2555 เวลา 14:59:23 3,744 อ่าน
TOP
x close