กฎบัตรอาเซียน ข้อตกลงร่วมกันของประชาคมอาเซียน

กฎบัตรอาเซียน ... ข้อตกลงร่วมกันของประชาคมอาเซียน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  nfe.go.th

          ในปี พ.ศ. 2558 นี้ 10 ประเทศในอาเซียน อันประกอบด้วย บรูไน พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จะจับมือกันก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เพื่อร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่า ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นต้องอยู่ภายใต้กรอบข้อปฏิบัติที่สมาชิกเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งเรียกว่า "กฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" หรือ "กฎบัตรอาเซียน" นั่นเอง

          กฎบัตรอาเซียน มีความสำคัญอย่างไรในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรามารู้จัก "กฎบัตรอาเซียน" กันให้มากขึ้นดีกว่า


รู้จักกฎบัตรอาเซียน

          กฎบัตรอาเซียน  (ASEAN Charter) เปรียบได้กับ "ธรรมนูญของอาเซียน" ซึ่งเป็นร่างสนธิสัญญาที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทำร่วมกัน เพื่อเป็นการวางกรอบกฎหมาย แนวปฏิบัติ ขอบเขต ความรับผิดชอบต่าง ๆ รวมทั้งโครงสร้างองค์กรให้กับอาเซียน ให้เป็นไปภายใต้กฎหมายเดียวกัน ซึ่งสามารถปรับปรุง แก้ไข และสร้างกลไกใหม่ขึ้นมาได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

          ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันลงนามรับรองกฎบัตรอาเซียน เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของการก่อตั้งอาเซียน ก่อนจะร่วมทำสัตยาบันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2551 หลังจากมีสมาชิกครบ 10 ประเทศ ซึ่งทำให้กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2551 เป็นต้นมา

 
วัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน

          กฎบัตรอาเซียน กำหนดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558 ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้  ซึ่งกฎบัตรอาเซียนนี้มีผลทำให้องค์กรอาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล

 
โครงสร้างของกฎบัตรอาเซียน

          โครงสร้างของกฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วยบทบัญญัติ 13 หมวด 55 ข้อ ครอบคลุมในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย หลักการ สมาชิกภาพ โครงสร้างองค์กรของอาเซียน องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน เอกสิทธิ์ และความคุ้มกัน กระบวนการตัดสินใจ การระงับข้อพิพาท งบประมาณและการเงิน การบริหารจัดการ เอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของอาเซียน และความสัมพันธ์กับภายนอก โดยแต่ละหมวดประกอบด้วย

          หมวด 1 ความมุ่งประสงค์ และหลักการของอาเซียน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ และหลักการของอาเซียนในด้านต่าง ๆ ทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความมั่นคง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

          หมวด 2 สภาพบุคคลตามกฎหมาย และสภาพบุคคลตามกฎหมายของอาเซียน เป็นการระบุว่า อาเซียน คือองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล และได้รับสภาพบุคคลตามกฎหมายโดยกฎบัตรนี้

          หมวด 3 สมาชิกภาพ กล่าวถึง ประเทศใดบ้างที่เป็นสมาชิกอาเซียน แต่ละประเทศมีสิทธิและพันธกรณีอย่างไรบ้าง รวมทั้งระบุถึงกฎเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ ซึ่งต้องเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับโดยฉันทามติในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

          หมวด 4 องค์กร กล่าวถึงโครงสร้างองค์กร และหน้าที่ของคณะกรรมการการทำงานต่าง ๆ ประกอบด้วย ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งให้จัดประชุมปีละสองครั้ง โดยให้รัฐสมาชิกที่เป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงคณะทำงานต่าง ๆ ประกอบด้วย คณะมนตรีประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียน องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน เลขาธิการและสำนักเลขาธิการอาเซียน องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน มูลนิธิอาเซียน

          หมวด 5 องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน ระบุว่าองคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียนระบุอยู่ในภาคผนวก 2

          หมวด 6 ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ กล่าวถึง เอกสิทธิ์ต่าง ๆ ของอาเซียนที่จะได้รับความคุ้นกันในดินแดนของรัฐสมาชิก รวมทั้งเรื่องเอกสิทธิ์ทางการทูตของอาเซียน เลขาธิการอาเซียน พนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ข้อบังคับ

          หมวด 7 การตัดสินใจ กล่าวถึงเกณฑ์การตัดสินที่อยู่บนหลักการปรึกษาหารือ และฉันทามติ รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น หากมีเรื่องละเมิดกฎบัตรร้ายแรง หรือไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน เพื่อตัดสินใจ

          หมวด 8 การระงับข้อพิพาท กล่าวถึงวิธีระงับข้อพิพาท ซึ่งระบุว่า รัฐสมาชิกต้องพยายามระงับข้อพิพาทอย่างสันติให้ทันท่วงที ผ่านการสนทนา ปรึกษาหารือ หรือเจรจา รวมทั้งอาจใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม และการไกล่เกลี่ย ก็ได้ ซึ่งอาจมีการจัดตั้งกลไกเพื่อระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น แต่หากมีข้อพิพาทที่ระงับไม่ได้ ก็ให้เสนอข้อพิพาทดังกล่าวไปให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นผู้ตัดสินในช่องทางสุดท้าย

          หมวด 9 งบประมาณและการเงิน ระบุถึงการจัดทำงบประมาณของสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบภายในและภายนอก โดยงบประมาณจะมาจากรัฐสมาชิกอาเซียนจ่ายค่าบำรุงประจำปี

          หมวด 10 การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน กล่าวถึงวาระของประธานอาเซียน ซึ่งจะหมุนเวียนตำแหน่งกันทุกปี ตามลำดับตัวอักษรชื่อภาษาอังกฤษของประเทศ พร้อมกับระบุบทบาทของประธานอาเซียน ที่จะเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นทั้งในและนอกอาเซียน รวมทั้งระบุถึงพิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูต

นอกจากนี้ ในหมวด 10 ยังระบุให้ ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน

          หมวด 11 อัตลักษณ์และสัญลักษณ์ กำหนดให้มีคำขวัญของอาเซียนว่า "One Vision, One Identity, One Community" หรือ "วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว" พร้อมกับกำหนดลักษณะของธงอาเซียน ดวงตราอาเซียน เพลงประจำอาเซียน และให้วันที่ 8 สิงหาคม เป็นวันอาเซียน

          หมวด 12 ความสัมพันธ์ภายนอก กล่าวถึงแนวทางและขั้นตอนการเจรจาของอาเซียนกับคู่เจรจา เพื่อดำเนินความสัมพันธ์กับภายนอกองค์กร โดยต้องยึดมั่นตามหลักเกณฑ์ที่กฎบัตรกำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดบทบาทของผู้ประสานงานกับคู่เจรจา พร้อมกับระบุความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศสถาบันอื่นด้วย

          หมวด 13 บทบัญญัติทั่วไป และบทบัญญัติสุดท้าย กล่าวถึงการลงนาม การใช้สัตยาบัน การเก็บรักษา การมีผลบังคับใช้ การแก้ไข อำนาจหน้าที่ การทบทวน การตีความบัตร ความต่อเนื่องทางกฎหมาย ต้นฉบับ การจดทะเบียนกฎบัตรอาเซียน สินทรัพย์ของอาเซียน


นอกจากบทบัญญัติทั้ง 13 หมวดแล้ว ยังมีอีก 4 ภาคผนวก คือ

          ภาคผนวก 1 กล่าวถึงองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา

          ภาคผนวก 2 กล่าวถึงองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน คือ รัฐสภา องค์กรภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม

          ภาคผนวก 3 อธิบายรายละเอียดธงอาเซียน

          ภาคผนวก 4 อธิบายรายละเอียดดวงตราอาเซียน

 
สาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียน

          จากโครงสร้างบทบัญญัติ 13 หมวดข้างต้น หากนำมาสรุปสาระสำคัญเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดขึ้น ว่า กฎบัตรอาเซียนมีวัตถุประสงค์ และสาระสำคัญอย่างไรบ้าง ก็จะสรุปได้ดังนี้

- ด้านเศรษฐกิจ 

          มีสาระสำคัญ คือ เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสถียรภาพ มั่งคั่ง และมีความสามารถในการแข่งขันสูง มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่มีการเคลื่อนย้ายเสรีของสินค้า การบริการ การลงทุน และแรงงาน การเคลื่อนย้ายทุนเสรียิ่งขึ้น

- ด้านการเมืองความมั่นคง

          เน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม ตอบสนองต่อสิ่งท้าทายความมั่นคง เช่น การก่อการร้าย ธำรงรักษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และไม่มีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทุกชนิด

- ด้านความมั่นคงของมนุษย์

          เพื่อบรรเทาความยากจน และลดช่องว่างการพัฒนาภายในอาเซียน โดยผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความร่วมมือ พร้อมกับส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน

- ด้านสังคม 

          มุ่งส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างสังคมที่ปลอดภัยมั่นคงจากยาเสพติด เพิ่มพูนความกินดีอยู่ดีของประชาชนอาเซียน ผ่านโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม
      
- ด้านวัฒนธรรม

          ส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน โดยเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกของภูมิภาค รวมทั้งร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
     
- ด้านสิ่งแวดล้อม

          สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คุ้มครองสภาพแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

         
หลักการของกฎบัตรอาเซียน

         กฎบัตรอาเซียนได้กำหนดให้การบังคับใช้อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ คือ การไม่แทรกแซงกิจการภายใน ระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี และเน้นย้ำให้มีการรวมศูนย์ความสัมพันธ์กับภายนอก จึงทำให้กฎบัตรนี้เป็นเสาหลักของการสร้างประชาคมอาเซียน และตอกย้ำถึงข้อผูกมัดทางกฎหมายของข้อตกลงอาเซียนต่าง ๆ

กฎบัตรอาเซียน ... ข้อตกลงร่วมกันของประชาคมอาเซียน

ประเทศไทยกับกฎบัตรอาเซียน

          ประเทศไทยมีบทบาทนำในการจัดทำกฎบัตรอาเซียน โดยได้ผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอาเซียนระหว่างการยกร่าง จนปรากฏอยู่ในกฎบัตรอาเซียน เช่น

          1. การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียน

          2. การให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนติดตามและรายงานการปฏิบัติตามความตกลงของรัฐสมาชิก

          3. การจัดตั้งกลไกสำหรับการระงับข้อพิพาทต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิก

          4.การระบุให้ผู้นำเป็นผู้ตัดสินว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อรัฐผู้ละเมิดพันธกรณีตามกฎบัตรอย่างร้ายแรง

          5. การเปิดช่องให้ใช้วิธีการอื่นในการตัดสินใจหากไม่มีฉันทามติ

          6. การให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การปรึกษาหารือระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบผลประโยชน์ร่วม ซึ่งทำให้มีการตีความหลักการห้ามแทรกแซงกิจการภายในที่อาเซียนยึดมั่นอยู่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

          7.การเพิ่มบทบาทของประธานอาเซียน เพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

          8.การเปิดช่องทางให้อาเซียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้น

          9. การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน ปีละ 2 ครั้ง จัดตั้งคณะมนตรี

          เพื่อประสานความร่วมมือในแต่ละเสาหลัก และการมีคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการประชุมของอาเซียน

 
ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากกฎบัตรอาเซียน

          ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนหลายประการ ได้แก่

          1. ผลประโยชน์จากความร่วมมือต่าง ๆ ของอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนจะช่วยสร้างหลักประกันว่าประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว หรือมิฉะนั้นก็จะมีกลไก เพื่อทำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามความตกลง

           2.ความสามารถรับมือกับภัยคุกคามระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาโลกร้อนหรือปัญหายาเสพติด เนื่องจากกฎบัตรจะเสริมสร้างกลไกต่าง ๆ เพื่อให้ไทยและอาเซียนแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันการณ์มากยิ่งขึ้น

          3.กฎบัตรอาเซียนจะช่วยส่งเสริมค่านิยมของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทย เช่น การไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา การยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ธรรมาภิบาลหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

         4.อำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนในเวทีโลก   เนื่องจากกฎบัตรอาเซียนจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและกติกาให้แก่อาเซียน และให้ประเทศไทยสามารถโน้มน้าวให้ประเทศนอกภูมิภาคช่วยแก้ไขปัญหาระดับโลกที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนอาเซียน รวมทั้งประชาชนไทยได้อย่างมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

          จากข้อมูลทั้งหมด ก็คงพอเข้าใจแล้วว่า "กฎบัตรอาเซียน" หากสรุปเป็นภาษาง่าย ๆ ก็คือ กฎหมาย ข้อกำหนด แนวทางปฏิบัติที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้อง และตกลงจะปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในด้านต่าง ๆ ในหมู่สมาชิกชาติอาเซียน ดังเช่นคำขวัญของอาเซียน ที่ว่า "One Vision, One Identity, One Community" นั่นเอง




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กระทรวงการต่างประเทศ , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , thai-aec.com  , กรมประชาสัมพันธ์




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กฎบัตรอาเซียน ข้อตกลงร่วมกันของประชาคมอาเซียน โพสต์เมื่อ 27 สิงหาคม 2555 เวลา 14:38:30 146,072 อ่าน
TOP
x close