เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กองทัพเรือ
เมื่อเอ่ยถึงกองทัพเรือไทย ต้องนึกถึงพระนาม พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่เรียกขานพระองค์ในหมู่ทหารเรือว่า "เสด็จเตี่ย" หรือ "องค์บิดาของทหารเรือไทย" เนื่องด้วยทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือไทยให้แข็งแรงและมีประสิทธิภาพจนมาถึงทุกวันนี้ ติดตามพระประวัติของท่านได้ในบทความนี้ครับ
พระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423
ด้านการศึกษา
ในปี พ.ศ. 2436 เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
จากนั้นใน พ.ศ. 2439 ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ต่อจากนั้นได้ทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ 6 ปีเศษ
ด้านการทหารเรือ
ในปี พ.ศ. 2443 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับสู่ประเทศไทย ได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท (ปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี) ทรงปรับปรุงกิจการทหารเรือ เริ่มจากทรงแก้ไขระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ และทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญกิจการทหารเรือไทย โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง กองทัพเรือจึงยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น "วันกองทัพเรือ"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระองค์ออกจากราชการอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ระหว่างนั้นจึงมีโอกาสได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากตำราไทย ทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และรับรักษาโรคให้ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า จึงได้สมญาว่า "หมอพร"
อีก 6 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2460 ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง เจ้ากรมจเรทหารเรือและดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารเรือ ในปี พ.ศ. 2461 ตามลำดับ ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีพระบรมราชโองการให้กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม
จากนั้นในปี พ.ศ. 2466 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ แต่ไม่นานจากนั้นได้กราบบังคมลาออกจากราชการ เพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ที่จังหวัดชุมพร เพราะมีสุขภาพไม่สมบูรณ์และประชวรจากโรคภายใน เนื่องจากทรงถูกฝนทำให้ประชวรเป็นพระโรคหวัดใหญ่ ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 สิริพระชนมายุได้ 43 พรรษา
ด้วยพระเกียรติคุณและพระวิริยอุตสาหะที่พระองค์ทรงสร้างคุณประโยชน์มากมายไว้กับกองทัพเรือและประเทศชาติ กองทัพเรือไทยจึงถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น "วันอาภากร"
ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ทั้งกองทัพเรือ หน่วยงานราชการ และปวงชนที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้จัดสร้างศาลและอนุเสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งสิ้น 217 แห่งทั่วประเทศไทย เช่น โรงพยาบาลชุมพร โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โรงเรียนเตรียมทหาร ด้านถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 เป็นต้น
ทั้งนี้ ศาลกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่มีผู้นิยมไปสักการะแห่งหนึ่ง คือศาลที่ตั้งอยู่บนยอดเขาปู่เจ้า ปากอ่าวสัตหีบ ด้านเหนือในเขตฐานทัพเรือสัตหีบ เพราะมีประภาคารซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์อันสวยงาม
นอกจากสถานที่สักการะ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์ หน่วยงานราชการรวมถึงวัดต่าง ๆ ได้จัดสร้างวัตถุมงคลทั้งพระรูปจำลองและเหรียญ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขึ้นมาหลายรุ่น รุ่นที่เป็นที่นิยมรุ่นหนึ่งคือ เหรียญกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ร.ศ. 129 หลวงปู่สุข วัดมะขามเฒ่า
คาถาบูชากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ชุมพรจุตติ อิทธิกรณัง สุโข นะโมพุทธายะ
นะมะพะทะ จะพะกะสะ มะอะอุ
หรือ
ชุมพรจุตติ อิทธิกรณัง สุโขนะโมพุทธายะ
ทะอะระหัง ทะ จะพะ กะสะ มะอะอุ พุทธะสัมมิ
ธัมมะสังมิ สังฆะสังมิ
ขอบคุณข้อมูลจาก