x close

เผยโฉม 7 ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกที่สุด คาดอาจพบโลกใบที่ 2 ปีนี้





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก nasa

            ในห้วงจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลจนไม่อาจหาที่สิ้นสุดได้นี้ ประกอบไปด้วยดวงดาวนับล้าน ๆ ดวงลอยคว้างอยู่เต็มท้องฟ้าไปหมด และถึงแม้ว่าดาวแต่ละดวงจะอยู่ไกลโลกมาก จนมองเห็นเพียงจุดเล็ก ๆ ระยิบระยับ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นดวงดาวเหล่านั้นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ได้ค้นพบดวงดาวอีกหลายดวงที่อยู่ทั้งในและนอกระบบสุริยะ และนำมาซึ่งการศึกษาดวงดาวนอกระบบสุริยะที่มีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุด แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ด้วยเทคโนโลยีที่ยังไม่ละเอียดและมีประสิทธิภาพพอ ทำให้นักดาราศาสตร์ไม่อาจสรุปได้ว่าดาวเคราะห์คล้ายโลกนั้น จะสามารถเป็นโลกใบที่ 2 หรือฝาแฝดของโลกได้หรือไม่

            แต่ล่าสุด เห็นทีว่าการค้นหาโลกใบที่ 2 จะง่ายขึ้นอีกหน่อยแล้ว เมื่ออเบล เมนเดซ นักดาราศาสตร์จากห้องปฏิบัติการวิจัยดาวเคราะห์ที่เอื้อชีวิต ในมหาวิทยาลัยเปอร์โตริโก สหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ในการสังเกตดาวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถูกนำมาใช้กับกล้องโทรทรรศน์ของนาซา และกล้องโทรทรรศน์ที่หอสังเกตการณ์ในประเทศชิลี ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้นักดาราศาสตร์มองเห็นดาวดวงได้ชัดเจนมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ นักดาราศาสตร์จะสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของดาวเคราะห์คล้ายโลกที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้ได้อย่างละเอียดขึ้น และคาดว่า ภายในปี 2013 นักดาราศาสตร์จะค้นพบโลกใบที่ 2 หรือฝาแฝดของโลกได้
           
           ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ได้พยายามค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และได้ค้นพบดาวเคราะห์กว่า 800 ดวง ที่โคจรอยู่ในระบบดาวฤกษ์ของมันเอง แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น นักดาราศาสตร์กลับพบว่า มีดาวเคราะห์เพียงไม่กี่ดวงเท่านั้นที่โคจรห่างดาวฤกษ์ของมันในระยะห่างที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ซึ่งทำให้อุณหภูมิของดาวไม่ร้อนไม่เย็นเกินไป หรือที่เรียกระยะห่างดังกล่าวว่า "เขตเอื้อต่อการมีชีวิต" นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบเบื้องต้นว่า ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล โลกไม่ใช่ดาวดวงเดียวที่มีหน้าตาและสภาพแวดล้อมอย่างที่เราเห็น แต่ก็ยังมีดวงดาวอีกหลายดวงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโลกเช่นกัน วันนี้ กระปุกดอทคอมก็เลยขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 7 ดวง ที่นักดาราศาสตร์จัดให้อยู่ในหมู่ของดาวเคราะห์ที่คล้ายกับโลกมากที่สุดมาฝากกัน ซึ่งก็ไม่แน่ว่า หนึ่งในนี้แหละอาจจะเป็นดาวที่ได้รับการยืนยันภายในปีนี้ว่าเป็นฝาแฝดของโลก เอ้า ว่าแล้วก็ไปชมกันดูว่า แต่ละดวงมีสภาพดาวเป็นอย่างไร และมีดาวดวงไหนที่สิ่งมีชีวิตพอจะอาศัยอยู่ได้บ้าง





Kepler-22b

            1. Kepler-22b เป็นดาวเคราะห์ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากกลุ่มนักดาราศาสตร์ และกล่าวได้ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโลกใบที่ 2 มากที่สุดในตอนนีี้ ดาวเคราะห์ดวงนี้มีสีฟ้าคล้ายโลกและปกคลุมด้วยก้อนเมฆ อยู่ห่างจากโลกไปไกลถึง 600 ปีแสง โคจรรอบดาวฤกษ์ที่เย็นกว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเราอยู่หน่อย โดยใช้เวลา 290 วันในการโคจรรอบดาวฤกษ์ (เร็วกว่าโลกเพียง 75 วัน) มีอุณหภูมิพื้นผิวอยู่ที่ราว ๆ 22 องศาเซลเซียส ซึ่งสบายมากสำหรับสิ่งมีชีวิตบนโลก



Gliese 370b

            2. Gliese 370b หรือ HD 85512 b มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว ๆ 3.6 เท่า อยู่ไกลจากโลกไป 36 ปีแสง โคจรรอบดาวฤกษ์ชื่อว่า HD 85512 ใช้เวลา 54 วันในการหมุนรอบตัวเอง มีเมฆปกคลุมและมีบรรยากาศคล้ายกับโลกของเรามาก ส่วนอุณหภูมิพื้นผิวของดาวดวงนี้อยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส หรือก็พอ ๆ กับอากาศทางตอนใต้ของฝรั่งเศสนี่เอง



Gliese 581g

            3. Gliese 581g อยู่ห่างจากโลกประมาณ 20 ปีแสง โคจรรอบดาว Gliese 581 ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ของมันในระยะที่พอดิบพอดี อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศอยู่ระหว่าง -31 ถึง -12 องศาเซลเซียส และด้วยความที่มันหมุนรอบตัวเองช้ามาก ทำให้พื้นผิวมันมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน คือประมาณ 70 องศาเซลเซียสสำหรับด้านที่หันเข้าหาดาวฤกษ์ และประมาณ -4 องศาเซลเซียสสำหรับด้านที่หันออกจากดาวฤกษ์ ซึ่งถือว่าเป็นอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับอุณหภูมิบนโลกมากที่สุด และสิ่งมีชีวิตอาจอยู่ได้



Gliese 581d

            4. Gliese 581d อยู่ห่างจากโลกไปราว 20 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 3 เท่า และมีมวลมากกว่าประมาณ 6 เท่า โคจรรอบดาว Gliese 581 เช่นเดียวกันกับ Gliese 581g แต่ถึงจะมีวี่แววว่าสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้อย่างไร สิ่งมีชีวิตจากดาวโลกอาจอาศัยอยู่ไม่ได้ เนื่องจากมีอุณหภูมิที่ต่ำ เย็นยะเยือกเกินไป แถมยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศปริมาณมาก ไม่สามารถหายใจได้ด้วย



Gliese 667Cc

            5. Gliese 667Cc เป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 4-5 เท่า อยู่ห่างจากโลกไปไกลกว่า 22.1 ล้านปีแสง โคจรรอบดาวฤกษ์ Gliese 667C ในระยะที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ซึ่งนั่นทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในเขตเอื้อต่อการมีชีวิต และน้ำสามารถดำรงอยู่ในสภาวะของเหลว แต่พื้นผิวดาวจะร้อนกว่าโลก และมีแรงดึงดูดมากกว่าโลก 2 เท่า ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากมนุษย์ไปอยู่บนดาว ก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเลยทีเดียว



Gliese 163c

            6. Gliese 163c มีขนาดใหญ่กว่าโลกอย่างน้อย 7 เท่า อยู่ห่างออกไปราว 49 ปีแสง โคจรรอบดาว Gliese 163 ซึ่งเป็นดาวแคระแดง (ดาวฤกษ์ขนาดเล็ก) ดวงหนึ่ง โดยใช้เวลาโคจรเพียงแค่ 26 วันเท่านั้น และด้วยความที่มันค่อนข้างจะอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ ทำให้มันได้รับแสงแดดจากดาวฤกษ์มากกว่าที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวดาวจะอยู่ที่ประมาณ 60 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจร้อนเกินไปสำหรับมนุษย์ แต่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอาจอยู่ได้



HD 40307g

            7. HD 40307g อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 42 ปีแสง ใหญ่กว่าโลกประมาณ 7 เท่า โคจรห่างจากดาวฤกษ์ของมันในระยะที่พอดิบพอดี ทำให้พื้นผิวดาวไม่เย็นและไม่ร้อนเกินไป ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ของมัน 198 วัน ซึ่งเท่ากับว่า 1 ปีบนดาวเท่ากับ 198 วันเท่านั้น นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวเคราะห์ HD 40307g ยังหมุนรอบตัวเองเช่นเดียวกับโลกด้วย ซึ่งนั่นทำให้บนดาวเคราะห์ดวงนี้มีทั้งกลางวันกลางคืนเหมือนกับโลกนั่นเอง


            อย่างไรก็ดี แม้ว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดนี้ จะถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์ที่มีสภาพคล้ายโลกมากที่สุดในตอนนี้ แต่ก็ไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่า ลักษณะบนพื้นผิวดาวนั้นเป็นอย่างไรแน่ และจะเป็นโลกดวงที่สองได้หรือไม่ เพราะข้อมูลเกี่ยวกับดาวทั้งหมดล้วนเป็นข้อมูลที่นักดาราศาสตร์ศึกษาได้เพียงผิวเผินเท่านั้น เนื่องจากดาวเคราะห์เหล่านี้อยู่ไกลจากโลกมาก แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ก็นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะอย่างน้อย ก็ทำให้เราได้เห็นว่า ดาวเคราะห์ลักษณะอย่างโลก ไม่ได้มีดวงเดียว เราไม่ได้โดดเดี่ยวในจักรวาลเสียหน่อย




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยโฉม 7 ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกที่สุด คาดอาจพบโลกใบที่ 2 ปีนี้ โพสต์เมื่อ 28 ธันวาคม 2555 เวลา 17:02:50 58,036 อ่าน
TOP