x close

รู้หรือไม่?...พริกไม่ได้ถือกำเนิดในประเทศไทย




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

             อาหารในประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้อาหารไทยเป็นเอกลักษณ์ก็คือ ความเผ็ด โดยคนไทยกินเผ็ดมาเป็นเวลานานแล้ว และจุดนี้เองที่ทำให้ใคร ๆ ต่างก็คิดว่า พริกถือกำเนิดขึ้นในไทย ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ทีเดียว ถ้างั้นพริกกำเนิดขึ้นที่ไหน วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาชี้แจงแถลงไขให้เพื่อน ๆ ได้ทราบกันจ้า

            พริกถือเป็นเครื่องเทศที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก โดยถิ่นกำเนิดของพริกนั้นอยู่ในทวีปอเมริกากลางและใต้ และจากที่นั่นนักผจญภัยก็ได้นำพริกมาปลูกเผยแพร่ในยุโรปแล้วจากยุโรปพริกก็ถูกนำไปปลูกกันแพร่หลายทั่วโลก

           โดยหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ชาวอินเดียนในเม็กซิโกรู้จักบริโภคพริกเป็นอาหารมานานร่วม 9,000 ปีแล้ว เพราะอุจจาระที่เป็นก้อนแข็งที่พบที่เมืองฮัวกา ปริเอต้า (Huaca Prieta) มีซากเมล็ดพริกที่มีอายุประมาณ 9,000 ปี อีกทั้งการศึกษาวิถีชีวิตของชนเผ่าโอล์เมค (Olmec), โทลเทค (Toltec) และแอซเทค (Aztec) ต่างก็แสดงให้รู้ว่า ชนเผ่าเหล่านี้รู้จักปลูกและบริโภคพริกเช่นกัน นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์ยังได้ขุดพบซากของต้นพริกที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ในเทวสถานของเปรูด้วย หรือแม้แต่ลายปักเสื้อผ้าของคนอินเดียนที่อาศัยอยู่ในเปรู เมื่อ 1,900 ปีก่อน ก็มีลวดลายปักเป็นต้นพริก



           ต่อมานักประวัติศาสตร์ชื่อ ปีเตอร์ มาร์ไทร์ ได้รายงานว่า พริกแดงที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นำมาจากอเมริกามีรสเผ็ด และแพทย์ที่ติดตามโคลัมบัสไปอเมริกาเป็นครั้งที่สองก็ได้กล่าวถึงชาวอินเดียนว่า นิยมปรุงอาหารด้วยพริก และเมื่อกองทัพสเปนบุกอาณาจักรแอซเทค นายพลกอร์เตซ ได้เขียนจดหมายเล่าว่า กษัตริย์แอซเทคทรงโปรดเสวยพระสุคนธรสที่มีพริกปน
     
          ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของพริกคือ มีรสเผ็ดนี้เองที่ทำให้ชาวอินเดียนนิยมใช้พริกทรมานเชลยหรือศัตรู เช่น เผาพริกปริมาณมากให้ควันพริกขับไล่ทหารสเปน ส่วนชาวมายาก็มีประเพณีว่า ผู้หญิงมายาคนใดเวลาถูกจับได้ว่าแอบดูผู้ชาย จะถูกพริกขยี้ที่ตา และบิดามารดาของผู้หญิงมายาคนใด ถ้ารู้ว่าบุตรสาวของตนเสียพรหมจรรย์อย่างผิดประเพณี บริเวณของลับของเธอจะถูกละเลงด้วยพริก สำหรับชาวอินเดียนเผ่าคาริบในแอนทิลลิสนั้น ก็นิยมใช้พริกทาบาดแผลของเด็กผู้ชายเพื่อฝึกให้อดทน และเวลาจับเชลยได้ ชาวอินเดียนเผ่านี้ก็จะใช้ไฟจี้ตามตัวจนเป็นแผลพุพองแล้วเอาพริกทา และเมื่อเชลยเสียชีวิตลงเนื้อของเชลยก็จะถูกแล่เอาไปปรุงด้วยพริกเป็นอาหาร เป็นต้น
     
          นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์ชื่อ ฟรานซิสโก เออร์นันเดซ ซึ่งเป็นแพทย์ในกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน และได้เคยถูกส่งตัวไปศึกษาธรรมชาติของพืชและสัตว์ในดินแดนใหม่ (อเมริกา) ก็ได้รายงานกลับมาว่า ชาวอินเดียนนิยมปลูกพริกมาก ส่วน พี. เบอร์นาบี โคโบ ผู้ใช้เวลาสำรวจอเมริกานาน 50 ปี ในศตวรรษที่ 20-21 ก็ได้รายงานทำนองเดียวกันว่า ชาวอินเดียนในเม็กซิโกนิยมปลูกพริก โดยได้เขียนลงในหนังสือ Historia ว่า ชาวอินเดียนถือว่าพริกเป็นพืชที่สำคัญรองจากข้าวโพด เพราะชอบบริโภคพริกสด และใช้พริกในพิธีสักการบูชาเทพเจ้าทุกงาน แต่เมื่อถึงเทศกาลอดอาหาร คนอินเดียนเหล่านี้จะไม่บริโภคอาหารที่มีพริกปนเลย โคโบ ยังกล่าวเสริมด้วยว่า ไม่เพียงแต่ผลพริกเท่านั้นที่เป็นอาหาร แม้แต่ใบพริกก็ยังสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ด้วย

          ขณะที่ การ์ซิลาโซ เด ลา เวกา ผู้เป็นบุตรของขุนนางสเปนนั้น ก็ได้เล่าว่า ชาวอินคาถือว่าพริกเป็นผลไม้ที่มีคุณค่ามาก เพราะอาหารอินคาจะมีพริกปนไม่มากก็น้อย นอกจากนี้หมอชาวบ้านของชนเผ่านี้ก็มีความรู้อีกว่า ใครก็ตามที่บริโภคพริกในปริมาณที่พอดี ระบบขับถ่ายของคนคนนั้นจะทำงานปกติ แต่ถ้าบริโภคมากเกินไป กระเพาะจะเป็นอันตราย โดย อเล็กซานเดอร์ วอน ฮันโบลด์ นักปราชญ์ชาวเยอรมันก็เป็นบุคคลอีกท่านหนึ่งที่ได้เดินทางไปสำรวจทวีปอเมริกาเป็นเวลานานหลายปี ได้เปรียบเทียบความสำคัญของพริกว่าคนยุโรปถือว่า เกลือมีความสำคัญต่อชีวิตเพียงใด คนอินเดียนก็ถือว่าพริกมีความสำคัญต่อเขาเพียงนั้น
     

         สำหรับประวัติการเดินทางของพริกจากทวีปอเมริกาสู่โลกภายนอก อัลวาเรซ ชานกา ชาวสเปนเป็นบุคคลแรกที่นำพริกสู่ประเทศตน ในปี ค.ศ. 1493 (พ.ศ. 2036) และคนสเปนเรียกพริกว่า Chili ซึ่งเป็นคำที่แปลงมาจากคำ Chile อันเป็นชื่อของประเทศที่ให้กำเนิดพริกในอเมริกาใต้ และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1555 (พ.ศ. 2098) บรรดาประเทศต่าง ๆ ในยุโรปกลางก็เริ่มรู้จักปลูกพริกกันแล้ว จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1757 (พ.ศ. 2300) พ่อค้าชาวโปรตุเกสได้นำพริกจากยุโรปไปปลูกในอินเดียและเอเชียอาคเนย์


          ทั้งนี้ สำหรับชนิดของพริกในประเทศไทยนั้นมักนิยมปลูกพริกอยู่ 2 ชนิดซึ่งได้แก่

            1. พริกหวาน พริกหยวก พริกชี้ฟ้า (ในกลุ่ม C. annuum)

            2. พริกเผ็ดได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูใหญ่ (ในกลุ่ม C. furtescens)




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
blog.eduzones.com






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้หรือไม่?...พริกไม่ได้ถือกำเนิดในประเทศไทย โพสต์เมื่อ 14 มกราคม 2556 เวลา 16:45:36 25,134 อ่าน
TOP