x close

ดอกชมจันทร์ ไม้ประดับกินได้ มากคุณค่าทางโภชนาการ



 
ดอกชมจันทร์ ไม้ประดับกินได้ มากคุณค่าทางโภชนาการ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          ทำความรู้จักกับ ดอกชมจันทร์ หรือชื่ออื่น ๆ เช่น ดอกพระจันทร์ ดอกบานดึก ขั้นตอนการปลูกต้นชมจันทร์ พร้อมประโยชน์ของดอกชมจันทร์ที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย รวมถึงเมนูอร่อยจากดอกชมจันทร์ ที่คุณห้ามพลาด

          ใครที่ชื่นชอบอาหารเพื่อสุขภาพ และกำลังสนใจใน ดอกชมจันทร์ ไม้ประดับสวยงาม ที่สามารถนำมารับประทานได้ แต่ยังไม่รู้จักหน้าตาของดอกชมจันทร์ รวมทั้งไม่ทราบว่า สรรพคุณดอกชมจันทร์เป็นอย่างไร เราได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้รับทราบกันแล้วจ้า...

          สำหรับที่มาของชื่อ ดอกชมจันทร์ ดอกพระจันทร์ หรือดอกบานดึก คาดว่า เรียกตามช่วงเวลาการบานของดอก ที่จะบานในช่วงกลางคืนตั้งแต่ประมาณ 19.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้ เว็บไซต์ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับดอกชมจันทร์ไว้ดังนี้

            ชื่อ : บานดึก

            ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea alba   Linn.  Share

            ชื่อวงศ์ : CONVOLVULACEAE

            ชื่อเรียกอื่น : ดอกพระจันทร์, ดอกชมจันทร์ และแสงนวลจันทร์

            ลักษณะ : ไม้เถา ไม่มีขน ลำต้นมียางใส ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 5-13 เซนติเมตร ยาว 8-17 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าลึก ก้านใบเรียว ยาว 5-18 เซนติเมตร ดอกสีขาว กลิ่นหอม บานตอนเช้าและพลบค่ำ ออกตามง่ามใบเป็นดอกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อ 2-5 ดอก เมื่อบานเต็มที่ กว้าง 10-13 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 1-20 เซนติเมตร

ดอกชมจันทร์ ไม้ประดับกินได้ มากคุณค่าทางโภชนาการ

            สำหรับกลีบรองดอก มี 5 กลีบ กลีบดอกส่วนโคนเป็นหลอดแคบเรียวยาว ส่วนบนบานกว้าง เป็นกลีบแผ่ติดกัน 5 กลีบ เกสรผู้ 5 อัน เกสรเมียยื่นโผล่พ้นดอกเล็กน้อย ผลรูปไข่ปลายแหลมยาว ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร กลีบรองดอกติดอยู่ที่ฐาน เมล็ดมี 4 เมล็ด

            การกระจายพันธุ์ : พบขึ้นตามชายห้วยหรือในป่าดิบที่ชุ่มชื้น ที่ความสูงใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึง 700 เมตร

          นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้นนี้ ยังพบว่า ดอกชมจันทร์ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ สามารถพบได้ทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อนของอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย และในกลุ่มประเทศเขตร้อนของทวีปเอเชีย พืชในสกุลนี้มีประมาณ 650 ชนิด ซึ่งมีมากที่สุดในวงศ์ หลายชนิดเป็นไม้ประดับที่รู้จักกันดี คือ มอร์นิ่งกลอรี่ หรือผักบุ้งฝรั่ง และบางชนิดสามารถรับประทานได้ ที่รู้จักกันดี เช่น ผักบุ้ง และมันเทศ และบางชนิดยังใช้เป็นยาสมุนไพรด้วย

วิธีการขยายพันธุ์

          ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด อาจปลูกโดยการหยอดเมล็ดลงแปลงโดยตรง หรือเพาะเมล็ดเป็นต้นกล้า ก่อนเพาะเมล็ดมาแช่น้ำนาน 12 ชั่วโมง เพื่อให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัว จะทำให้งอกได้เร็วงอกได้เร็วขึ้น โดยใช้เวลานานประมาณ 7-14 วัน เมื่อต้นกล้าอายุ 30 วันสามารถปลูกลงแปลงได้ นอกจากการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดแล้ว ยังสามารถขยายพันธุ์โดยการปักชำส่วนของลำต้นได้เช่นกัน

วิธีการปลูก

          ต้นชมจันทร์สามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิดที่มีความร่วนซุย พื้นที่ต้องระบายได้ดี เจริญเติบโตได้ในสภาพกลางแจ้งที่มีแสงแดด แปลงปลูกอาจยกแปลงผักทั่วไปเพื่อป้องกันน้ำขัง ส่วนวิธีปลูกมีดังนี้

          1. ขุดหลุมปลูกลึก 15-20 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 200-500 กรัม/หลุม

          2. นำต้นกล้าลงปลูก ระหว่างต้น 40-50 เซนติเมตร และระหว่างแถว 70-100 เซนติเมตร

          3. ในช่วง 1 เดือนแรกหลังปลูก ควรมีการให้น้ำวันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้าและตอนเย็น เมื่อต้นสามารถตั้งตัวได้แล้ว จึงให้น้ำวันละครั้ง

          4. เมื่อต้นดอกชมจันทร์เริ่มแตกยอด ควรมีการทำค้าง คล้ายกับค้างถั่วฝักยาว หรือทำเป็นซุ้ม โดยหลังปลูกประมาณ 2-3 เดือนก็จะเริ่มออกดอก

ดอกชมจันทร์ ไม้ประดับกินได้ มากคุณค่าทางโภชนาการ

ประโยชน์ดอกชมจันทร์

          ต้นชมจันทร์มีดอกสีขาวสวยงาม บานในเวลาตอนกลางคืน และกลิ่นหอม ในต่างประเทศ เช่นยุโรปและสหรัฐอเมริกาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ แต่บางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีการนำดอกมารับประทานเป็นอาหาร โดยใช้ดอกตูมมาผัดกับน้ำมันหอย หรือลวกจิ้มกับน้ำพริก จากผลการวิเคราะห์พบสรรพคุณดอกชมจันทร์ ดังนี้

          1. ดอกชมจันทร์เป็นผักที่ไขมันต่ำและมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ เหมาะแก่ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

          2. ดอกชมจันทร์มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และยังประกอบด้วยวิตามินต่าง ๆ
ได้แก่ วิตามินบี เป็นต้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย

          3. ดอกชมจันทร์มีสรรพคุณแก้ร้อนใน บำรุงเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันโรคดีซ่าน ขับปัสสาวะ และบรรเทาริดสีดวงทวาร ขณะที่เกสรดอกชมจันทร์มีสรรพคุณช่วยบำรุงประสาท ช่วยให้ผ่อนคลายทำให้สดชื่น และมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับอ่อน ๆ จึงช่วยให้หลับสบาย

การบำรุงรักษา

          การบำรุงรักษาต้นชมจันทร์เมื่อผลผลิตเริ่มลดลง หรือสังเกตเห็นว่าต้นโทรม ผู้ปลูกจะต้องตัดแต่งให้แตกต้นใหม่ พร้อมกับใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอกบำรุง พร้อมให้น้ำเช้า-เย็น เพื่อให้ต้นแตกใบอ่อน จากนั้นประมาณ 2 เดือนจึงเริ่มเก็บผลผลิตได้อีกครั้ง กระทั่งต้นมีอายุ 2 ปี จึงเอาออกและปลูกใหม่อีกครั้ง

          นอกจากคุณค่าทางโภชนาการที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว เรายังสามารถนำดอกชมจันทร์ไปปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด เพราะเข้ากันดีกับทั้งเนื้อสัตว์และพืชผักอื่น ๆ เช่น

             นำดอกชมจันทร์มาต้มกับน้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลอ้อย แล้วดื่มในช่วงเช้าเพื่อช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น และบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร

             ต้มดอกชมจันทร์ 30 กรัม กับถั่วแดง 30 กรัม เติมน้ำผึ้งพอประมาณ ดื่มเพื่อขับปัสสาวะคลายร้อน และเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคต้อหินเรื้อรัง

             นึ่งหมูเนื้อแดงกับดอกชมจันทร์ รับประทานเพื่อเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอด

          สำหรับผู้ที่ต้องการนำดอกชมจันทร์ไปปรุงเป็นอาหารคาว ทั้งเมนูผัดแสนอร่อย และเมนูแกงส้มรสแซ่บ วันนี้เรามีเมนูดอกชมจันทร์จากรายการภัตตาคารบ้านทุ่งมามาฝากด้วยค่ะ ถ้าสนใจคลิกที่นี่เลย กระต่ายหมายจันทร์ เมนูดอกชมจันทร์ อร่อยหลากรส

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  
, ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดอกชมจันทร์ ไม้ประดับกินได้ มากคุณค่าทางโภชนาการ โพสต์เมื่อ 7 มิถุนายน 2556 เวลา 18:08:14 258,528 อ่าน
TOP